เปิด ‘3 บทเรียนลงทุนพลาด’ ของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

เปิด ‘3 บทเรียนลงทุนพลาด’ ของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

เผย “3 ข้อผิดพลาด” การลงทุนในชีวิต “บัฟเฟตต์” อันได้แก่ ประเมิน Amazon ต่ำเกินไป, มองข้าม Google ที่อยู่เพียงปลายจมูก และลงทุนในบริษัทสิ่งทอ Berkshire Hathaway ที่ราคาถูก แต่ต้องแบกภาระหลายสิบปี

KEY

POINTS

  • 2 สิ่งของ Amazon ที่เหนือความคาดหมายบัฟเฟตต์ คือ ความสามารถคุมตลาดอีคอมเมิร์ซ และการเปิดธุรกิจคลาวด์ที่ขยายลูกค้าไปทั่วโลก จนดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
  • บริษัทประกันภัย GEICO ที่อยู่ในเครือ Berkshire Hathaway ใช้บริการ Google Ads เพื่อยิงโฆษณาตั้งแต่ก่อน Alphabet จะเข้าไอพีโอ แต่บัฟเฟตต์กลับพลาดโอกาสซื้อหุ้นทั้งที่อยู่เพียงปลายจมูก
  • ก่อนที่ Berkshire Hathaway จะเป็นบริษัทโฮลดิ้งอันยิ่งใหญ่ ในสมัยก่อนนั้นประกอบ “ธุรกิจสิ่งทอ” โดยบัฟเฟตต์ในวัย 31 ปีก็เข้าซื้อหุ้นบริษัทนี้ แม้เสี่ยงล้มละลายก็ตาม เพราะมีมูลค่าถูกมาก

เผย “3 ข้อผิดพลาด” การลงทุนในชีวิต “บัฟเฟตต์” อันได้แก่ ประเมิน Amazon ต่ำเกินไป, มองข้าม Google ที่อยู่เพียงปลายจมูก และลงทุนในบริษัทสิ่งทอ Berkshire Hathaway ที่ราคาถูก แต่ต้องแบกภาระหลายสิบปี

วอร์เรน บัฟเฟตต์” (Warren Buffett) ชายผู้ขึ้นชื่อเรื่องปรัชญาการลงทุนที่เฉียบคม มักถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่ "บัฟเฟตต์" เองก็เคยพลาดท่าในการลงทุน 3 ครั้งใหญ่

กรุงเทพธุรกิจจะพาทุกคนไปเรียนรู้ "3 บทเรียนล้ำค่า" จากบัฟเฟตต์ ผ่าน 3 ข้อผิดพลาดที่เขาเคยเผชิญ เพื่อนำมาปรับใช้กับการลงทุนของเราให้เฉียบคมยิ่งขึ้น

1. ประเมิน Amazon ต่ำเกินไป

ในปัจจุบันอย่างที่เรารู้กัน บริษัท “อเมซอนดอทคอม” (Amazon) กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซในสหรัฐ โดยข้อมูลจากบริษัทด้านสถิติ Statistic ระบุว่าในปี 2566 Amazon ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกในสหรัฐเป็นอันดับ 1 สูงถึง 37.6% จนส่งผลให้เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งบริษัทนี้มีความมั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2560 ในช่วงที่บริษัทยังไม่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ บัฟเฟตต์ยอมรับว่า เขาติดตามบริษัทนี้มายาวนาน แต่ยังไม่คิดที่จะลงทุน ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ประเมินบริษัทนี้ต่ำเกินไป โดยบัฟเฟตต์เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ผมโง่เขลาเกินไป ไม่นึกว่าเบโซสจะประสบความสำเร็จในการสเกลธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้”

มี 2 สิ่งที่เหนือความคาดหมายบัฟเฟตต์ ได้แก่ Amazon สามารถคุมตลาดอีคอมเมิร์ซ และการที่บริษัทเปิดธุรกิจคลาวด์อย่าง Amazon Web Services ที่ขยายลูกค้าไปทั่วโลก จนดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เปิด ‘3 บทเรียนลงทุนพลาด’ ของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ - วอร์เรน บัฟเฟตต์ (เครดิต: AFP) - 

สำหรับเหตุผลที่บัฟเฟตต์ตัดสินใจไม่ลงทุนใน Amazon จนตกรถในครั้งนั้น อาจเป็นเพราะแนวคิดการลงทุนแบบดั้งเดิมของปู่ที่ระมัดระวังในการซื้อหุ้นที่มี P/E สูงมาก ซึ่งในตอนนั้น Amazon เทรดกันที่ P/E 80-100 เท่า ยิ่งสูงเท่าไร ความคาดหวังการเติบโตก็สูงตามไปด้วย ถ้ารักษาการเติบโตต่อไม่ได้ก็อาจถูกตลาดลงโทษ อีกทั้งบัฟเฟตต์ยอมรับว่า ตนเองไม่ได้ถนัดกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม บทเรียนนี้ได้สอนถึง "การเปิดใจ" เรียนรู้เทรนด์ใหม่ และกล้าลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ แม้จะอยู่ต่างแวดวงที่เคยคุ้นเคยก็ตาม

