ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

ชวนย้อนรอย สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) สภาวะอากาศที่รุนแรงผิดปกติจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะ คลื่นความร้อน (Heat Waves) ฝนตกรุนแรง พายุทอร์นาโด พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วม เป็นต้น ในรอบ 52 ปี ของประเทศไทย

KEY

POINTS

  • ผลกระทบของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากจะส่งผลต่อสิ่งชีวิตสูญพันธุ์ อาหารขาดแคลน ปัญหาสุขภาพ ยังมีผลต่อการเกิด สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)
  • สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) คือ สภาวะอากาศที่รุนแรงผิดปกติจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน (Heat Waves) ฝนตกรุนแรง พายุทอร์นาโด พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วม เป็นต้น
  • ในรอบ 52 ปีที่ผ่านมา (ปี 2513 - 2565) ประเทศไทยเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศร้อนจัด และ ฝนตกหนัก 

ชวนย้อนรอย สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) สภาวะอากาศที่รุนแรงผิดปกติจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะ คลื่นความร้อน (Heat Waves) ฝนตกรุนแรง พายุทอร์นาโด พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วม เป็นต้น ในรอบ 52 ปี ของประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และ มีเทน ไม่ว่าจะมาจากภาคพลังงาน อุตสาหกรรม การขนส่ง อาคารการเกษตร และการใช้ที่ดิน

 

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากจะส่งผลทำให้ อุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อปริมาณน้ำฝน ทำให้เกิดพายุรุนแรงขึ้น ภัยแล้งสาหัสขึ้น น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ อาหารขาดแคลน ปัญหาสุขภาพ ความยากจนและการพลัดถิ่น อีกทั้งมีผลต่อการเกิด สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)

 

สภาพอากาศสุดขั้ว คืออะไร

สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) คือ สภาวะอากาศที่รุนแรงผิดปกติจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน การเกษตรกรรม รวมทั้งระบบนิเวศทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น เป็นวันหรือสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน (Heat Waves) ฝนตกรุนแรง พายุทอร์นาโด พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วม เป็นต้น

 

นักวิทยาศาสตร์ให้คำจำกัดความสภาพอากาศสุดขั้วด้วย 2 วิธี คือ วิธีตรวจสอบความน่าจะเป็นหรือโอกาสที่เหตุการณ์หนึ่ง ๆ จะเกิดขึ้นภายในช่วงหนึ่ง ๆ หรือด้วยเหตุการณ์หนึ่ง ๆ เกิดขึ้นโดยผ่านขีดจำกัดเฉพาะ เช่น หากคลื่นความร้อนเกิน 100 องศาฟาเรนไฮต์เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายวัน ในสถานที่ซึ่งโดยปรกติอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

สภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่ารุนแรง ฯลฯ มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยเป็นผลกระทบจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้มีการสะสมความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส ความร้อนสะสมทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อไปหากไม่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

 

อุณหภูมิเปลี่ยนเล็กน้อย ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่

สาเหตุที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วได้ ปัจจัยหนึ่ง คือ ความร้อน ด้วยการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ เช่น ในฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐฯ ที่ต้องเจอกับคลื่นความร้อนรุนแรงเป็นประวัติการณ์ เพราะโดมความร้อน (Heat Dome) ด้วยบริเวณซึ่งมีความกดอากาศสูง มวลอากาศร้อนถูกกดลงและกักไว้อยู่กับที่ ส่งผลให้อุณหภูมิทั้งทวีปพุ่งสูงขึ้น

 

กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติระบุว่า คลื่นความร้อนรุนแรงแบบนี้แทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น รัสเซีย ไอร์แลนด์เหนือ และทวีปแอนตาร์กติกาก็เจอด้วยเช่นกัน

 

 

เมื่อมีคลื่นความร้อนที่หนักและนานกว่าเดิม อาจทำให้ภาวะแล้งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม หากฝนตกระหว่างมีคลื่นความร้อนน้อยลง ความชื้นบนพื้นดินและแหล่งน้ำก็แห้งเหือดเร็วขึ้น พื้นดินก็ร้อนเร็วขึ้น ทำให้อากาศร้อนหนักขึ้นไปอีก นำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำ

 

