ทุนญี่ปุ่นกัดฟันสู้เมินการเมืองเมียนมาระส่ำ

ทุนญี่ปุ่นกัดฟันสู้เมินการเมืองเมียนมาระส่ำ

แม้อนาคตของเมียนมาจะไม่มีความแน่นอนหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว แต่ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นบางรายยังคงปักหลักทำธุรกิจในประเทศนี้ต่อไป ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศนี้จะบรรเทาลง

 การสั่งปิดอินเทอร์เน็ต  การออกกฏระเบียบทางการเงินใหม่ๆที่สร้างความปวดหัวให้แก่นักธุรกิจต่างชาติ และการกดดันเป็นครั้งคราวจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเมียนมาล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและสร้างความรำคาญใจแก่นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น แต่พวกเขามองว่าปัญหาเหล่านี้ไม่เลวร้ายถึงขั้นทำลายความปรารถนาในการทำธุรกิจ     

“ฮิเดโนริ คุโรยานากิ” ผู้ก่อตั้ง Linklusion เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขาก่อตั้งบริษัท Linklusion เมื่อปี 2558 ในฐานะบริษัทให้บริการคลาวด์แก่กลุ่มผู้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์ที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนยากจน 4ปีต่อมา เขาเริ่มทำธุรกิจจัดส่งให้บรรดาค้าปลีกขนาดเล็กในเขตชนบท

“การส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นที่ผู้คนใช้เป็นประจำทุกวันเป็นธุรกิจที่มีค่าโดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองของเมียนมาไร้เสถียรภาพแบบนี้” คุโรยานากิ กล่าว

คุโรยานากิ  เริ่มให้บริการส่งสินค้าหลังจากรู้ว่าธุรกิจขนาดเล็กที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการจะมีปัญหาความยุ่งยากในการจัดหาสินค้าแก่ลูกค้าในชนบทบริษัทของเขาจึงสต็อกสินค้าที่ผู้คนนิยมประมาณ 300 ประเภทไว้ที่โกดังและทำการจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งโกดังทั้ง3แห่งของเขาตั้งอยู่ชานเมืองย่างกุ้งและว่าจ้างคนงาน 70 คน

คุโรยานากิ  หวังว่าจะเชื่อมเครือข่ายการจัดส่งในชนบทด้วยการบริการทางการเงินและสร้างเครือข่ายเพื่อจัดส่งข้อมูลข่าวสารและการบริการด้านต่างๆในอนาคต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1ก.พ.ปีที่แล้วที่กองทัพทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี         พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี)โดยอ้างว่าโกงการเลือกตั้ง คุโรยานากิ ก็รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจากเพื่อนๆและพนักงานในบริษัทที่ส่งข้อความบอกทางโทรศัพท์

ประมาณ 07.00 น.ของวันเดียวกันนั้น พนักงานก็มารวมตัวกันที่ออฟฟิศซึ่งอยู่ติดกับอพาร์ทเมนท์ของคุโรยานากิ  เพื่อแบ็กอัพข้อมูลบนคลาวด์เตรียมพร้อมเผื่อกองทัพเมียนมาสั่งปิดระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งแจ้งพนักงานในท้องถิ่นให้ระงับการส่งสินค้าชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย

อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา บริษัทของเขาจึงกลับมาให้บริการส่งสินค้าได้อีกแต่ทหารของกองทัพเมียนมาก็เปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงในเดือนมี.ค.ทำให้บริษัทจำเป็นต้องยุติการให้บริการสาขาทั้งหมดในช่วงเดือนเม.ย.ขณะที่ทหารเมียนมาเริ่มตั้งจุดตรวจบนทางหลวง 

“ทหารเมียนมาตั้งจุดตรวจและสุ่มสอบถามประชาชนที่เดินทาง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครอยากเสี่ยงเดินทางไปพื้นที่ชนบท”คุโรยานากิ กล่าว 

ส่วน“โทโมฮิโร ยามาอุระ” วัย 33 ปีเป็นผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นอีกคนที่ตัดสินใจทำธุรกิจในเมียนมาต่อไปท่ามกลางบรรยากาศทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเขาเป็นประธานบริษัท Finalsec ซึ่งให้บริการสอนภาษาอังกฤษทางออนไลน์ ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นคนเจน Zที่อาศัยในเมือง และบริษัทของเขาสอนภาษาอังกฤษให้นักศึกษามหาวิทยาลัยและคนหนุ่มสาวผ่านทางการประชุมทางออนไลน์แบบตัวต่อตัวส่วนครูผู้สอนก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถพูดภาษาอังกฤษคล่อง

การรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาและการประท้วงของประชาชนบ่อยครั้ง ทำให้บริษัทซึ่งมีนักเรียนเข้ามาเรียนภาษาอังกฤษ  860 คนในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว มีนักเรียนลดลงเกือบ 70% เหลือแค่ 280 คนเท่านั้นในช่วงสามเดือนข้างหน้า

“ดูแล้วเหมือนไม่มีอนาคต ทั้งครูและนักเรียนมองแง่ร้ายเกี่ยวกับอนาคต แต่ผมจะไม่ถอดใจง่ายๆ เพราะผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ชาวเมียนมารุ่นใหม่ย่อมต้องการเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้เปรียบเมื่อต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน”ยามาอุระ กล่าว