MIT หรือจะสู้ IIT ลูกหลานอินเดียผงาดซิลิคอน วัลเลย์

MIT หรือจะสู้ IIT ลูกหลานอินเดียผงาดซิลิคอน วัลเลย์

ชาวอินเดียมากมายที่ไปประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของสหรัฐ ทำให้ประเทศนี้โดดเด่นชวนติดตามว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ประชาชนเก่งเทคโนโลยี

ปารัก อักราวัล ซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์ถือเป็นศิษย์เก่ารายล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชื่อดังของอินเดียที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีหลายพันล้านดอลลาร์ของสหรัฐ และสีวาณี นันกาโอนการ์ก็ต้องการเดินตามรอยเท้ารุ่นพี่

นักศึกษาหญิงวัย 22 ปีจากสถาบันเทคโนโลยีอินเดียบอมเบย์ (ไอไอที) สถาบันเก่าของอักราวัล เป็นบัณฑิตไอไอทีหนึ่งในหลายพันคน ที่ได้รับคัดเลือกจากกูเกิลเข้าทำงานในบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของสหรัฐ

“ตอนฉันได้ยินเรื่องของปารัก ฉันมีความสุขมาก ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอกูเกิล ก็เป็นเด็กไอไอที นี่คือเส้นทางสู่ความสำเร็จของฉัน” นันกาโอนการ์กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี  

อักราวัลจากทวิตเตอร์ถือเป็นซีอีโออายุน้อยที่สุดในกลุ่มบริษัทเอสแอนด์พี 500 เขามีอายุเพียง 37 ปี

เช่นเดียวกับซุนดาร์ พิชัย วัย 49 ปี ซีอีโออัลฟาเบตบริษัทแม่ของกูเกิล หลังจบจากไอไอทีเขาออกจากอินเดียมาเรียนต่อที่สหรัฐก่อนทำงานกับบริษัทอเมริกันหลายที่

ชาวอินเดียคนอื่นๆ ที่ได้ตำแหน่งใหญ่โตในบริษัทเทคโนโลยีสำคัญของสหรัฐ เช่น อาร์วินท์ กฤษณะจากไอบีเอ็ม และนิเกส อโรรา จากปาโลอัลโตเน็ตเวิร์ก พวกเขาเป็นศิษย์เก่าไอไอทีกันทั้งคู่ ผู้บริหารอินเดียคนอื่น เช่น สัตยา นาเดลลาจากไมโครซอฟท์ และสันธนู นาราเยนจากอะโดบี

เหล่าผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นอกจากอินเดียเป็นประเทศใหญ่แล้ว ปรากฏการณ์นี้ยังเป็นผลจากปัจจัยผลักดันและชุดทักษะอีกหลายตัว รวมถึงวัฒนธรรมการแก้ปัญหา ทักษะภาษาอังกฤษ และการทำงานหนักไม่หยุดไม่หย่อน

วิโนด โกสลา บัณฑิตไอไอทีและผู้ร่วมก่อตั้งซันไมโครซิสเต็มส์ เชื่อว่า หลังจากเติบโตมาในหลากชุมชน หลายวัฒนธรรม และหลากภาษา ชาวอินเดียมีความสามารถในการ “ฝ่าฟันสถานการณ์ซับซ้อน”

“การแข่งขันเรื่องเรียนในอินเดียและสังคมโกลาหลช่วยหล่อหลอมทักษะเพิ่มเติมจากการศึกษาด้านเทคนิคอันเข้มข้นที่ไอไอที” อภิมหาเศรษฐีนักธุรกิจร่วมลงทุนตั้งข้อสังเกต

สุดยอดหัวกะทิ

ซิลิคอนวัลเลย์ต้องการผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค จัดการชุมชนอันหลากหลายได้ และความเป็นผู้ประกอบการมาเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน

“ในด้านนวัตกรรม คุณต้องสามารถแหกกฎ ต้องไม่กลัว และคุณไม่สามารถอยู่รอดในอินเดียได้เลยถ้าไม่แหกกฎข้อใดข้อหนึ่ง หรือไม่สามารถรับมือกับระบบราชการไร้ประสิทธิภาพหรือการทุจริตได้ ทักษะเหล่านั้นมีประโยชน์มากเมื่อคุณกำลังสร้างนวัตกรรมในซิลิคอนวัลเลย์ เพราะคุณต้องท้าทายอำนาจอยู่เสมอ” วิเวก วัธวา นักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียให้ความเห็น

