ปัจจัยเสี่ยงครึ่งหลังปี 59 โลกยังโฟกัสที่‘เศรษฐกิจจีน’

ปัจจัยเสี่ยงครึ่งหลังปี 59 โลกยังโฟกัสที่‘เศรษฐกิจจีน’

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ใช้โอกาสในการปาฐกถาหลายเวที พูดถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปีที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัวได้ 3.2% แม้จีดีพีที่ออกมา 3.2% จะเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่สมคิดเองก็ยอมรับว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ยังขมุกขมัว ไม่สดใส องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.2% จากเดิม 3.4% เนื่องจากความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามองในครึ่งหลังของปี 2559 นอกจากสหรัฐฯ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2.4% เท่ากับปีก่อน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในที่กำลังจะนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ อีกเรื่องที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษก็คือเศรษฐกิจจีน ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.7% ลดลงจาก 6.8%ในไตรมาสก่อนถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวในระดับนี้ต้องย้อนกลับไปในไตรมาสแรกของปี2552

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปี มีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการส่งออกก็หดตัวโดยไตรมาสแรกส่งออกของจีนหดตัวถึง 9.6% เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น ปัญหาการตกลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ (economic hard landing)เริ่มคลี่คลาย จากการมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านข้อตกลงสัญญาซื้อคืนพันธบัตร(Reverse repos) ระยะ 7 วัน รวมทั้งลดอัตราส่วนต่างเงินสำรอง (RRR) ลงอีก 0.5%เป็นต้น

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.5% ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัว 6.9%โดยมีแรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง ข้อจำกัดจากการส่งออก การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง

ประเด็นปัญหาหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบเศรษฐกิจของจีน เริ่มเป็นที่พูดถึงรวมถึงอย่างกว้างขวาง จากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หลายคน บอกว่าถ้าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่จะเกิดขึ้นก็จะมีชนวนปัญหาดังกล่าว แม้ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของ NPL ในระบบเศรษฐกิจของจีนแต่มีตัวเลขประมาณการณ์ที่น่าสนใจสถาบันวิจัย ออโตโนมัส รีเสิร์ช ในฮ่องกงเปิดเผยว่า ภาคการเงินของจีนมียอดเงินกู้รวมและมูลค่าตราสารการเงินอื่นๆรวมกัน30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และเป็นไปได้ว่า ณ สิ้นปีนี้สัดส่วนประมาณ 22% ของเงินกู้และตราสารการเงินของจีนจะกลายเป็น NPL ขณะที่นายKyle Bass อดีตผู้จัดการกองทุน Hayman Capital บอกว่าภาคธนาคารของจีนกำลังสุ่มเสี่ยงเนื่องจากแบกหนี้เสียประมาณ 10% ของทรัพย์สินที่ถือประมาณ 31ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออาจมี NPLไม่ต่ำกว่า3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระบบเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนชี้ให้เห็นว่า NPL ที่กำลังพุ่งสูงในประเทศจีนเป็นผลพวงมาจากภาคธนาคารเงา(Shadow Banking) ซึ่งไม่ใช่ธนาคารแต่มีการปล่อยกู้ ให้สินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ หรือลงทุนโดยไม่มีความเข้มงวดเพียงพอ จนอาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ที่อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้เลยที่เดียว และจะบังเอิญหรือไม่ก็ตามเค้ารางของวิกฤตที่จะเกิดขึ้น คล้ายคลึงกับวิกฤต Subprime ที่เกิดขึ้นในปี2008

คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เพราะไม่เพียงแต่จีนจะมีประชากรมากที่สุดในโลก กว่า1.3 พันล้านคน แต่ขนาดเศรษฐกิจของจีนที่มีจีดีพีกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ย่อมหมายถึงหากเศรษฐกิจจีนป่วยเศรษฐกิจโลก ก็อาจจะเข้าขั้นโคม่าได้เลยทีเดียว