กังวลเศรษฐกิจฉุดหุ้นสหรัฐร่วง

กังวลเศรษฐกิจฉุดหุ้นสหรัฐร่วง

หุ้นสหรัฐ ปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน หลังนักลงทุนผิดหวังกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่กระตุ้นให้เกิดความกังวลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดตลาดวานนี้ (1 เม.ย.)ร่วงลง 77.94 จุด หรือ 0.44% มาอยู่ที่ 17,698.18 จุด

ขณะที่ดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ลดลง 8.20 จุด หรือ 0.40% มาอยู่ที่ 2,059.69 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 20.66 จุด ที่ 4,880.23 จุด

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐมียอดใช้จ่ายในด้านการก่อสร้างลดลง ขณะที่ภาคการผลิตท้องถิ่น ชะลอการเติบโตลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนมีนาคม

ทั้งในเดือนที่แล้ว ธุรกิจสหรัฐยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 189,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับแต่เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นมา ที่อัตราการจ้างงานใหม่รายเดือนเพิ่มขึ้นไม่ถึง 200,000 คน

ทางด้านตลาดหุ้นหลักๆ ของยุโรป ปรับสูงขึ้น จากการมองเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงเริ่มต้นไตรมาส 2 ของปีนี้ ด้วยข้อมูลการผลิตทั้งจากจีน และกลุ่มยูโรโซน ที่ออกมาในด้านบวก

ดัชนีเอฟทีเอสอี 100 ของอังกฤษ ปรับขึ้น 0.54% มาอยู่ที่ 6,809.5 จุด ส่วนดัชนีแด็กซ์30 ของเยอรมนี เพิ่มขึ้น 0.29% ที่ 12,001.38 จุด และดัชนีแค็ก40 ในฝรั่งเศส ไต่ระดับขึ้นมา 0.57% ปิดซื้อขายที่ 5,062.22 จุด

นักวิเคราะห์ชี้ว่า หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจ ที่สะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนกำลังเป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ช่วยขจัดความกังวลที่เกาะติดตลาดมาเป็นเวลานาน โดยข้อมูลชี้ว่า กิจกรรมการผลิตในกลุ่มประเทศยูโรโซนพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.2 จุด เมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมา

สหรัฐลดผลิต ดึงราคาน้ำมันพุ่ง
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น หลังรายงานล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า สหรัฐมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลง ประกอบกับเกิดเหตุไฟไหม้ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียท ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ในตลาดไนเม็กซ์ ของสหรัฐ ทะยานขึ้น 2.49 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 50.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนนือ ส่งมอบเดือนเดียวกัน ที่ตลาดลอนดอน อังกฤษ ปรับขึ้น 1.99 ดอลลาร์ ปิดซื้อขายที่ 57.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐ เผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในช่วง 1 สัปดาห์ของสหรัฐ ลดลง 36,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยุติระดับการผลิตที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาเป็นเวลานาน แม้ปริมาณน้ำมันดิบสำรองในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 471.4 ล้านบาร์เรลก็ตาม