เมื่อ ‘ยูเครน’ มีชัยเหนือ ‘รัสเซีย’ ใน ‘โลกอินเทอร์เน็ต’

เมื่อ ‘ยูเครน’ มีชัยเหนือ ‘รัสเซีย’ ใน ‘โลกอินเทอร์เน็ต’

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งต่าง ระบุว่า ยูเครนประสบความสำเร็จและมีชัยเหนือรัสเซียในเรื่องของสงครามข่าวสารและสงครามไซเบอร์

สงครามระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ กองกำลังทหารรัสเซียได้รุกคืบเข้าไปเมืองต่างๆ ในยูเครน และกำลังเข้าใกล้เมืองหลวง ในตอนแรกหลายคนคิดว่ารัสเซียที่มีกำลังทหารเหนือกว่ามากคงใช้เวลาไม่กี่วันในการเจาะเข้าไปยึดเมืองต่างๆ แต่ประชาชนชาวยูเครนจำนวนมาก ก็ผนึกกำลังและร่วมมือร่วมใจต่อต้านการบุกรุกจากกองกำลังทหารของรัสเซียอย่างเข้มแข็ง จึงทำให้การต่อสู้คงไม่จบลงโดยเร็ว

แต่ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งต่าง ระบุว่า ยูเครนประสบความสำเร็จและมีชัยเหนือรัสเซียในเรื่องของสงครามข่าวสารและสงครามไซเบอร์
 

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งมักมีสงครามข่าวสารจากทั้งสองฝ่าย ทั้งเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ การปล่อยข่าวเท็จออกมา โดยเฉพาะเรื่องของการสูญเสียกำลังพล การยึดพื้นที่ และความโหดร้ายของอีกฝ่ายหนึ่ง รวมถึงการส่งข่าวต่างๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหารและพลเมืองของตัวเอง ตลอดจนเพื่อสร้างพันธมิตรและความเห็นใจจากประเทศต่างๆ

ปัจจุบันเป็นยุคแห่งอินเทอร์เน็ต ข่าวสารถูกส่งมาตามแพลตฟอร์มต่างๆ ใครสามารถกระจายข่าวสารได้เร็วกว่า มีผู้ติดตามและเชื่อถือมากกว่า ก็ย่อมได้เปรียบอีกฝ่าย ซึ่งในสงครามครั้งนี้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยูเครนและพันธมิตร ซึ่งหมายถึงสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา กำลังเป็นผู้ชนะในสงครามข่าวสารครั้งนี้
 

ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นของประเทศกลุ่มตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จึงไม่แปลกใจที่ทั้ง Facebook  Youtube และ TikTok ต่างก็ร่วมมือกันแบนข่าวสารต่างๆ ที่มาจากรัฐบาลรัสเซีย โดยทาง YouTube ถึงกับระงับการออกอากาศของทีวีรัสเซียทั้งสำนักข่าว RT และเพจ Sputnik ไม่ให้เข้าดูได้ในยุโรป (แต่ในบ้านเรา ยังสามารถดูได้)

นอกจากนี้ ชาวยูเครนและพันธมิตรในประเทศต่างๆ ก็ช่วยกันใช้โซเชียลมีเดียในการโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปต่างๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจซึ่งกันและกันในการที่จะออกมาต่อสู้กับทหารรัสเซีย

หลายภาพมีคนกดไลค์และแชร์กันออกไปเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นนักออกแบบภาพได้สร้างรูปภาพกราฟิกที่เป็นแผนที่ของประเทศรัสเซียและยูเครนซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามากแล้วตั้งชื่อของภาพว่า “ตระหนักถึงระดับของความกล้าหาญของชาวยูเครน” หรือภาพของสมาชิกสภาผู้แทนหญิงยูเครนที่ยืนเท้าเปล่าแล้วถือปืนไรเฟิล รวมถึงภาพของอดีตนางงามยูเครนที่ยืนถือปืน และคลิปที่ชาวบ้านรวมตัวออกมาตะโกนขับไล่ทหารรัสเซียให้กลับบ้านไป

ประธานาธิบดี Zelensky ของยูเครนก็ประสบความสำเร็จในการส่งข่าวสารและวิดีโอคลิปของเขาผ่านช่องทาง Telegram ที่เป็นโซเชียลมีเดียที่คนยูเครนและรัสเซียใช้กันจำนวนมาก เพื่อแก้ข้อมูลเท็จต่างๆ ที่ทางสื่อของรัสเซียนำเสนอออกมา เช่น เมื่อมีข่าวว่าเขาบอกให้ยอมจำนน เขาก็ทำการเซลฟี่วิดีโอตัวเขาเองแล้วพูดว่า “เราจะไม่วางอาวุธ เราจะปกป้องประเทศของเรา” คลิปและข้อความต่างๆ ที่เขาส่งออกมามักได้รับความเห็นใจจากคนทั่วโลกมากกว่าฝ่ายรัสเซีย

สงครามไซเบอร์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การใช้แฮกเกอร์เข้ามาทำลายระบบไอทีและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการแฮกเว็บไซต์ การส่งมัลแวร์เข้าไปทำลายระบบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็มีความเชี่ยวชาญในด้านการโจมตีทางไซเบอร์ โดยในช่วงแรกมีข่าวว่าแฮกเกอร์ของรัฐบาลรัสเซียได้เข้าโจมตีบริการสาธารณะต่างๆ ของรัฐบาลยูเครนเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากเว็บ Check Point พบว่า มีปริมาณการเข้าโจมตีทางไซเบอร์ในยูเครนเพิ่มขึ้นถึง 196%

รัฐมนตรีกระทรวง Digital Transformation ของทางยูเครนจึงได้ทวีตข้อความประกาศตั้ง “กองทัพไอที” (IT Army) และรับอาสาสมัครชาวยูเครนทั่วโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีรวมถึงแฮกเกอร์ เพื่อมาช่วยกันทำหน้าที่ดูแลและป้องกันระบบไอทีของประเทศยูเครน และยังรวมไปถึงการตั้งเป้าหมายเข้าไปโจมตีระบบไอทีของรัสเซียด้วย

รัฐบาลยูเครนอ้างว่าสามารถที่จะหาอาสาสมัครได้ถึง 120,000 คน และนอกจากจะประสบความสำเร็จในการป้องกันตัวเองแล้ว ยังสามารถทำให้ระบบไอทีภาครัฐของรัสเซียจำนวนมากล่มลง รวมถึงเข้าไปแฮกระบบไอทีของสถาบันการเงิน ระบบไอทีขอตลาดหลักทรัพย์จนต้องหยุดทำการซื้อขาย นอกจากนี้กองทัพไอทีก็ยังร่วมมือกับแพลตฟอร์มไอทียักษ์ใหญ่ต่างๆ ในการที่จะยับยั้งข้อมูลเท็จต่างๆ ที่ออกมาจากทางรัฐบาลรัสเซียด้วย

สงครามในยุคใหม่นอกจากจะเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ยังรวมไปถึงสงครามข่าวสารที่ขยายไปสู่โลกอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ตลอดจนการต่อสู้ในสงครามไซเบอร์ ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ถ้าการรบด้วยอาวุธสิ้นสุดลง การรบทางไซเบอร์จะจบลงไปทันทีหรืออาจยังต่อสู้กันไปอีกนาน แต่ที่แน่ๆ ผู้ชนะในสงครามยุคใหม่นี้คงต้องชนะทั้งด้วยอาวุธและบนโลกอินเทอร์เน็ต จึงจะบอกได้ว่าเป็นผู้ชนะแบบเบ็ดเสร็จ