และพวกเขาก็มีคุณค่าจริงๆ เดือนนี้อูเบอร์ บริษัทบริการเรียกรถรายใหญ่ เสนอเงินปีแรกให้กับนักศึกษาไอไอทีบอมเบย์ 274,000 ดอลลาร์สำหรับการทำงานในสหรัฐ

การแข่งขันเพื่อเงินรางวัลก้อนใหญ่ขนาดนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ในอินเดีย ประเทศที่ประชากรกว่า 1.3 พันล้านคนมุ่งหวังเรื่องการศึกษามายาวนาน

ไอไอทีถูกมองว่า เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่ละปีมีนักเรียนสมัครเข้าเรียนกว่า 1 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยรับได้แค่ 16,000 คนเท่านั้น

ในเวลา 1 ปีครึ่งนันกาโอนการ์ต้องเรียนหนักถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์ นักศึกษาคนอื่นๆ บางคนเริ่มเตรียมตัวกันตั้งแต่อายุ 14 หรือ 15 ปี

“ลองนึกถึงการสอบเอ็นทรานซ์ที่ยากกว่าเอ็มไอทีและฮาร์วาร์ด 10 เท่า นั่นล่ะที่ไอไอทีเป็น คนที่สอบได้จึงเป็นสุดยอดหัวกะทิของประเทศ” วัธวาเปรียบเทียบ

สินค้าส่งออกใหญ่สุดของอินเดีย

ชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศตั้งเครือข่ายไอไอทีขึ้นในปี 2493 เขาต้องการบัณฑิตผู้ผ่านการฝึกอบรมอย่างดีด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์จำนวนมากมาช่วยก่อร่างสร้างประเทศหลังสิ้นสุดการปกครองของอังกฤษในปี 2490 แต่ความต้องการวิศวกรในประเทศน้อยกว่าที่ผลิตได้ บัณฑิตจึงต้องมองหาแหล่งงานในประเทศอื่นโดยเฉพาะในสหรัฐที่เริ่มปฏิวัติดิจิทัลจึงอยากได้แรงงานทักษะสูงจำนวนมาก

“ในทศวรรษ 60, 70 และ 80 หรือแม้แต่เข้าสู่ทศวรรษ 90 อุตสาหกรรมอินเดียยังไม่ถึงขั้นก้าวหน้า คนจำนวนมากที่ต้องการทำงานด้านเทคโนโลยีล้ำยุคจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องไปต่างประเทศ” เอ. สุดาร์ชาน รองผู้อำนวยการไอไอทีบอมเบย์กล่าว

อักราวัล, พิชัย และนาเดลลา ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีทำงานไต่เต้าในบริษัทที่น่าเชื่อถือ สั่งสมองค์ความรู้ในฐานะคนในพร้อมๆ กับได้รับความไว้วางใจจากผู้ก่อตั้งบริษัทชาวอเมริกัน และหลายปีมาแล้วที่ผู้ขอวีซาทำงานมีทักษะประเภทเอช1-บีกว่าครึ่งมาจากอินเดีย ส่วนใหญ่มาจากภาคเทคโนโลยี

เทเวศ กาปูร์ บัณฑิตไอไอที กล่าวว่า วิศวกรอินเดียตรงข้ามกับวิศวกรจากจีน ประเทศที่มีประชากรมากกว่า พวกเขามีทางเลือกในการหางานทำในประเทศหลังเรียนจบระดับบัณฑิตศึกษาในสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนโตเร็วมาก

ปรากฏการณ์นี้อาจจางหายไปเมื่อภาคเทคโนโลยีอินเดียเติบโตขึ้น เปิดโอกาสให้หัวกะทิอินเดียได้ทำงานในประเทศแต่สำหรับนันกาโอนการ์ การเติบโตเป็นผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีอย่างอักราวัลหรือพิชัยไม่ใช่ความคิดที่ไกลเกินตัว

“ทำไมจะไม่ล่ะ ต้องฝันให้ไกลสิ!” เธอกล่าวอย่างมุ่งมั่น