จากเชื้อพระวงศ์สู่นางเสือง

จากเชื้อพระวงศ์สู่นางเสือง

เรื่องเล่านางเสืองจากเชื้อพระวงศ์คนนี้ นอกจากเป็นละครดั้งเดิมแล้ว ยังแสดงถึงความรักชาติ และเรื่องราวประวัติศาสตร์

วีรสตรีไทยในประวัติศาสตร์มีอยู่ไม่มาก และหนึ่งในนั้นมี 'นางเสือง' ราชินีองค์แรกแห่งอาณาจักรไทยที่โลกรู้จักเธอแต่เพียงพระนาม

ด้วยเหตุนี้ หม่อมหลวงจุลลา งอนรถ เชื้อพระวงศ์ที่รักศิลปะการแสดง จึงอยากเล่าเรื่องนางเสืองให้คนไทยได้รู้จักในรูปแบบละครอิงประวัติศาสตร์ เพื่อสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพระราชประสงค์ในการอนุรักษ์ และสืบสานละครอิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากนางเสืองมีแค่พระนามปรากฏในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง 'พ่อกู ชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง'

เรื่องเล่าในรั้ววัง

หากย้อนถึงประวัติชีวิตหม่อมหลวงจุลลา ท่านสืบเชื้อสายมาจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า (รัชกาลที่ 3) ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต โดยยังไม่ได้ตรัสมอบหมายการสืบราชสันตติวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมปรึกษากัน มีสมานฉันท์ให้เชิญพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“ขณะนั้น รัชกาลที่ 4 ยังทรงพระผนวชอยู่ ทรงรักษาราชบัลลังก์ไว้ให้น้อง ก็เลยไม่แต่งตั้งพระชายาให้เป็นพระมเหสี

ดังนั้นโอรสธิดาของพระองค์ จึงไม่มีตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้า เพราะเกรงว่าอาจจะมีปัญหาภายหลัง พระองค์ท่านเพียงแต่รักษาราชการไว้ให้น้องเท่านั้นเอง สำหรับตัวเอง (หมายถึงหม่อมหลวงจุลลา) มาทางสายลูกคนโต คือ พระองค์เจ้างอนรถ มีพระโอรสคือหม่อมเจ้าชายแดง (ท่านปู่) มีหม่อมราชวงศ์หญิงโต ซึ่งไปเป็นพระชายาของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และหม่อมราชวงศ์ชายเล็ก (ท่านพ่อ) เป็นต้นตระกูล”

ปัจจุบันการสืบเชื้อสายจากรัชกาลที่ 3 มีทั้งหมด 13 มหาสาขา ก็คือ นามสกุล ศิริวงศ์, โกเมน, คเนจร, งอนรถ, ชุมสาย, ลดาวัลย์, อรณพ, ปิยากร, อุไรพงษ์, ลำยอง, สิงหรา, สุบรรณ และ ชมพูนุท เฉพาะพี่น้องนามสกุลงอนรถ ส่วนใหญ่ปลูกบ้านในรั้วเดียวกัน ทานข้าวเย็นด้วยกันทุกวัน เที่ยวด้วยกันปีละ 3 ครั้ง เพราะถูกสอนมาว่า นิ้วก้อยคือน้อง นิ้วหัวแม่มือคือพี่ น้องต้องรู้จักเคารพพี่ พี่ต้องรู้จักเมตตาน้อง

ทายาทรัชกาลที่ 3 เล่าว่า ต้นตระกูลไม่มีสมบัติไว้ให้ลูกหลานมาก ส่วนใหญ่เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น เงินถุงแดง ที่เก็บไว้เพื่อใช้ทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง รัชกาลที่ 3 ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล จนในสมัย ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสเรียกเงินปฏิกรรมสงคราม (ของมีค่าที่ต้องจ่ายเป็นค่าชดเชย เพื่อให้ครอบคลุมความเสียหายระหว่างสงคราม) จากไทย ก็อาศัยเงินจากถุงแดงที่เก็บไว้ไปชดใช้ให้ฝรั่งเศส ทำให้บ้านเมืองของเรารอดพ้นจากการเป็นหนี้ฝรั่งเศส และรัชกาลที่ 3 เคยมีรับสั่งไว้ว่า

"การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดไว้ ควรจะเรียกเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"

หม่อมหลวงจุลลา เล่าว่า เคยใช้ชีวิตแบบชาววัง อยู่ที่วังปลายเนิน ตอนที่เป็นเด็ก เนื่องจากท่านพ่อ คือ พ.อ.ม.ร.ว. เล็ก งอนรถ รับราชการทหารประจำการอยู่ต่างจังหวัด จึงถูกนำไปฝากเลี้ยงกับญาติ ลูก 3 คนแรก ก็คือ ดร.ม.ล.จ้อย นันท์วัชรินทร์, พล.อ.ต.ม.ล. กิ่งก้อย งอนรถ และ หม่อมหลวงจุลลา ถูกเลี้ยงดูในวัง จนกระทั่ง พ.อ.ม.ร.ว.เล็กย้ายกลับมาประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงย้ายออกจากวังไปอยู่ด้วยกันที่บ้านแถวๆ คลองบางซื่อ
นั่นเป็นเรื่องราวในรั้ววังของหม่อมหลวงจุลลา

นาฏศิลป์อยู่ในสายเลือด

“ตอนเด็กๆ เรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ เพราะชอบมาก แต่ก็รำไม่เก่งหรอกนะ เรียนหนังสือเก่งมากกว่า พอเห็นน้องๆ เรียนปริญญา ก็เลยคิดไปสอบเทียบบ้าง ทีนี้เราไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษ ไม่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ก็เลยใช้ภาษาบาลีสอบแทน ตอนนี้ก็ยังจำหลักของภาษาบาลี ยังท่องได้อยู่เลยนะ พอเราสอบเทียบได้ จากนั้นก็เข้าไปเรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถึงได้มีโอกาสมาทำละครเรื่องนางเสืองในสมัยนั้น เพราะเราเป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ แถมยังได้เรียนรำมาอีกด้วย”

พอเรียนจบปริญญาตรี ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนราชินี ชั้นมัธยม 6 สอนวิชาด้านประวัติศาสตร์ ประวัติวรรณคดี ภาษาอังกฤษ จนกระทั่งผันตัวไปทำงานองค์การโทรศัพท์ในตำแหน่งผู้บริหาร เมื่อตอนที่กำลังจะเรียนจบปริญญาโท ก็เข้ารับราชการที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทั่งรับราชการในตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรับราชการ ซี 9 จนเกษียณอายุราชการ ไม่ว่าจะทำงานที่ใด หม่อมหลวงจุลลา ก็ไม่เคยทิ้งนาฏศิลป์ ในชีวิตเคยทำละครมาประมาณ 30-40 เรื่อง ส่วนใหญ่แสดงที่โรงละครแห่งชาติ

"นาฏศิลป์ คือ งานอดิเรกในเวลานอกราชการ ซึ่งผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน เพราะถือว่างานนี้คืองานความมั่นคงทางสังคม สร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้ประวัติศาสตร์ รักศิลปะ ถือว่าสร้างชาติไทยให้มั่นคง ครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเรื่องพระสุพรรณกัลยา ที่ได้กำกับการแสดง จึงมีรับสั่งให้เข้าวังดุสิดาลัยไปแสดงถวาย จากนั้นมีรับสั่งให้ทำเรื่อง 'พระนเรศวร' ต่อ ก็เลยสืบเนื่องมาตลอดหลายเรื่องด้วยกัน และมีการพัฒนาการแสดงมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น เวลาแสดงกลางแจ้ง เสียงไม่ค่อยได้ยิน ท่านก็โปรดให้มีการบันทึกเสียงไว้ก่อน จึงได้ทั้งเรียนรู้และทำงานไปด้วย"

