OECD กับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย

OECD กับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย

ทุกท่านคงได้ข่าวว่าประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (the Organization for Economic Co-operation and Development) อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

และคงได้รับข้อมูลข่าวสารกันพอสมควรแล้ว ว่า OECD คืออะไร ทำอะไร และทำไมประเทศไทยจึงต้องการเป็นสมาชิก บทความนี้เพื่อให้เข้าใจ OECD มากขึ้น และชวนคิดต่อว่าการเข้าร่วม OECD ของประเทศไทยจะช่วยยกระดับมาตรฐานและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง
ในปัจจุบัน OECD มีสมาชิกทั้งสิ้น 38 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง และกลุ่มประเทศ Emerging Economies ซึ่งมีรายได้ปานกลาง โดยมีประเทศที่รอการพิจารณาสมาชิกภาพอยู่ 7 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีอินโดนีเซียรวมอยู่ด้วย ในส่วนของประเทศไทยนั้น เราเพิ่งจะเริ่มต้นกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก

โดยหลักๆ แล้ว OECD ทำงานผ่าน 3 กลไก คือ ให้องค์ความรู้ (Inform) ออกแบบนโยบาย (Influence) และสร้างหลักเกณฑ์และมาตรฐาน (Set standards) ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงกลไกด้านหลักเกณฑ์และมาตรฐานของ OECD ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีถ้าสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และในมุมมองของผู้เขียน หากเราต้องการแข่งขันด้านดึงดูดการลงทุน และการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง เราจำเป็นต้องเพิ่มขีดความโปร่งใสผ่านหลักเกณฑ์และมาตรฐานเหล่านี้ และควรเข้าใจเสียใหม่ว่า การลดและยกเว้นภาษี ไม่ใช่ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
OECD มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ที่ประกาศออกมาแล้วประมาณ 450 ชุด ครอบคลุมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การต่อต้านคอร์รัปชั่น ภาษีอากร สิ่งแวดล้อม การค้า อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ พลังงาน การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการจ้างงาน โดยหลักเกณฑ์และมาตรฐานเหล่านี้ มีระดับของความผูกพันหนักเบาต่างกันไป คือมีทั้งระดับที่เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ (International agreement) ระดับที่เป็นความตกลงร่วมกัน (Decision) และระดับที่เป็นข้อเสนอแนะ (Recommendations)  ในบรรดาข้อผูกพันเหล่านี้ มีจำนวนหนึ่งที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมด้วยแล้ว และคาดว่าจะต้องเข้าร่วมมากขึ้นต่อไปเพื่อแสดงความจริงจังและความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD
 

ในด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น OECD มีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในกิจการธุรกิจระหว่างประเทศ (Convention on Combating Bribery of Foreign Public Officials in International Business Transactions) ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 1997 และประเทศไทยได้เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2016 แล้ว หลักการสำคัญคือประเทศที่เข้าร่วมอนุสัญญาฯ ตกลงในหลักการว่าการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ มีความผิดไม่ต่างไปจากการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐตน โดยมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการลงโทษทางการเงิน การที่ประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาฯ นี้ มีส่วนในการสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในการที่จะเข้ามาลงทุนและค้าขายกับประเทศไทย แต่จะดียิ่งไปกว่านี้อีก หากไทยมีกฎหมายที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินคดีในกรณีเหล่านี้อย่างเข้มข้นจริงจัง
ในด้านภาษีอากร OECD และ G20 เป็นแกนหลักของ Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) ซึ่งมีประเทศต่างๆ เข้าร่วม 138 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย หลักการของ BEPS คือการที่สมาชิกเห็นพ้องร่วมกันว่าบริษัทข้ามชาติมักใช้ช่องว่างทางของระบบและอัตราภาษีนิติบุคคลของประเทศต่างๆ ในการแสวงหากำไรสูงสุด และความพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนา มักก่อให้เกิดผลเสียต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศ ซึ่ง BEPS มี Actions 15 ข้อ ครอบคลุมเรื่องต่างๆ อาทิ  Action 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ที่มีปัญหาว่าประเทศใดจะเป็นผู้จัดเก็บภาษี หรือ Action 5 Harmful tax practices ที่พูดถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลคำวินิจฉัยภาษีอากร และการแลกเปลี่ยนข้อมูลของกิจกรรมที่ไม่ได้มีการเสียภาษีในประเทศใดเลย ซึ่ง Action 5 นี้เอง ที่จะทำให้หลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย ต้องคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน 
ตามที่ได้เคยเขียนไว้ในคราวก่อนๆ ว่า การพิจารณาลงทุนของบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายของเรานั้น สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ใช่ปัจจัยแรกๆ ที่บริษัทพิจารณาตัดสินใจลงทุน ต่อจากนี้ เมื่อ Action 5 ของ BEPS มีความเข้มข้นขึ้น อาจเป็นผลดีกับประเทศไทย ที่จะต้องหันกลับมาดูตนเองว่าจะสามารถสร้างปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนด้านอื่นๆ ได้อย่างไร และลงมือทำจริงๆ เสียที
ในด้านสิ่งแวดล้อม OECD มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการขยะ ความปลอดภัยที่เกี่ยวกับสารเคมี และด้าน green growth ต่างๆ  ส่วนในด้านการค้านั้น OECD มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การแข่งขันทางการค้า การควบรวมกิจการ ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเทศไทยยังมิได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แต่ก็จำเป็นจะต้องตัวปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์และมาตรฐานเหล่านี้ ในการเตรียมการเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อไป
ผู้เขียนเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวด้านมาตรฐานทางกฎหมายและกฎระเบียบภาครัฐ และยกระดับการบังคับใช้ เพื่อให้สามารถเข้าสู่หลักเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ของ OECD จะเป็นเหมือนการปลุกให้เราตื่นจากความเคยชินเดิมๆ แล้วลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อาจจะดูว่ายากและหนทางยาวไกล เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แท้จริงของประเทศเสียที