ไบเดนอัด 'ญี่ปุ่น' กลัวต่างชาติขึ้นสมอง ต้นเหตุปัญหาไม่ต่างกับจีน - รัสเซีย

ไบเดนอัด 'ญี่ปุ่น' กลัวต่างชาติขึ้นสมอง ต้นเหตุปัญหาไม่ต่างกับจีน - รัสเซีย

ประเทศพันธมิตรก็ไม่เว้น ไบเดนชี้ 'ญี่ปุ่น' เกลียดกลัวต่างชาติไม่ต่างอะไรกับ จีน - รัสเซีย ไม่เหมือนเศรษฐกิจสหรัฐที่เติบโตเพราะต่างชาติร่วมสร้างชาติ

แม้ "ญี่ปุ่น" จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดประเทศหนึ่งของสหรัฐทั้งในแง่การเมือง และเศรษฐกิจ แต่ล่าสุด ญี่ปุ่นกลับถูกประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าววิพากษ์วิจารณ์ระหว่างงานระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.67) ว่า เป็นประเทศที่มีแนวคิดเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) ไม่ต่างอะไรจาก "จีนและรัสเซีย"

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเม.ย. ไบเดนก็เพิ่งกล่าวพาดพิงถึง "จีน" โดยเชื่อมโยงปัญหาเศรษฐกิจจีนกับการไม่ยอมรับผู้อพยพชาวต่างชาติ และกล่าวหาว่าจีนเกลียดกลัวต่างชาติ 

ส่วนในครั้งนี้ไบเดนได้เพิ่ม 2 ประเทศเข้ามาในลิสต์ Xenophobia คือ รัสเซีย และญี่ปุ่น แม้ว่าจะเพิ่งต้อนรับการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ โดยมีการประชุมสุดยอด และงานเลี้ยงอาหารค่ำของรัฐ ณ กรุงวอชิงตันเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน และเพิ่งประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทางทหารครั้งใหญ่กันไปก็ตาม 

"สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตก็เพราะพวกคุณ และคนอื่นๆ เพราะเรานั้นยินดีเปิดรับผู้อพยพ" ไบเดนกล่าวต่อการประชุมผู้บริจาคชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

"ลองคิดดูซิ ทำไมเศรษฐกิจจีนถึงหยุดชะงักได้ขนาดนี้ ทำไมญี่ปุ่นถึงมีปัญหา และทำไมรัสเซียก็ด้วย เพราะว่าพวกเขาเกลียดกลัวชาวต่างชาติ พวกเขาไม่ต้องการผู้อพยพ"

รายงานระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของไบเดน และการจัดญี่ปุ่นรวมกลุ่มอยู่กับ 2 ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐ อาจสร้างความไม่พอใจให้กับญี่ปุ่นตามมา โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐ และญี่ปุ่นเพิ่งประกาศยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมครั้งใหญ่ เพื่อตอบโต้การกระทำที่เป็นอันตรายของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ไบเดนอัด \'ญี่ปุ่น\' กลัวต่างชาติขึ้นสมอง ต้นเหตุปัญหาไม่ต่างกับจีน - รัสเซีย

ญี่ปุ่นเกลียดกลัวต่างชาติจริงหรือ

"เรื่องเล่า" เกี่ยวกับความเกลียดกลัวคนต่างชาติของญี่ปุ่นนั้นอาจเป็นเรื่องที่พบเห็นบ้างตามโซเชียลมีเดีย โดยถูกสะท้อนผ่านในหลายมุมมอง เช่น แรงกดดันทางอ้อมผ่านการแบ่งแยกพวกเขา - พวกเรา การไม่เปิดกว้างต่อการใช้ภาษาอังกฤษ และยิ่งในยุคที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าจนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติล้นทะลัก กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ ก็ยิ่งพบกรณีความไม่เป็นมิตรมากขึ้น เช่น การปิดป้ายหน้าร้าน(เป็นภาษาญี่ปุ่น) ไม่ต้อนรับคนต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขภาพรวมทางเศรษฐกิจนั้นจะพบว่า ญี่ปุ่นกำลังปรับไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น และทัศนคติของคนญี่ปุ่นที่มีต่อชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในแง่ของแรงงานต่างชาติ ก็ผ่อนคลายมากขึ้น 

บลูมเบิร์ก ระบุว่า ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุบสถิติใหม่อยู่ที่ 3.4 ล้านคน ในเดือนธ.ค. 2566 หรือเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.7% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมดราว 124 ล้านคน

ในขณะที่ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์อาซาฮีเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า 62% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวญี่ปุ่นคิดว่า ควรมีการเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับตัวเลข 44% ของโพลล์ที่คล้ายกันเมื่อปี 2561 

การเป็นสังคมผู้สูงอายุ และการที่มีประชากรเกิดใหม่ลดลงนั้นถือเป็นความกังวลสำคัญของญี่ปุ่นที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ยังเคยเอ่ยปากว่า ปัญหานี้คุกคามความสามารถในการขับเคลื่อนการทำงานของสังคม ส่งผลให้ประเทศต้องทยอยเปิดประตูรับชาวต่างชาติมากขึ้น เพื่อมาเติมเต็มงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ขาดแคลนคนทำงาน 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสหประชาชาติเรื่องการอพยพย้ายถิ่นเมื่อปี 2563 พบว่า ญี่ปุ่นมีจำนวนชาวต่างชาติย้ายถิ่นเข้ามาพำนักในประเทศราว 2.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 2.19% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่สหรัฐมีจำนวน 50.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 15.28% ของประชากรทั้งหมด ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ราว 3.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.2%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์