ขณะที่ การเกิดไฟป่ารุนแรง มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความร้อนอย่างยาวนานและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ความแห้งแล้งเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟป่า เช่น ในแคนาดา ยิ่งเมื่อเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส ก่อตัวทำให้เกิดฟ้าผ่ายิ่งทำให้ไฟลุกไหม้ ในไซบีเรียเองก็เกิดเหตุการณ์นี้เช่นกัน ในทศวรรษหลังมีไฟป่าขนาดใหญ่เกิดขึ้นบ่อย โดยไฟป่าขนาด 40 ตร.กม. ที่เผาผลาญฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เกิดขึ้นบ่อยกว่าในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 7 เท่า

 

ด้วยฝนที่ตกหนักกว่าเดิม ทำให้ในปี 2564 เกิดน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ที่จีน เยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบอกว่า เมื่อมีพื้นที่แห้งแล้งอย่างในไซบีเรียหรือภาคตะวันตกของสหรัฐฯ มากขึ้น ฝนก็ไปตกที่อื่นแทน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เล็กกว่า อย่างเช่นในเยอรมนีและเบลเยียมที่ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงกว่า

 

ย้อนรอย ประเทศไทยในรอบ 52 ปี

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เผยข้อมูล สภาพอากาศสุดขั้วของประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1970-2022 (พ.ศ. 2513-2565) โดยระบุว่า ปัจจุบันข่าวเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุหมุนเขตร้อน ฝนตกรุนแรง น้ำท่วม ไปจนถึงคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) โดยมีภาวะโลกร้อนเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้รูปแบบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศต่างๆ อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วด้วยเช่นกัน โดยวิเคราะห์จากข้อมูลตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา 65 สถานี ดังนี้

 

สภาพอากาศแบบผสม อากาศร้อนและฝนตกหนัก

อุณหภูมิมากกว่า 35 องศา + ฝนตกหนัก ปริมาณฝนมากกว่า 35.1 mm. ในภาพรวมประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (0.26 เหตุการณ์/ทศวรรษ) CHPEs ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม

  • ภาคเหนือ 2 เหตุการณ์/ปี
  • ภาคกลาง 2 เหตุการณ์/ปี
  • ภาคตะวันออก 2 เหตุการณ์/ปี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 เหตุการณ์/ปี
  • ภาคใต้ 1 เหตุการณ์/ปี

 

ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

 

สภาพอากาศร้อนจัด

อุณหภูมิมากกว่า 35 องศาเซลเซียส โดยจำนวนวันที่สภาพอากาศร้อน ในภาพรวมของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (7 วัน/ทศวรรษ) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

  • ภาคเหนือ 89 วัน/ปี
  • ภาคกลาง 97 วัน/ปี
  • ภาคตะวันออก 48 วัน/ปี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 70 วัน/ปี
  • ภาคใต้ 23 วัน/ปี

 

ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

 

ฝนตกหนัก

ปริมาณฝนมากกว่า 35.1 mm. โดยจำนวนวันที่ฝนตกหนักในภาพรวมของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (0.25 วัน/ทศวรรษ) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

  • ภาคเหนือ 30 วัน/ปี
  • ภาคกลาง 9 วัน/ปี
  • ภาคตะวันออก 17 วัน/ปี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 วัน/ปี
  • ภาคใต้ 16 วัน/ปี

 

ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

 

อากาศสุดขั้วในต่างประเทศ

ทีมวิจัยของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ได้เก็บรวบรวมเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) ทั่วทั้งภูมิภาคที่เกิดขึ้นใน ปี 2563 อาทิ

 

ฤดูมรสุมที่ยาวนาน เกาหลีใต้

ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2563 เกาหลีใต้ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ซึ่งเป็นฤดูมรสุมที่ยาวนานที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ฤดูมรสุมเกิดตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

น้ำท่วมใหญ่ในจีน

จีนต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในเดือนกรกฎาคม ปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำแยงซีมีปริมาณสูงทำลายสถิติที่ 298 มิลลิเมตร (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 64%) สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนกว่า 38ล้านคน และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเกือบ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อากาศร้อนทำลายสถิติ

ฤดูร้อนในช่วงเวลาดังกล่าว กรุงปักกิ่ง นับเป็นเมืองที่มีอุณหภูมิสูงสุดก่อนที่อื่นๆ ในขณะที่เกาหลีใต้มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 1 องศาเซลเซส ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เคยบันทึกไว้ ส่วนฮ่องกง ประสบกับปัญหาอากาศร้อนมาก 43 วัน ซึ่งมากกว่าจำนวนวันที่อุณหภูมิปกติเฉลี่ยรายปีถึง 32 วัน

