จับตา รมว.ต่างประเทศ‘สหรัฐ-รัสเซีย’หารือแก้วิกฤติยูเครน

จับตา รมว.ต่างประเทศ‘สหรัฐ-รัสเซีย’หารือแก้วิกฤติยูเครน

รมว.ต่างประเทศสหรัฐ-รัสเซีย หารือกันในเจนีวาแก้ปัญหายูเครน ที่วอชิงตันกังวลมากขึ้นว่าจะถูกรัสเซียบุกแม้ขู่ตอบโต้ไปหลายครั้งแล้วก็ตาม

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย มีกำหนดหารือกันที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ในวันนี้ (21 ม.ค.65) หลังจากที่รัฐมนตรีช่วยคุยกันเมื่อ 11 วันก่อนยาวนานเกือบ 8 ชั่วโมงโดยไม่ได้ข้อสรุปต้องมาคุยกันต่อ ในช่วงที่รัสเซียส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายประชิดชายแดนยูเครน

คาดว่าวันนี้ทั้งบลิงเคน และลาฟรอฟจะหารือกันอย่างรอบคอบ ขณะพิจารณาหนทางการทูตที่ยังพอเป็นไปได้

ทั้งสองคนเป็นนักการทูตประสบการณ์สูงที่พบปะกันมาแล้วหลายครั้ง บลิงเคนขึ้นชื่อเรื่องความสุขุม ส่วนลาฟรอฟกระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง การประชุมจะมีขึ้นที่ “โรงแรมประธานาธิบดีวิลสัน” โรงแรมหรูริมทะเลสาบตั้งชื่อตามประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ตัดสินใจแทรกแซงการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิก

“เรากำลังเผชิญปัญหายาก ไม่สามารถแก้ได้อย่างรวดเร็ว ผมไม่หวังว่าจะแก้ไขอะไรได้ในการประชุมที่เจนีวา แต่เราสามารถสร้างความเข้าใจกันได้มากขึ้น”บลิงเคน กล่าวถึงการประชุมและว่า ถ้ารัสเซียทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ไม่บานปลาย “ก็จะนำเราพ้นจากวิกฤติภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า”

ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประเมินสถานการณ์แบบตรงไปตรงมาเมื่อวันพุธ (19 ม.ค.65) เป็นไปได้ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะรุกรานยูเครน พร้อมเตือนว่า “รัสเซียจะเจอหายนะ” ถ้ารุกรานเมื่อใดสหรัฐและพันธมิตรจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ดิมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ตอบโต้ว่า ความเห็นของประธานาธิบดีไบเดนกำลังบั่นทอนเสถียรภาพ “และอาจสร้างความหวังให้กับพวกหัวร้อนในยูเครนด้วยความหวังผิดๆ”

ส่วนรัสเซีย ซึ่งจุดชนวนการก่อความไม่สงบในยูเครนตะวันออกไปแล้ว คร่าชีวิตประชาชนกว่า 13,000 คนนับตั้งแต่ปี 2557 ต้องการ การรับรองว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ต้องไม่รับสมาชิกอดีตสหภาพโซเวียตหรือขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่เก่าของมอสโก

สหรัฐประกาศแนวคิด“ ไม่เป็นผู้เริ่มต้น” ไปก่อนแล้วพร้อมกล่าวหาว่า รัสเซียบั่นทอนระเบียบหลังยุคสงครามเย็นของยุโรปด้วยการข่มขู่ประเทศอื่นให้ยอมจำนน

ก่อนไปเจนีวา บลิงเคน เดินทางไปกรุงเคียฟของยูเครนก่อน จากนั้นได้คุยกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีที่กรุงเบอร์ลิน เมืองสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงยุโรปจากความแตกแยกภายในม่านเหล็ก

“การปล่อยให้รัสเซียละเมิดหลักการเหล่านั้นโดยไม่ต้องรับผิด จะฉุดรั้งเราทั้งหมดถอยกลับไปสู่ช่วงเวลาอันตรายและไร้เสถียรภาพยิ่งขึ้น ตอนที่ทวีปและเมืองนี้ถูกแบ่งเป็นสอง ด้วยภัยคุกคามสงครามพร้อมเกิดได้ทุกเมื่อ วนเวียนอยู่เหนือศีรษะเราทุกคน” บลิงเคนแสดงทัศนะ

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลไบเดนปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของรัสเซีย แต่กล่าวว่า ยินดีคุยกับรัฐบาลมอสโกเกี่ยวกับข้อกังวลด้านความมั่นคง ข้อเสนอหนึ่งของสหรัฐคือ รื้อฟื้นข้อจำกัดขีปนาวุธในยุโรปตามสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง ข้อตกลงสมัยสงครามเย็นที่รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกด้วยหาว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลง

นอกจากนี้รัฐบาลไบเดนยังเสนอการซ้อมรบที่โปร่งใสมากขึ้น รัสเซียไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอแต่กล่าวว่า ความกังวลหลักของตนคือ ยูเครน และเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ม.ค.) รัสเซียประกาศการซ้อมรบใหญ่ทางทะเลในแอตแลนติก แปซิฟิก อาร์กติก และเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อแสดงพลัง

บลิงเคนเรียกร้องให้ปูตินเลือกเส้นทางการทูตสันติ และหวังว่าจะหาจุดร่วมกันได้ ระบุ เขาจะไม่ตอบสนองข้อเสนอของรัสเซียกับลาฟรอฟ ที่รัสเซียเสนอมาเมื่อเดือนก่อนในฐานะร่างสนธิสัญญา

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์