อบก. เดินหน้าพัฒนา "ตลาดคาร์บอน" สร้างอีโคซิสเต็ม ลดโลกร้อน

อบก. เดินหน้าพัฒนา "ตลาดคาร์บอน" สร้างอีโคซิสเต็ม ลดโลกร้อน

อบก. เดินหน้าพัฒนาระบบ "ตลาดคาร์บอน" ดึงท้องถิ่น 76 จังหวัด ร่วมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด ตั้งเป้าไปสู่ Net zero ระดับจังหวัด ตอบโจทย์เป้าหมายประเทศ

ข้อมูลในปี 2018 พบว่า ประเทศไทย ปล่อยคาร์บอน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปลดปล่อยใน "ภาคพลังงาน" มากที่สุด ถัดมา คือ ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมขณะที่ มีการจัดเก็บอยู่ที่ 86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นความท้าทายที่ไทยที่จะเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065 

 

 

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 “เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวในช่วงเสวนา Carbon Neutral Roadmap งาน EGCO Group Forum 2022 Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ปัจจุบัน เราขับเคลื่อนแรงมากไม่ว่าจะตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065 ซึ่งคงจะมีการนำเรื่องนี้ไปคุยในการประชุม COP27

 

"หนึ่งปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า สผ. กำลังขับเคลื่อนโดยดึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดตั้งเป็นกรม แปลว่าเรากำลังเอาจริงกับเรื่องนี้ โดยจะเน้นในเรื่องของการซัพพอร์ตให้เกิดการลดและปรับตัว"

 

ขณะที่ อบก. เป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ ในเชิงบวก โดยต้องเริ่มจากการวัดการปล่อยในทุกภาคส่วน ข้อมูลในปี 2018 พบว่า ประเทศไทย ปล่อยคาร์บอน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปลดปล่อยใน "ภาคพลังงาน" มากที่สุด ถัดมา คือ ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม

 

ขณะที่ มีการจัดเก็บอยู่ที่ 86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป้าหมายของไทยในปี 2050 จะดูที่คาร์บอนไดออกไซด์ว่าจะสมดุลหรือไม่และต้องลดลงมาให้เท่ากับภาคป่าไม้ที่จัดเก็บ โดยประเมินศักยภาพแล้ว ในภาคเกษตรและป่า สามารถจัดเก็บได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  

 

อบก. เดินหน้าพัฒนา \"ตลาดคาร์บอน\" สร้างอีโคซิสเต็ม ลดโลกร้อน

 

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า การปล่อยคาร์บอนจะไปสู่จุดสูงสุดในปี 2025 และจะค่อยๆ ลดลงหากมาตรการต่างๆ สัมฤทธิ์ผล จน 2050 การปล่อยจะสมดุลกับการเก็บ ซึ่งอาจจะต้องมีตัวช่วย  คือ เทคโนโลยี ที่ทำให้การปล่อยถูกจำกัดลงด้วยระบบ CCS หรือระบบ CCUS 

 

เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า ภาคที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด คือ ภาคพลังงานไฟฟ้า หากจะทำให้สำเร็จจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และในภาคการขนส่งต้องเอา EV เข้ามา 70% รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เศรษฐกิจหมนุเวียน จะต้องเข้ามาแน่ ด้วยทำทั้งหมดแล้วอาจจะไม่รอด ต้องมี CCS และ CCUS ด้วย

 

รวมถึงต้องมีมาตรการ เช่น ในต่างประเทศ มี Carbon Pricing Instrument ผู้ปล่อยต้องจ่ายหรือรับผิดชอบกับการปล่อยของตนเอง โดยประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้โดยตรง แต่อยู่ระหว่างทำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกรมใหม่เข้ามารองรับ และหลังจากนี้จะมีเรื่องของหลักการเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบัน มีภาษีคาร์บอนในหลายประเทศ

 

สำหรับในประเทศไทยเอง หน่วยงานที่จะดูแลเรื่องของ “ภาษีคาร์บอน” ก็คือกรมใหม่ และของโลกจะมีของแต่ละประเทศกำกับ เช่น อียู ประกาศตัวเป็น Net zero ในปี 2050 โดยกำหนดธุรกิจบางธุรกิจ เช่น ไฟฟ้า กำหนดอัตรากรปล่อยคาร์บอนไว้ว่าแต่ละธุรกิจจะปล่อยเท่าไหร่ หากปล่อยเกินจะถูกค่าปรับ 100 – 150 ยูโร และลดอัตราการให้ปล่อยลงเรื่อยๆ และอนุญาตให้คนที่ปล่อยน้อยแลกเปลี่ยนกันได้ และหลายประเทศออกเป็นกฎหมาย ในหลายรัฐในสหรัฐ ก็ออกกำหนดแบบนี้

 

 

ไม่ปรับตัว ก็มีความเสี่ยง

 

เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ Carbon Tax เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินจะเจอภาษีต่อตัน คนที่ปล่อยเยอะก็จ่ายเยอะ คนที่ไม่ปล่อยก็จะไม่เก็บ ด้วยระบบแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไทยยังไม่มี จึงเกิด CBAM ซึ่งอียูมองว่าไม่แฟร์ที่ประเทศอื่นไม่มีการกำหนดนโยบาย Carbon Pricing จะส่งสินค้ามาขายในประเทศ ในขณะที่ภายในประเทศต้องจ่าย ดังนั้น ระบบ CBAM จึงจะเริ่มในปีหน้า มาตรการแบบนี้บังคับเราทางอ้อม ขณะเดียวกัน อียูยังมีการกำหนดการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ด้วยว่าสินค้าแต่ละชิ้นมีการปล่อยเท่าไหร่ และเริ่มมีการกำหนดว่าหากเป็นสินค้าที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์สูงจะไม่ซื้อ