 

เราจะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 

 

สหประชาชาติ ประเทศไทย แนะแนวทางแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาทิ

 

ประหยัดพลังงานที่บ้าน : การผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เราสามารถใช้พลังงานให้น้อยลงได้ โดยการปรับระดับการทำความร้อนและความเย็นให้ต่ำลง เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซักผ้าด้วยน้ำเย็น หรือตากผ้าแทนการใช้เครื่องอบผ้า

 

เดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ : ถนนทั่วโลกแน่นขนัดไปด้วยยานพาหนะซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินเป็นเชื้อเพลิง การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความแข็งแรงอีกด้วย 

 

รับประทานผักให้มากขึ้น : แค่รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดพืชมากขึ้น และลดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้น้อยลง ก็สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก โดยทั่วไปกระบวนการผลิตอาหารที่มาจากพืชจะสร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า อีกทั้ง ยังใช้พลังงาน ที่ดิน และน้ำน้อยกว่า

 

รับประทานอาหารให้หมด : ทุกครั้งที่ทิ้งอาหาร หมายความว่า เรากำลังทิ้งทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการเพาะปลูก/เลี้ยง ผลิต บรรจุ และขนส่งอาหารนั้น ๆ และอาหารที่บูดเน่าอยู่ในบ่อขยะก็จะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงมาก ดังนั้น รับประทานอาหารที่ซื้อมาให้หมดและส่วนที่เหลือให้หมักทำปุ๋ย

 

ลด ใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล : อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้า และสินค้าอื่น ๆ ที่ซื้อล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ณ จุดใดจุดหนึ่งของการผลิต ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิต และการขนส่งสินค้าสู่ตลาด ดังนั้น เราสามารถช่วยรักษาสภาพอากาศ ด้วยการซื้อของให้น้อยลง ซื้อของมือสอง ซ่อมหากซ่อมได้ และรีไซเคิล

 

เปลี่ยนแหล่งพลังงานในบ้าน : ลองเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงาน

 

เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า : หากวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ ลองเลือกดูรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งตอนนี้มีหลายรุ่นและราคาถูกลง แม้ว่าไฟฟ้าที่ใช้จะยังผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็ช่วยลดมลพิษทางอากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้แก๊สหรือดีเซลอย่างมีนัยสำคัญ

 

เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : ทุกการใช้จ่ายของเราส่งผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น เราสามารถเลือกสนับสนุนสินค้าและบริการใดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซื้ออาหารตามฤดูกาลที่ผลิตในท้องถิ่น เลือกผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสีย

 

ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

 

ร่วมเปลี่ยนความท้าทาย เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย

ตอนนี้ถึงจุดสิ้นสุดของ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และจากนี้ไป โลกเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” (Global Boiling) การทำธุรกิจในแบบแผนเดิมๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าโลกใบนี้อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็เท่ากับไม่มีโอกาส และโอกาสจะเป็นของผู้ที่ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม จึงอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

 

เมื่อกติกาความอยู่รอดเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่อยู่ให้รอด แต่ต้องยั่งยืนด้วย “ประเทศไทย” จึงต้องก้าวสู่ความพยายาม (Ambition) ครั้งสำคัญ เพื่อนำพาประเทศผ่านจุดเปลี่ยน ด้วยการปรับตัวอย่างมียุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ว่าด้วย “Go green” คือเส้นทางสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้างแต่ในทางปฎิบัติจริงยังมีความท้าทายต่างๆ

 

กรุงเทพธุรกิจ เปิดเวที Go Green 2024: The Ambition of Thailand ขึ้น ในวันที่ 25 เม.ย. 2567 เวลา 09.00-16.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ Go Green 2024 : The Ambition of Thailand  บรรจุ Content ที่จะพาทุกภาคส่วนและประเทศไทยไปสู่การแปลง “ความท้าทาย” ให้เป็น “โอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่า” ด้วยปาฐกถาที่สะท้อนมุมมองใหม่ๆ และการเสาวนาร่วมกันจากวิทยากรภาครัฐ ภาคเอกชน ระดับแถวหน้าของเมืองไทย​​​ รูปลงทะเบียนผ่านลิงก์ คลิก 

 

ย้อนรอย ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ในรอบ 52 ปี ที่ไทยต้องเผชิญ

 

อ้างอิง : สหประชาชาติ ประเทศไทย , กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม , กรีนพีซ ประเทศไทย , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)