พิกัดการระบาดโรค ASF ในหมูทั่วโลกล่าสุด

พิกัดการระบาดโรค ASF ในหมูทั่วโลกล่าสุด

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีแนวโน้มพบสูงขึ้นในบางประเทศ ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ หากยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาถูกจุด

เว็บไซน์กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ล่าสุดในประเทศที่ระบุในรายงานที่ยื่นต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) โดยพบเพิ่มขึ้นอีกสองประเทศในสัปดาห์นี้ 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ "ฮังการี" พบหมูป่าติดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 9 ตัวทั่วประเทศ โดยหมูป่าสี่ตัวตายแล้วและที่เหลือถูกฆ่าตาย

ขณะเดียวกัน "ลัตเวีย" ได้ยืนยันกรณีของโรค ASF ในหมูป่า 19 รายจากทั่วประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานของ OIE พบว่าหมูป่าหกตัวถูกพบหลังตายแล้ว ส่วนตัวอื่นถูกทำลายเพื่อป้องกันระบาดไวรัส

รายงานฉบับนี้มีขึ้นในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ หลังจากที่ "อิตาลี" ประกาศการระบาดของไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่แพร่ระบาดเฉพาะในภูมิภาคปีเยมอนเต ทางภาคเหนือของประเทศเท่านั้น

ในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ทางการไทยยังถูกกล่าวหาว่าปกปิดการระบาดของโรค ASF โดยเมื่อวันอังคาร (11 ม.ค.) ทางการไทยยืนยันว่า มีการระบาดไวรัส ASF ในตัวอย่างพื้นของอาคารโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งถือเป็นการยืนยันโรคอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศ

เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์กล่าวกับรอยเตอร์ว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ตรวจพบเชื้อบวกของโรค ASF จากทั้งหมด 309 แห่งที่เก็บรวบรวมตัวอย่าง ซึ่งรวมถึงตัวอย่างเลือดจากสุกรเลี้ยงในฟาร์มทั้ง 10 แห่ง และตัวอย่างที่พบกับพื้นที่อาคารโรงฆ่าสัตว์สองแห่งในจังหวัดที่เลี้ยงสุกรของประเทศไทย

ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พบโรคในหมูเลี้ยงที่ตายแล้วในประเทศไทย เมื่อเดือนที่แล้ว

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ไต้หวันออกประกาศเตือนห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศไทย หากพบจะถูกปรับหนัก หลังจากไทยยืนยันมีการระบาดโรค ASF ในสุกร  

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของไต้หวัน (CEOC) ระบุว่า บุคคลใดก็ตามที่พยายามนำเข้าเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์เนื้อหมูของประเทศไทยผ่านสนามบินและท่าเรือจะถูกปรับ 200,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 241,000 บาท

รัฐบาลไต้หวันได้ปรับปรุงประกาศการห้ามนำเข้าเนื้อหมูอย่างเป็นทางการในรอบสามปี โดยเพิ่มรายชื่อประเทศไทย อิตาลี และสาธารณรัฐมาซิโดเนียเหนือ

อย่างไรก็ตาม OIE ระบุว่า ไวรัส ASF เป็นโรคร้ายแรงของสุกรเท่านั้น และไม่ก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์