5 แนวโน้ม "จุดจบ" สงครามรัสเซีย - ยูเครน

5 แนวโน้ม "จุดจบ" สงครามรัสเซีย - ยูเครน

เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ รัสเซียเข้าโจมตียูเครน ได้เห็นประชาชนและกองกำลังทหารลุกขึ้นต่อสู้กองทัพมอสโกอย่างกล้าหาญ แต่หลังสงครามยุติอาจดูมืดมน แม้ในสถานการณ์ดีที่สุดคือรัสเซียถอนกำลังทหาร ส่วนยูเครนรักษาอธิปไตยไว้บางส่วน แต่สัมพันธ์ในยุโรปไม่อาจกลับสู่ปกติ

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและรวบรวมความเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในความเป็นไปได้หลังยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนี้ 

1.รัสเซียเข้าปกครองบางแคว้น 

คลิฟฟ์ คุปชาน ประธานกลุ่มยูเรเซีย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ยุโรปและนักสังเกตการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด กล่าวว่า สถานการณ์เปลี่ยนเร็วมาก ทำให้ยากประเมินจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของมอสโกและท่าทีชาติตะวันตกที่ไม่อาจคาดเดาได้ 

เพียงแต่พอคาดการณ์ว่า จะได้เห็นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้เกลียดชังรัฐบาลยูเครนปัจจุบันเพราะปรารถนาเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้าวางฐานอำนาจให้กับรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มโปรรัสเซีย

"จะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่อาจระบุได้ แต่สถานการณ์พื้นฐานในกลุ่มประเทศยูเรเซียอาจเกิดใน 3 เดือนข้างหน้า โดยรัสเซียจะสามารถคุมพื้นที่ทางตะวันออก ไปจนถึงแม่น้ำดนีโปร เพื่อยึดกรุงเคียฟ หลังการปิดล้อมที่ยืดเยื้อ ในระหว่างนี้ได้เตรียมจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดที่รัสเซียให้การสนับสนุนเข้าไปปกครองยูเครน" คุปชาน กล่าวเสริมว่า คาดจำนวนผู้ลี้ภัยจะมีสูงถึง 5 -10 ล้านคนจากยูเครนเดินทางไปยังยุโรปตะวันตก

ในสถานการณ์เช่นนี้ นาโตไม่อาจปฏิเสธแทรกแซงทางทหารในความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งที่ยูเครนไม่ใช่สมาชิกนาโต ด้วยการสนับสนุนยุทโธปกรณ์ทางทหารให้ยูเครน เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการต้านรัสเซียในยูเครนตะวันออก แต่สิ่งนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการ “ปะทะกันทางอากาศระหว่างเครื่องบินรัสเซียและนาโต” 

2.ล้างไพ่และแบ่งพื้นที่ปกครอง

นักวิเคราะห์บางคนเห็นด้วยว่า มีโอกาสรัสเซียเข้ามาปกครองบางแคว้นในยูเครน จนนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน และเมื่อรัสเซียสามารถยึดที่มั่นในดินแดนทางตะวันออกได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดอนบาส ซึ่งทารัส คูซิโอ นักวิจัยสถาบันเฮนรี่แจ็คสันของสหรัฐ เขียนบทความระบุว่า จุดมุ่งหมายของมอสโก "พิชิตทางทหารอย่างสมบูรณ์ในยูเครน  ตามด้วยการแบ่งแยกและการกำจัดประชากรพลเรือนจำนวนมาก" 

“เป้าหมายที่ชัดเจนของปูตินคือการขจัดร่องรอยความเป็นเอกลักษณ์ยูเครนทั้งหมด และกลุ่มเผด็จการทางทหารจะฝั่งรากรึกในจักรวรรดิรัสเซียสมัยใหม่ในประเทศยูเครน วิสัยทัศน์นี้สร้างความน่าหวาดเสียว สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของปูตินในการปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับประวัติอันยาวนานของเขา ในการดูถูกเหยียดหยามและความเกลียดชังรัฐบาลยูเครน" คูซิโอกล่าว 

3.คลื่นความไม่สงบ

ชาวยูเครนยังคงต่อสู้กับการปกครองโดยรัฐบาลหุ่นเชิดที่โปรรัสเซีย โดยความขัดแย้งจะลุกลามไปสู่การก่อความไม่สงบในระยะยาว และชาวยูเครนที่เหลือในประเทศจะพยายามโค่นล้มระบอบการปกครองดังกล่าวด้วยวิธีการใดๆ ที่มีอยู่ 

