‘ขาดอาหาร-พลัดถิ่น’ผลพวงจากสงครามทั่วโลก

‘ขาดอาหาร-พลัดถิ่น’ผลพวงจากสงครามทั่วโลก

‘ขาดอาหาร-พลัดถิ่น’ผลพวงจากสงครามทั่วโลก โดยยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า สงครามในยูเครนและวิกฤตผู้ลี้ภัยจากสงครามกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกแต่ประชาคมโลกก็ไม่ควรลืมที่จะให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานด้วย

การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ก้าวเข้าสู่วันที่ 20 และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ นำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนแทบทุกหย่อมหญ้า ทำให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ และแน่นอนว่าถ้าการสู้รบยืดเยื้อย่อมนำไปสู่ปัญหาความยากจน อดอยาก คนตกงาน และเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมตามมา

ล่าสุด สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) วอนทั่วโลกว่าอย่าลืมยังมีวิกฤตอัฟกานิสถาน แม้สถานการณ์ยูเครนจะน่าห่วงมากแค่ไหน

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.) โดยย้ำเตือนว่า โลกไม่ควรหลงลืมว่ายังมีวิกฤตมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานที่น่าเป็นห่วง ท่ามกลางความสนใจที่มุ่งไปยังสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

“ฟิลิปโป กรันดี” ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยระหว่างการเดินทางเยือนกรุงคาบูลว่า สงครามในยูเครนและวิกฤตผู้ลี้ภัยจากสงครามกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกในขณะนี้ แต่ประชาคมโลกก็ไม่ควรลืมที่จะให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานพังทลาย ขณะที่ประชาชนนับหมื่นคนต้องอพยพออกจากประเทศ หลังจากที่กองกำลังต่างชาติ รวมถึงกองทัพสหรัฐ ได้ถอนทหารออกจากประเทศ ก่อนที่กลุ่มตาลีบันจะเข้ายึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จ
 

กรันดี กล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องส่งสารนี้ไปยังสถานการณ์อันเลวร้ายอื่น ๆ ซึ่งต้องการความสนใจและทรัพยากรในการช่วยเหลือไม่ต่างกัน ซึ่งเราไม่ควรหลงลืมหรือเพิกเฉย โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน”

อัฟกานิสถานมีประชาชนที่ต้องพลัดถิ่นเพราะสงครามในประเทศมากถึง 3.4 ล้านคน ขณะที่มีผู้ลี้ภัยออกจากประเทศราว 2.6 ล้านคน โดยมีประชาชนนับหมื่นหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานหลังจากที่กรุงคาบูลถูกกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองได้สำเร็จเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ระบุว่า มีประชาชนกว่า 23 ล้านคนที่ขาดแคลนอาหาร และ 95% ของประชากรไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน คณะเจ้าหน้าที่ยูเอ็นแถลงว่าชาวเยเมนประมาณ 19 ล้านคนจะอยู่ในสถานะผู้หิวโหยถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านเงินทุนเพิ่มเติมผ่านกองทุนช่วยเหลือต่างๆที่ต้องการเงินทุนจำนวน 4,300 ล้านดอลลาร์  พร้อมทั้งระบุว่า ขณะนี้เยเมนซึ่งบอบช้ำอย่างหนักจากสงคราม ประชาชนสามในสี่คนจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเต็มที่ในปีนี้   
 

ยูเอ็น ย้ำว่าเงิน 4,300 ล้านดอลลาร์ที่เรียกร้องนี้เป็นเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารที่จำเป็นในเยเมนในปีนี้และช่วยป้องกันประชาชน 19 ล้านคนในประเทศนี้ไม่ให้ต้องอยู่ในสภาพหิวโหย พร้อมทั้งแสดงความหวังว่าการประชุมเพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามที่นครเจนีวา ในวันพุธ(16มี.ค.)ตามเวลาท้องถิ่นจะทำงานได้บรรลุตามเป้าประสงค์  

“ตอนนี้เงินในกองทุนร่อยหรอลงไปและหน่วยงานต่างๆก็เลิกทำงานในเยเมน เราจำเป็นต้องเติมเต็มท่อส่งอาหาร จัดหาที่พักพิงและส่งสารไปยังชาวเยเมนว่าเราไม่ได้ลืมพวกเขา”มาร์ติน กริฟฟิธส์ เลขาธิการฝ่ายกิจการด้านมนุษยธรรมของยูเอ็น กล่าว

เยเมนได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2557 เมื่อกลุ่มกบฏฮูตี ที่อิหร่านให้การสนับสนุนบุกยึดกรุงซานา และพื้นที่ทางเหนือส่วนใหญ่ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องหนีไปทางใต้ และไปที่ซาอุดีอาระเบีย จากนั้นกองกำลังพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง ได้เข้าสู่การทำสงครามเมื่อปี 2558 เพื่อช่วยคืนอำนาจให้แก่ฝ่ายรัฐบาลเยเมน สงครามนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 150,000 คน รวมทั้งพลเมืองกว่า 14,500 ราย

ขณะที่ตัวเลขจากหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ระบุว่า มีประชาชนชาวเยเมนประมาณ 66% จาก 30 ล้านคน หรือราว 19 ล้านคน ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีชีวิตรอดในแต่ละวัน และชาวเยเมนประมาณ 4.2 ล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่มีชาวเยเมนประมาณ 102,000 คนกลายเป็นผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย

กริฟฟิธ อดีตทูตพิเศษยูเอ็นประจำเยเมน กล่าวว่า สถานการณ์การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเยเมนที่ถือว่าย่ำแย่ในขณะนี้อาจจะเลวร้ายลงไปอีก เมื่อข้าวสาลีซึ่งนำเข้ามาจากยูเครน ในสัดส่วนมากถึง 40% ของปริมาณพืชพันธุ์ธัญญาหารของเยเมนโดยรวมอาจประสบปัญหานำเข้ามาไม่ได้

“ยูเครนเป็นแหล่งอาหารของหลายประเทศและจำเป็นต้องให้ยูเครนอยู่รอดจากสงคราม การทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอื่นที่ต้องพึ่งพาผลผลิตข้าวสาลีของยูเครน”กริฟฟิธ กล่าว

รายงานที่ตีพิมพ์เมื่อวันจันทร์(14มี.ค.)โครงการอาหารโลกของยูเอ็น และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ) เตือนว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเยเมนกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเลวร้ายที่สุดในช่วงเดือนมิ.ย.และเดือนธ.ค.ปี 2565

คาดการณ์ว่าจะมีประชากรประมาณ 19 ล้านคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร เพิ่มจากปัจจุบันที่ 17.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 7.3 ล้านคนจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะความหิวโหยในระดับฉุกเฉิน

รายงานของยูเอ็นยังระบุด้วยว่า เกิดภาวะทุพโภชนาการในระดับที่รุนแรงและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า5ขวบในเยเมน และทั่วประเทศมีเด็กที่อยู่ในภาวะขาดอาหารขั้นรุนแรง 2.2 ล้านคนด้วยกัน รวมทั้งเด็กอีกกว่า 500,000 คนที่กำลังเจอปัญหาขาดอาหารอย่างรุนแรง เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ตลอดเวลา