วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนหนุนราคาข้าวโพด-ข้าวสาลีบั่นทอนความมั่นคงด้านอาหาร

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนหนุนราคาข้าวโพด-ข้าวสาลีบั่นทอนความมั่นคงด้านอาหาร

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนคุกคามความมั่นคงด้านอาหารโลก ขณะรัสเซียและยูเครนส่งออกธัญพืช ข้าวสาลีและข้าวโพดในปริมาณมาก จึงมีความเป็นไปได้มากที่ราคาสินค้าประเภทนี้จะทะยานขึ้นหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มขึ้น

 วิกฤตยูเครนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน ตลาดหุ้น ตลาดเงินเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อราคาพืชพรรณธัญญาหาร ทำให้ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดทะยาน บั่นทอนความมั่นคงด้านอาหาร โดยล่าสุด ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดพุ่งขึ้นแตะระดับที่เคยเห็นในคลื่นการชุมนุมประท้วงในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เรียกว่า“อาหรับสปริง” 

เว็บไซต์นิกเคอิ นำเสนอรายงานเรื่องนี้โดยอ้างถึงความเห็นของบรรดาผู้ผลิตข้าวโพดและข้าวสาลีชั้นนำของโลกว่า ราคาอาหารอาจจะทะยานสูงกว่านี้หากว่าสถานการณ์ตึงเครียดในขณะนี้พัฒนาไปเป็นการโจมตีและตอบโต้กันด้วยอาวุธ ทั้งยังทำให้เงินเฟ้อพุ่งกว่าที่เป็นอยู่และเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในตะวันออกกลาง
 

สัญญาราคาข้าวโพดล่วงหน้าที่ตลาดชิคาโก ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ประมาณ 6.20 ดอลลาร์ต่อบุชเชล ปรับตัวขึ้นกว่า10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนราคาข้าวสาลีล่วงหน้าตลาดเดียวกันปรับตัวขึ้น 20% อยู่ที่ 7.60 ดอลลาร์ต่อบุชเชล 

“รัสเซียและยูเครนส่งออกธัญพืช ข้าวสาลีและข้าวโพดในปริมาณมาก จึงมีความเป็นไปได้มากที่ราคาสินค้าประเภทนี้จะทะยานขึ้นหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มขึ้น”แหล่งข่าววงในตลาดข้าวสาลีและข้าวโพด ให้ความเห็น

ที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกทะยานขึ้นกว่า20% ในช่วงสองเดือนก่อนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียเมื่อเดือนมี.ค.ปี 2557

ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีมีความอ่อนไหวและเปราะบางต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์มานานหลายเดือน โดยข้าวสาลีตลาดล่วงหน้าทะยานขึ้นไปมากถึง 8.30 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนม.ค.ใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีซึ่งอยู่ที่ 8.60 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว

ขณะนี้ รัฐบาลมอสโกได้ประจำการทหารประมาณ 100,000 นายทั้งในรัสเซียและเบลารุสใกล้พรมแดนติดต่อยูเครน ขณะที่สหรัฐและประเทศพันธมิตรในยุโรปเร่งเจรจาเพื่อหาทางออกให้แก่สถานการณ์ตึงเครียดที่อาจนำไปสู่การบุกโจมตียูเครนของรัสเซียครั้งนี้

หากความพยายามของประเทศต่างๆล้มเหลวย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีชั้นนำของโลก โดยผลผลิตข้าวสาลีของรัสเซียมีสัดส่วน10%ของผลผลิตข้าวสาลีทั่วโลก ส่วนการส่งออกในตลาดโลกมีสัดส่วน 20%   

ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดอันดับ5 ก็อ้างว่ามีสัดส่วนในการผลิต10%เช่นกันและยูเครนยังครองสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดมากกว่า 10% ด้วย  นอกจากนี้ ยูเครนยังครองส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ในส่วนของน้ำมันดอกทานตะวันและข้าวบาร์เลย์           

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะสร้างความปั่นป่วนไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ภูมิภาคที่บริโภคข้าวสาลีรายใหญ่สุดของโลกแต่พึ่งพาการนำเข้าเนื่องจากอากาศแห้งแล้งและมีทรัพยากรน้ำอย่างจำกัด โดยอียิปต์เป็นประเทศนำเข้าข้าวสาลีชั้นนำ และอียิปต์สั่งซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียในสัดส่วน 60% จากยูเครนเกือบ 30% 

ส่วนจีน ผู้นำเข้าข้าวโพดรายใหญ่สุดของโลก เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ก็จะได้รับผลกระทบด้วยในฐานะที่นำเข้าข้าวโพดจากยูเครน 30%        

ภูมิภาคที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมของรัสเซียอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ใกล้ชายแดนยูเครน  ขณะที่แหล่งปลูกข้าวสาลีและข้าวโพดในยูเครนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและบางส่วนในภาคใต้ของประเทศ  หากรัสเซียบุกยูเครนและยูเครนตอบโต้จะเกิดความเสียหายแก่แนวพื้นที่เกษตรและส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ในตลาดโลกที่ขนส่งจากท่าเรือต่างๆในทะเลดำ      

ชาติตะวันตกอาจจะใช้มาตรการคว่ำบาตรด้วยการจำกัดการส่งออกข้าวโพดและข้าวสาลีเพื่อลงโทษหากรัสเซียบุกยูเครนจริง โดยทุกวันนี้ ความต้องการข้าวสาลีทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเพราะผลพวงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวบ่งชี้ด้านคุณภาพชีวิตที่เป็นผลพวงจากรายได้ประชากรเพิ่มขึ้นมีการปรับปรุงดีขึ้น แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวสาลีในแคนาดาและสหรัฐมีแนวโน้มลดลงในฤดูกาลปลูกปี 2564-2565 เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นและสภาพอากาศแห้งแล้ง

ขณะที่คาดว่าสินค้าคงคลังประเภทข้าวสาลีทั่วโลกจะหดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3ปีหากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์จะตึงตัวมากขึ้น

โดยเฉพาะข้าวโพดมีแนวโน้มที่จะมีผลผลิตลดลง โดยบราซิล ผู้ส่งออกรายใหญ่สุดอันดับสองของโลกกำลังเจอปัญหาสภาพอากาศร้อน แห้งแล้งและคาดการณ์ว่าผลผลิตในฤดูกาลปี 2564-2565 จะลดลงต่อไป

“สถานการณ์ด้านราคาข้าวโพดในยูเครนน่าเป็นห่วง”นาโอยูกิ โอโมโตะ หัวหน้ากรีน เคาตี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านธัญพืชมีฐานดำเนินงานในกรุงโตเกียว กล่าว

ส่วนหรวน เหว่ย หัวหน้านักวิจัยจากสถาบันวิจัยโนรินชูกิน ในโตเกียว กล่าวว่า ข้าวโพดในยูเครนไม่ได้เป็นข้าวโพดปรับแต่งพันธุกรรมและราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะการเงินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยดัชนีราคาอาหารที่องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอฟเอโอ)ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้น 135.7 ในเดือนม.ค.สูงกว่าเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา 1.1%