ชัยชนะของรัสเซียในยูเครนจะเป็น “ชัยชนะที่ลุกโชน” นั่นคือชัยชนะที่ไม่คุ้มที่จะชนะเพราะต้องสูญเสียทุกอย่างไปมากเพื่อแลกกับชัยชนะ โดยได้ตั้งข้อสังเกตกับยุทธศาสตร์ที่ยูเครนใช้กับรัสเซียในขณะนี้เป็นลักษณะการบีบให้ “รัสเซียต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ การเงินและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ” เนื่องจากจะต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในระหว่างนี้ ประเทศต่างๆ ของนาโต “น่าจะให้ความช่วยเหลือเชิงป้องกันอย่างลับๆ แต่แข็งแกร่งมากแก่กลุ่มยูเครนต่อต้านรัสเซีย”

4. นาโตปะทะรัสเซีย 

 พันธมิตรนาโตปฏิเสธที่จะเข้าร่วมทางการทหารโดยตรงหลายต่อหลายครั้งในสงครามรัสเซียกับยูเครน เพราะนั้นจะทำให้ไปสู่ความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย ซึ่งปธน.ปูตินประกาศเตือนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าประเทศใดที่แทรกแซงจะเท่ากับว่ามีส่วนร่วมกับปฏิบัติการทางทหาร จะต้องรับผลตามมามากมาย โดยประเทศในฝั่งตะวันออกที่เป็นสมาชิกนาโต เช่น โปแลนด์ โรมาเนีย และประเทศในบอลติก ซึ่งได้ปรับท่าทีล่าสุดเพราะเกรงความขัดแย้งจะขยายมายังดินแดนของตนเอง 

เอียน เบรมเมอร์ ประธานของยูเรเซีย กรุ๊ป ตั้งข้อสังเกตว่า จะไม่เห็นชาติตะวันตกส่งทหารไปรบเคียงบ่าเคียงไหล่ยูเครนหรือกำหนดเขตห้ามบินเหนือยูเครน เพราะเท่ากับกองกำลังนาโตเผชิญหน้ากองทัพรัสเซียโดยตรง เสี่ยงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 

"ไม่น่าเป็นไปได้ที่รัสเซียจะโจมตีทางการทหารโดยตรงกับนาโต และนาโตก็ไม่น่าจะตอบโต้โดยตรงกับการโจมตีทางทหารประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ วิธีเดียวในการเตรียมตัวตั้งรับคือหน่วยข่าวกรองต้องทำงานมากขึ้น ในการป้องกันหรืออย่างน้อยก็ลดทอนการโจมตีที่ไม่ตรงมาตรงไป" เบรมเมอร์กล่าว 

เราจะได้เห็นชาติตะวันตกปล่อยมาตรการทางเศรษฐกิจเป็นระลอกๆ อย่างไม่จำกัดเพื่อเข้าจัดการกับเศรษฐกิจรัสเซียจนอ่วม เชื่อว่าปูตินรับรู้ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ แต่รัสเซียจะโจมตีกลับทางอ้อม โดยเฉพาะก่อการร้ายทางไซเบอร์ เพื่อตอบโต้ชาติสมาชิกนาโต 

5. ปาฏิหาริย์

นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกัน การถอนกำลังทหารออกจากยูเครนเป็นทางออกดีที่สุด โดยพาเวล อิงเกล นักยุทธศาสตร์ของ Atlantic Council’s กล่าวว่า อันที่จริงในสถานการณ์ “ปาฏิหาริย์” นี้ เครมลินตระหนักดีว่า ในการรุกรานยูเครน “รัสเซียต้องจ่ายต้นทุนทางสงคราม แต่ตอนนี้มันเริ่มสูงเกินไป” และเผชิญกับความล่มสลายทางเศรษฐกิจและการทูต ถ้าปูตินแยกแยะได้ เขาจะสั่งให้ถอนทหารรัสเซียออกจากยูเครน 

แม้สงครามอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ก็ได้คร่าชีวิตผู้คนหลายพันคนทั้งรัสเซียและยูเครน โดยทิ้งความขมขื่นไว้ เชื่อว่า ยูเครนยังคงเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบไม่บุบสลาย แต่ตราบใดที่ยังเป็นเพื่อนบ้านรัสเซีย อนาคตย่อมสั่นครอนเพราะมุมมองรัสเซียที่มีต่อยูเครนไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป