วิศวะจุฬาฯเสนอ3ทางพัฒนาระบบรางประเทศ

วิศวะจุฬาฯเสนอ3ทางพัฒนาระบบรางประเทศ

วิศวะจุฬาฯ เสนอ 3 ทางพัฒนาระบบรางประเทศ จี้รัฐบาลชำระล้างการรถไฟ ก่อนเดินหน้าสร้างระบบราง

ที่อาคารจามจุรี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวข้อเสนอแนะต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของประเทศไทย โดยมีรศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนกังวลว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งเพียงทางผ่านให้แก่ประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง แล้วได้เฉพาะค่าผ่านทาง ค่าบริการรถไฟเท่านั้น เพราะขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน และไม่มีการเตรียมพร้อมใดๆ

ดังนั้น หากจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมจริงๆ ควรจะกำหนดยุทธศาสตร์ และเตรียมพร้อมในการเป็นศูนย์กลางทางผ่าน และศูนย์กลางที่จะนำเข้าวัตถุดิบต้นทุนต่ำจากต่างประเทศอื่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มส่งออกไปประเทศอื่นด้วย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันให้สูงขึ้น ต้องรู้ว่าสินค้า อุตสาหกรรมอะไรที่จะสามารถแข่งขันได้กับตลาดประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดจีน และถ้าจะใช้ประโยชน์จริงๆ ต้องมีนโยบายการลงทุน ส่งเสริมเน้นพัฒนาแรงงานควบคู่พัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะคงไม่สามารถปฎิเสธความร่วมมือได้แต่รูปแบบกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ที่จะใช้ในความร่วมมือควรต้องกำหนดชัดเจน รู้ผลกระทบและทั้ง 2 ฝ่ายควรได้ประโยชน์


ผศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่าขณะนี้ ในการบริหารจัดการเรื่องของรถไฟ การขนส่งต่างๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งการรวมการบริหารหน่วยงานเดียวกันหมดทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานกำกับดูแลควรเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และผู้ดำเนินการอีกหน่วยงานหนึ่งและแต่ละหน่วยงานมีความชัดเจน อีกทั้งเรื่องโครงสร้าง องค์กรก็มีปัญหาเพียบ เละเทะ ยุ่งเหยิง ดังนั้น อยากให้รัฐบาลช่วยจัดการปัญหาเรื่องโครงสร้างของหน่วยงานรถไฟของไทย เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาคาราคาซังมาหลายสิบปี และตราบใดที่รฟท.มีปัญหา การบริหารจัดการ และการพัฒนาเรื่องระบบรางคู่ รถไฟอย่างยั่งยืนคงเป็นไปไม่ได้


ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่าทีมจุฬาฯได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความจำเป็นต้องในการซื้อระบบรางรถไฟ ซึ่งทำให้พบว่า หากประเทศมีความจำเป็นในการใช้รถไฟมาก ในการทำบันทึกข้อตกลงกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยี ควรจะมีการกำหนดสัญญาให้เจ้าของเทคโนโลยีมาถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่พัฒนาบุคลากร กระทรวงแรงงาน พัฒนาแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์พัฒนาด้านเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ไม่ใช่มอบทุกอย่างให้กระทรวงการคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น


“จุฬาฯ ไม่ได้ปฎิเสธโครงการพัฒนาระบบรถไฟ ไม่ได้ขวาง เราก็อยากมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟระบบรางคู่ ใช้ แต่อยากให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีด้วย ภายใต้ความอยากก็อยากเห็นแผนรองรับที่ชัดเจน เพราะถ้าไม่ชัดเจน ไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี ก็ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่รอระบบและก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างแน่นอน” ผศ.ดร.ประมวล กล่าว