ไขข้อข้องใจ "หมู" ติดโรค “ASF อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” อันตรายแค่ไหน?

ไขข้อข้องใจ "หมู" ติดโรค “ASF อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” อันตรายแค่ไหน?

นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยเผยว่า โรค "ASF" จะติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงจาก "หมู" ที่ป่วยด้วยกันเองเท่านั้น ไม่มีการแพร่กระจายสู่คน แต่ทั้งนี้ก่อนนำเนื้อหมูไปปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาดและปรุงสุก 100% ก่อนรับประทานทุกครั้ง

นาทีนี้.. สิ่งที่กระทบกับปากท้องคนไทยมากที่สุด คงหนีไม่พ้น "หมูขึ้นราคา" โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ "หมูแพง" ขึ้นก็คือ เรื่องของโรคระบาดในหมูซึ่งเป็นปัญหาที่มีต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว

แล้วโรคระบาดหมู "ASF" ดังกล่าว มีที่มาอย่างไร? ทำไมจึงแพร่ระบาดในสัตว์กลุ่มสุกร รวมไปถึงราคาหมูที่ว่าแพงขึ้น แพงกว่าเดิมแค่ไหน? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

 

  • เกิดอะไรขึ้นกับหมูไทย?

โรคระบาดหมูในไทยเป็นโรคที่เรียกว่าอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ "ASF" หรือชื่อเต็มๆ คือ African swine fever ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรซึ่งมีหมูป่าเป็นแหล่งรังโรค และมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่า เป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก

 

  • ราคาหมูแพงสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงราคาขายปลีก สินค้าอาหารสดในกรุงเทพมหานคร โดยพบว่าราคาสุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) ณ 30 ธ.ค. 2564 มีราคาที่เพิ่มขึ้นสูงสุด และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ก็พบว่ามีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากิโลกรัมละ 20-30 บาท ซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชนในที่สุด 

ราคาสุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) ณ 30 ธ.ค. 2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 170-175 บาท เพิ่มสูงขึ้นจาก 27 ธ.ค. 2564 ที่กิโลกรัมละ 150-155 บาท โดยมีราคาเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปีที่ 167.50 บาท

ทั้งนี้ หากเช็คราคาหมูในปี 2564 ที่มีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อในปี 2565 เปรียบเทียบกับช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา จะพบว่าเดือน ธ.ค. 2563 เนื้อหมูมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 134 บาท 

ราคาเนื้อหมูเดือนธ.ค.ปี 2564 ถือว่ามีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่กิโลกรัมละ 175 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กรมการค้าภายในรายงานไว้ แต่หากสำรวจราคาในท้องตลาดทั่วไป จะพบว่าราคาเฉลี่ยเพิ่มไปที่กิโลกรัมละ 200 บาทแล้ว”

 

  • “หมู” ติดโรค “ASF” อันตรายต่อผู้บริโภคไหม?

สำหรับใครที่สงสัยว่าหมูที่ติดโรค ASF หรือ อหิวาต์แอฟริกาในสุกร สามารถกินได้ไหม? ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ให้ข้อมูลกับนิตยสารสาส์นไก่และสุกร ว่า สามารถรับประทานเนื้อหมูได้ตามปกติ 

อย่างที่ย้ำข้างต้นว่าโรค ASF จะติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงจากสุกรที่ป่วยด้วยกันเอง ไม่แพร่กระจายสู่คนหรือสัตว์ประเภทอื่น แต่ทั้งนี้ ก่อนนำไปปรุงอาหารควรล้างเนื้อหมูให้สะอาด และปรุงสุกทุกครั้งเพื่อความมั่นใจว่าเราได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดเชื้อ ปลอดภัย

นอกจากนี้ ควรงดบริโภคเนื้อหมูที่สุกๆ ดิบๆ และแนะนำว่าควรเลือกซื้อสินค้าจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์OK" ทั้งในตลาดสดและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์