วิจัยอังกฤษชี้ กุ้ง-หมึก-ปู ไม่ควรถูกต้มทั้งเป็น อาจเข้าข่าย "ทารุณสัตว์"

วิจัยอังกฤษชี้ กุ้ง-หมึก-ปู ไม่ควรถูกต้มทั้งเป็น อาจเข้าข่าย "ทารุณสัตว์"

สหราชอาณาจักร กำลังทบทวนกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่ หลังมีงานวิจัยพบว่า หมึก ปู และล็อบสเตอร์ มีความรู้สึก และไม่ควรนำไปปรุงอาหารขณะที่พวกมันยังมีชีวิต เพราะอาจเข้าข่าย "ทารุณสัตว์"

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาทบทวนกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่ หลังมีงานวิจัยพบว่า หมึก, ปู, กุ้งก้ามกราม และล็อบสเตอร์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ทรมานได้ จึงไม่ควรนำไปปรุงอาหารขณะที่พวกมันยังมีชีวิต เพราะอาจเข้าข่ายการ "ทารุณสัตว์"

ประเด็นนี้เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการคนรักสัตว์และวงการอาหาร ผลการศึกษาครั้งนี้ยังอธิบายกลไกรับความรู้สึกของสัตว์เหล่านี้ด้วย รวมถึงในเมื่อสัตว์ทะเลเหล่านี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจไม่ต่างจาก หมู, ไก่, วัว แล้วการปรุงอาหารโดยนำพวกมันไปต้มทั้งที่ยังเป็นๆ อยู่ จะเหมาะสมหรือไม่? 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไขข้อสงสัยเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

 

 

  • "สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง" ก็เจ็บปวดเป็นเหมือนกัน

ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก London School of Economics กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาและพิจารณางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากถึง 300 ชิ้น เพื่อประเมินหลักฐานว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง* ก็สามารถรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ทรมานได้เช่นเดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลัง และควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสัตว์จำพวกอื่นๆ ที่มีการคุ้มครอง

*หมายเหตุ : ในที่นี้หมายถึงสัตว์ตระกูล Cephalopods เช่น หมึกสาย หมึกกล้วย หมึกกระดอง และสัตว์ตระกูล Decapoda เช่น ปู กุ้งก้ามกราม กั้ง ล็อบสเตอร์ และกุ้งเครย์ฟิช (Crayfish) 

โดยประเด็นนี้จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณากฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่ ภายใต้การอภิปรายในสหราชอาณาจักร
 

 

 

  • สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ถูกพิจารณาด้านสวัสดิภาพมากขึ้น

ลอร์ด แซค โกลด์สมิธ รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิภาพสัตว์ กล่าวในแถลงการณ์ร่างกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่ ระบุว่า มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า สัตว์ในกลุ่ม "เดคาพอด" และ "เซฟาโลพอด" (กุ้ง ปู หมึก) สามารถรู้สึกเจ็บปวดได้

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องถูกต้องอย่างที่สุด ที่กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงบทบัญญัติที่สำคัญนี้ และทำให้สวัสดิภาพสัตว์ได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง ในกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่นี้

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ยังไม่ถือเป็นกฎหมาย โดยต้องผ่านกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงผ่านการตัดสินใจของรัฐบาลว่าคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่มีความรู้สึกเหล่านี้มากน้อยเพียงใด 

 

  • กุ้ง ปู หมึก ไม่ควรถูกต้มทั้งเป็น

ในรายงานยังกล่าวด้วยว่า หมึก กุ้งก้ามกราม และปูไม่ควรต้มทั้งเป็น และรวมถึงมีการเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการขนส่ง และการฆ่าสัตว์จำพวก "เดคาพอด"  และ "เซฟาโลพอด" เพื่อนำไปประกอบอาหาร

ดร.โจนาธาน เบิร์ช รองศาสตราจารย์ที่ศูนย์ปรัชญาธรรมชาติและสังคมศาสตร์ของ London School of Economics และหัวหน้านักวิจัยในรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า หลังจากทบทวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้น สรุปได้ว่า สัตว์น้ำกลุ่มหมึก กุ้ง ปู ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นสัตว์ที่มีความรู้สึก ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอให้เพิ่มรายชื่อสัตว์กลุ่มนี้รวมอยู่ในขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ด้วย

อีกทั้ง London School of Economics ยังเสนอให้ต่อต้านรูปแบบการปฏิบัติทางการค้าในปัจจุบัน ที่มีผู้ค้าจำนวนหนึ่งชำแหละสัตว์กลุ่มนี้อย่างไม่เหมาะสม เช่น การลอกผิว แกะเปลือก การตัดก้านตา ควักลูกตา ขณะที่สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงวิธีการฆ่าที่รุนแรง เช่น การต้มสดโดยไม่ทำให้สัตว์น็อคด้วยความเย็นก่อน

 

  • นักวิทยาศาสตร์วัดความรู้สึก กุ้ง ปู หมึก อย่างไร?

จากรายงานชิ้นดังกล่าว ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการทดสอบถึง 8 วิธีที่แตกต่างกัน ในการวัดความรู้สึกของสัตว์กลุ่มนี้ เช่น การทดสอบความสามารถในการเรียนรู้, การค้นหาตัวรับความเจ็บปวด, การเชื่อมต่อระหว่างตัวรับความเจ็บปวดกับสมองบางส่วน, การตอบสนองต่อยาชาหรือยาแก้ปวด, การสร้างสมดุลระหว่างการสู้กับภัยคุกคามและการป้องกันการบาดเจ็บจากภัยคุกคาม เป็นต้น 

จากการทดสอบหลายๆ อย่างข้างต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่ชัดเจนว่า หมึกและปู เป็นกลุ่มที่สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้มากที่สุด ส่วน กุ้ง กั้ง และล็อบสเตอร์ ก็พบหลักฐานว่ารับรู้ความเจ็บปวดได้เช่นกัน แต่หลักฐานยังไม่แข็งแรงเท่ากลุ่มหมึกและปู

 

อ้างอิง : cnnvicespringnews

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์