2. มองข้าม Google ที่อยู่เพียงปลายจมูก

นอกจากตกรถ Amazon แล้ว ปู่บัฟเฟตต์ยังเคยยอมรับในงานประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ในปี 2561 ว่า เขาพลาดที่ไม่ได้ลงทุนหุ้น Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google นับตั้งแต่ช่วงประกาศขายหุ้นสู่สาธารณะ (IPO) ในปี 2547 ทั้งที่บริษัทประกันภัย GEICO ที่อยู่ในเครือ Berkshire Hathaway ก็ใช้บริการ Google Ads เพื่อยิงโฆษณามากมายตั้งแต่ก่อน Alphabet จะเข้า IPO หรืออาจเรียกว่าธุรกิจ Google อยู่เพียงปลายจมูก

บัฟเฟตต์กล่าวว่า “ถ้าผมต้องเลือกระหว่างซื้อหุ้น Alphabet หรือชอร์ตหุ้นแทน ผมเลือก ‘ซื้อ’ เช่นเดียวกับหุ้น Amazon แต่จะซื้อตอนนี้ก็ยากแล้ว เมื่อเห็นราคาที่ขึ้นมาหลายเท่า”

“ลองนึกว่า คุณมีบางสิ่งที่เมื่อคุณคลิก เงินก็ออกมาทันที ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่น่าทึ่งและมีลักษณะผูกขาดตลาดโดยธรรมชาติ” บัฟเฟตต์เล่าย้อนถึงโมเดลธุรกิจ Google ที่ทำเงินจากการคลิกโฆษณาของทั้งโลก

ขณะที่ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) เพื่อนนักลงทุนคู่หูบัฟเฟตต์ก็กล่าวว่า “ผมรู้สึกโง่มากที่พลาดหุ้นดีขนาดนี้ ซึ่งบัฟเฟตต์ก็คงรู้สึกเหมือนผมเช่นกัน"

เหตุการณ์นี้ช่วยให้ข้อคิด "การมองหาโอกาส" ที่อยู่รอบตัว ไม่ควรละเลยธุรกิจที่มีศักยภาพ แม้จะดูไม่น่าสนใจในตอนแรก

3. ลงทุน Berkshire Hathaway เพราะราคาถูก

ก่อนที่ Berkshire Hathaway จะเป็นบริษัทโฮลดิ้งอันยิ่งใหญ่ที่ลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ในสมัยก่อนนั้นประกอบ “ธุรกิจสิ่งทอ” โดยเมื่อปี 2505 บัฟเฟตต์ในวัย 31 ปีก็เข้าซื้อหุ้นบริษัทนี้ แม้อยู่ในสถานะเสี่ยงล้มละลายก็ตาม เพราะมีมูลค่าถูกมาก ตามหลักกลยุทธ์หุ้นก้นบุหรี่ของ เบนจามิน แกรแฮม (Benjamin Graham) บิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า และบัฟเฟตต์ก็สะสมหุ้นนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็เปลี่ยน ในปี 2507 เมื่อ ซีบิรี่ สแตนตัน (Seabury Stanton) เจ้าของบริษัท Berkshire Hathaway เสนอซื้อหุ้นที่บัฟเฟตต์ถือในราคา 11 ดอลลาร์ 50 เซนต์ บัฟเฟตต์ก็ตอบตกลง

เมื่อจดหมายเสนอซื้อมาถึง ราคากลับเป็น 11 ดอลลาร์ 32 เซนต์แทน บัฟเฟตต์จึงโกรธอย่างยิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง จึงกว้านซื้อหุ้นจนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และควบคุม Berkshire Hathaway ได้ในที่สุด จากนั้นบัฟเฟตต์ก็ไล่สแตนตันออกจากบริษัท

เมื่อกลายเป็นเจ้าของ Berkshire Hathaway แล้ว แต่ธุรกิจสิ่งทอเปรียบเหมือน “ตะวันตกดิน” บัฟเฟตต์จึงต้องแบกธุรกิจที่ขาดทุนนี้มาตลอด 20 ปี ซึ่งทั้งหมดเกิดจาก “การซื้อหุ้นด้วยอารมณ์”

อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์นำบทเรียนดังกล่าวมาปรับโมเดลธุรกิจ Berkshire Hathaway ให้เป็นแบบโฮลดิ้ง โดยกระจายไปลงทุนในธุรกิจดาวรุ่งอื่น ๆ แทนอย่างธุรกิจประกัน

ปู่เล่าย้อนว่า มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ที่ซื้อธุรกิจสิ่งทอนี้ช่างไม่คุ้มค่า กลายเป็น “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” แทนที่จะนำเงินที่แบกขาดทุนไปลงทุนในธุรกิจที่รุ่งกว่าแทน และนี่ให้ข้อคิดว่า อย่าซื้อหุ้นเพียงเพราะราคาถูก เพราะไม่ใช่ทุกบริษัทจะฟื้นกลับมาได้ ควรประเมิน “ปัจจัยคุณภาพ” ควบคู่กัน

อ้างอิง: statistacnbcbusinesscnbc