วิกฤติอาหารดันเงินเฟ้อศรีลังกาพุ่งทุบสถิติ 14%

วิกฤติอาหารดันเงินเฟ้อศรีลังกาพุ่งทุบสถิติ 14%

ราคาผู้บริโภคศรีลังกาเดือน ธ.ค. พุ่งสูง 14% ทุบสถิติ 11% ในเดือน พ.ย. ขณะที่วิกฤติขาดแคลนอาหารและพลังงานเลวร้ายลง

กรมสำมะโนประชากรและสถิติศรีลังการายงานว่า เงินเฟ้อประจำเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปีสูงสุดนับตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคแห่งชาติ (เอ็นซีพีไอ) เมื่อปี 2558 อยู่ที่ 14% เช่นเดียวกับเงินเฟ้ออาหารทุบสถิติ 21.5% เพิ่มขึ้นจาก 16.9% ในเดือน พ.ย. และ 7.5% ในเดือน ธ.ค.2563

ไม่กี่วันก่อนรัฐมนตรีอาวุโสแจ้งแก้รัฐสภาแล้วเรื่องวิกฤติอาหารเนื่องจากคาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวในเดือน มี.ค. จะได้ผลผลิตต่ำลงมาก หลังปีก่อนศรีลังกาห้ามนำเข้าเคมีเกษตรทำให้ชาวไร่ชาวนาทิ้งพื้นที่ทำกินไปกว่า 30% การใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่ามาตรการทำให้ผลผลิตผักผลไม้ต่อไร่ลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสั่งยกเลิกการห้ามนำเข้าเคมีเกษตรเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากชาวนาประท้วงหนัก แต่ธนาคารก็ยังไม่มีเงินดอลลาร์มากพอสำหรับใช้เป็นทุนนำเข้า

ซูเปอร์มาร์เก็ตถึงขนาดต้องปันส่วนนมผง น้ำตาล ถั่วเลนทิล และสินค้าจำเป็นอื่นๆ เป็นเวลาหลายเดือน เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งเตือนเมื่อเดือนก่อนว่าจะออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อจัดหาข้าวของจำเป็นให้คนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน

 

นายอุทิศ ชยสิงเห รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเรียกร้องให้มีโครงการปันส่วนอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างหลักประกันว่า มารดา คนชรา และคนป่วยจะมีอาหารรรับประทาน แต่ก็ถูกปลดจากตำแหน่งหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง

ทั้งนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาลดลงมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ดำรงตำแหน่งในปี 2562 จาก 7.5 พันล้านดอลลาร์เหลือ 3.1 พันล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นเดือน ธ.ค.ตัวเลขปัจจุบันพอสำหรับการนำเข้าสินค้าได้เพียงสองเดือนเท่านั้น

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับศรีลังกาด้วยเกรงว่าจะผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลยืนกรานว่า ใช้หนี้ได้