ยกฟ้อง 'สุเทพ-อภิสิทธิ์' คดีสลายม็อบนปช.

ยกฟ้อง 'สุเทพ-อภิสิทธิ์' คดีสลายม็อบนปช.

ศาลฎีกายกฟ้อง "สุเทพ-อภิสิทธิ์" คดีสลายม็อบ นปช.

ที่ห้องพิจารณา 802 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลนัดฟังคำสั่งฎีกา คดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อ ปี 2553 หมายเลขดำ อ.4552/56 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และอดีต ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดการฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น กรณี เมื่อระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 19 พ.ค.53 จำเลยกับพวกร่วมกันมีคำสั่ง ศอฉ.ให้มีการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วม นปช.โดยใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนจริงเพื่อขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวนมาก ทั้งที่ไม่ปรากฏว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการใดๆอันเป็นการก่อการร้ายหรือชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด คำสั่งของจำเลยกับพวกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย 

คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกฟ้อง ไม่รับสำนวนคดีไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา พิพากษายกฟ้องไม่รับสำนวนคดีไว้พิจารณา

อัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานและยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิใช่ดีเอสไอ สรุปสำนวนส่งอัยการคดีพิเศษ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เนื่องจากคดีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พศ. 2542 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกา มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาแล้ว คดีถือเป็นที่สุด