 

“เพราะฉะนั้น มาตรการทางการค้ามาแล้ว ขณะที่มาตรการทางการเงินออกมาด้วยจากการประชุม COP เขาบอกว่าเป้าหมาย Net zero ระดับประเทศบังคับให้ระดับองค์กรต้องปรับตัว โดยองค์กรเองจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายเช่นกัน วันนี้หากองค์กรไหนไม่กำหนดเป้าหมาย จะเจอปัญหาทั้งเรื่องลูกค้า การเข้าถึงเงินทุน หากไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกถือว่าธุรกิจไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยง ก็จะให้ดอกที่แพงหรือไม่ให้กู้"

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของนักลงทุนที่จะลงทุนในประเทศต่างๆ จะมองหาพลังงานสะอาด ไม่เช่นนั้นการจับมือในเรื่องของข้อตกลงการทำนวัตกรรมจะทำได้ยากหากไม่ปรับตัว รวมถึงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องลดก๊าซเรือนกระจก ยังไม่รวมกลไกที่จะออกมาในประเทศ จะเกิดความกดดันอย่างเห็นได้ชัด หากไม่ปรับตัวจะมีความเสี่ยง

 

ส่งเสริมเพิ่มพื้นที่สีเขียว

 

ทั้งนี้ ในฝั่งที่ทำโครงการดีๆ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากเดิมที่มีการตัดไม้ทำลายป่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบเกษตร ต้องเอาป่ากลับคืนมา ตอนนี้ทั้งโลกหาพื้นที่เหล่านี้ เพื่อเติมเข้าไป เพราะเราใช้ฟอสซิลไปเยอะ และตัดต้นไม้

 

"สิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก คือ Nature-based Solution โดยปกติแนวทางการส่งเสริมเรื่องนี้ยากมากเพราะเป็นการลงทุนที่ยาวนาน เราจึงมองว่าวิธีหนึ่ง คือ การให้เครดิต หากทำโครงการสีเขียวจะได้เครดิต ดังนั้น พื้นที่สีเขียวจึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ภาครัฐอยากจะส่งเสริม จึงพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิต จากภาคป่า มาเป็นส่วนเสริม รวมถึง เรื่องของพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะทำให้ประเทศแข่งขันได้"

 

เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า คาร์บอนเครดิต จะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญ ให้ประเทศเปลี่ยนผ่าน โดยใช้หลักของการส่งเสริมให้คนที่ทำโครงการดีๆ ทำให้มาก เป็นแนวการส่งเสริมที่ อบก. อยากให้เกิด โดยพยายามทำมาตรฐานการวัด และให้ทุกคนวัดว่าตนเอง Net zero หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ซื้อเครดิตและพยายามอย่าปล่อย หากปล่อยจะต้องจ่ายบางอย่าง เอากลไกด้านเศรษฐศาสตร์มาช่วย ให้ทุกคนขับเคลื่อนไปสู่การทำโปรเจกต์ดีๆ

 

สร้างมาตรฐาน ประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์

 

ทั้งนี้ อบก. เป็นหน่วยหลักในการดูแลมาตรฐานต่างๆ ทั้ง คาร์บอนฟุตพรินต์ รวมถึงการประเมินก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะสิ่งออก ต้องมีมาตรฐานในการประเมิน จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มเพื่อให้การวัดสะดวก เที่ยงตรง และนโยบายต้องถูกผลักดันไปในทุกภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล องค์กร และ ภาคจังหวัดก็ต้องประเมิน

 

ปัจุจบัน มีการจัดตั้ง เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 300 องค์กร ในการวางเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนราว 48 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้รับงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อวัดในระดับจังหวัด 76 จังหวัด ที่จะร่วมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และตั้งเป้าไปสู่ Net zero ระดับจังหวัด

 

เกียติชาย กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาสู่วงที่มีการประเมินตัวเอง องค์กรก็ต้องมีการประเมินคาร์บอนฟรุตพรินต์ขององค์กร พอเริ่มแบบนี้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดนโยบายก็จะสามารถ Benchmark ได้ ขณะเดียวกัน คาร์บอนเครดิตจะเป็นตัวช่วย

 

"อย่างไรก็ตาม ต้องมีระบบตลาด เพราะฉะนั้น สิ่งที่อบก. กำลังสร้าง คือ แพลตฟอร์ม ที่นำประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มาชดเชย ผู้ที่ปล่อย เพื่อลดภาระของ Carbon pricing ต่างๆ เรากำลังสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้น"

 

"ขณะที่ภาคป่า ซึ่งวัดยาก นับเป็นสิ่งท้าทาย นโยบายทาง สผ.เองมีการกำหนดภาคป่าทั้ง 3 กรมใหญ่ รวมถึงเอกชน และพื้นที่เกษตรกร สามารถทำเครดิตได้ ระบบเหล่านี้ใน 10 ปีข้างหน้าจะเป็นงานใหญ่ของ อบก. ที่จะทำให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่ระบบที่จะมารับรองและตลาดที่จะมาแลกเปลี่ยนก็เป็นสิ่งท้าทาย ต่อไปข้างหน้าหากมีตลาดคาร์บอนในประเทศ และหากเครดิตเหลือ จะสามารถนำไปเทรดกับต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน หากทำดีจนมีส่วนเหลือก็จะสามารถนำไปเทรดกับคนที่มีต้นทุนสูงกว่าเราได้