หม่อมหลวงจุลลา สะสมประสบการณ์การแสดงมาตั้งแต่ปี 2507 ทุกวันนี้ก็ยังถือว่าต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ทำด้วยใจรักและมีความสุขกับงานที่ทำ แม้ว่าปัจจุบันจะอายุ 72 ปี แต่ยังทำละครไม่หยุด

“พ่อเล็กนอกจากจะเป็นทหารแล้ว ยังชอบด้านศิลปะการแสดง เป็นคนแต่งบทละคร แสดงทั้งกลางแจ้ง นอกจากนี้ยังมีละครวิทยุ และเป็นบรรณาธิการหนังสือยุทธโกศ และเสนาธิปัตย์ เป็นหนังสือของทหาร ความสามารถตรงนี้อาจจะได้มาจากพ่อ ส่วนคุณยายไปเรียนรำที่วังบ้านหม้อ เป็นต้นเค้าของละครดึกดำบรรพ์ จึงมีโอกาสได้เห็นพ่อสีซอ คุณยายรำมาตั้งแต่เด็กๆ ทุกอย่างก็เลยอยู่ในหัว ตอนนี้ที่ตำหนักปลายเนิน ก็ยังมีการแสดงละครดึกดำบรรพ์ในวันนริศปีละครั้ง ทุกวันที่ 28 เมษายน เราไม่อยากให้ละครหายไป จึงอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ กระตุ้นให้คนหันมานิยม ก็ต้องเอาดาราดังๆ มาแสดง อย่างละครเรื่องนางเสือง ครั้งนี้ก็มี ปอ-ทฤษฎี เป็นพระเอก แสดงเป็นพ่อขุนผาเมือง”

แล้วทำไมอยากทำละคร

เพราะละครอยู่ในสายเลือด หม่อมเล่าว่า เคยทำละครเรื่องนางเสืองมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2511 ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 3 รอบ และกลับมาแสดงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2547 เฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 6 รอบ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับละครนางเสืองครั้งนี้ หม่อมหลวงจุลลา ลงมือกำกับการแสดงอีกครั้ง เปิดแสดงตั้งแต่วันที่ 25-27 มกราคม 2556 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพราะต้องการให้ผู้ชมได้รู้จักนางเสือง พระราชินีองค์แรกแห่งอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นทั้งมเหสีที่ดี และมารดาที่ดี

จากบันทึกหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง "พ่อกู ชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กู ชื่อนางเสือง" นางเสือง เป็นพระราชมารดาของพ่อขุนบาลเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้อยู่เบื้องหลังการกอบกู้อาณาจักรสุโขทัยให้พ้นจากการรุกรานของขอม

นั่นเป็นเหตุผลที่หม่อมหลวงจุลลา อยากถ่ายทอดผ่านการแสดงละครเวทีอิงประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ จากบทประพันธ์ของ อาจารย์สมภพ จันทรประภา แสดงนำโดย นักแสดงจากคณะละครอาสาสมัครในพระบรมราชินูปถัมภ์ มี ทฤษฎี สหวงษ์, อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล (กรีน AF5), นภัสกร มิตรเอม, พชรพล จั่นเที่ยง ฯลฯ และนักแสดงรับเชิญศิลปินแห่งชาติ พิศมัย วิไลศักดิ์, เศรษฐา ศิระฉายา ฯลฯ

ในเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์บทได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เพื่อยืนยันว่า นางเสืองก็คือพระแม่ย่าแห่งเมืองสุโขทัย เนื่องจากสมัยโบราณไม่มีใครสร้างรูปเคารพบูชา หากบุคคลผู้นั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่จริง หม่อมหลวงจุลลา เล่าถึง 'ละคร' สมัยก่อนว่า หมายถึงการแสดงรำที่มีเรื่องประกอบ ตัวเอกฝ่ายชายเรียกว่าตัวพระ ฝ่ายหญิงเรียกว่าตัวนาง นำเสนอเรื่องราวกษัตริย์ เช่น พระอนิรุทธิ์ พระไชยเชษฐ์ นางสีดา นางบุษบา ฯลฯ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงปรับปรุงพัฒนาละครดึกดำบรรพ์ เพื่อให้คณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) มีการเปลี่ยนแปลงฉากตามเนื้อเรื่อง ตัวละครทุกตัวต้องร้องเพลง จึงเรียกว่าละครร้อง หรือโอเปร่าไทย

"สำหรับนางเสืองคิดว่าที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏพระนามของพระราชินีองค์ใดในราชวงศ์ทั้งหลาย ในขณะที่ชาวสุโขทัยมีรูปบูชา พระแม่ย่าเมืองสุโขทัย ซึ่งก็เชื่อกันว่า ก็คือนางเสือง ซึ่งท่านเป็นทั้งแม่เมือง และยังมีลูกหลานเป็นกษัตริย์สืบต่อมาในราชวงศ์พระร่วง อาจารย์สมภพ ค้นคว้าประวัติศาสตร์จนทราบว่า พ่อขุนบางกลางท่าว หารือพ่อคุณผาเมืองจะตีกรุงสุโขทัยคืน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยเอาไว้ว่า "ชะรอยนางเสืองจะเป็นลูกพ่อขุนศรีนาวนำถมกระมัง ชาวเมืองถึงยกให้พ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นครองราชย์"

เพราะเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์สุโขทัย ก่อนที่ขอมลำโพงจะมายึดสุโขทัย เพื่อเป็นศูนย์กลางปกครองเมืองทางภาคเหนือ ของไทยทั้งหมด นางเสืองซึ่งเป็นน้องของพ่อขุนผาเมือง (ครองเมืองราช เก่งด้านการรบ) ได้หนีไปที่เมืองบางยาง ซึ่งมีคู่อภิเษกอยู่ที่นั่น "

ผู้กำกับเล่าว่า เรื่องนี้ยากกว่าเดอะมิวสิคัล เพราะนักแสดงทุกคนต้องร้องเพลงไทยเดิม และยังมีรำประกอบการแสดงอีกด้วย นักแสดงทุกคนทุ่มเทซ้อมเพื่อแสดงถวาย มีระบำดอกบัวเฉลิมพระเกียรติ จำนวนนักแสดง 81 คน และมีระบำอัปสรฟ้อนไฟที่สวยงาม พร้อมขบวนทัพทหารชุดใหญ่ ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

หากจะกล่าวถึงบุคลิกของนางเสือง ม.ล.จุลลา เล่าว่า มีความงามพร้อมในจริยวัตรต่างๆ เพราะเป็นลูกกษัตริย์ที่เสียเมืองไป จึงมีความเข้มแข็งและเป็นนักรบ พร้อมที่จะให้กำลังใจผลักดันผู้ชายทั้งหลายให้ลุกขึ้นมา มีลูกคือพ่อขุนบาลเมืองและพ่อขุนรามคำแหง เป็นแม่ที่สอนให้น้องเคารพนับถือพี่ เป็นหญิงไทยที่เป็นหลักให้ครอบครัวโดยไม่ออกหน้าแบบหญิงไทยโบราณที่งามพร้อม

"แง่คิดของเรื่องนางเสือง ก็คือ คนไทยเรายอมอะไรก็ยอมได้ แต่ถ้าเสียความเป็นไทยไปแล้ว จะยอมไม่ได้ จะรวมตัวสามัคคีกัน ลุกขึ้นสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพ หรือเอกราชกลับคืนมาจนได้ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ควรหันหน้ามาสามัคคีกันเพื่อความมั่นคงของชาติ"