อเมซอนลงทุน5พันล้านดอลล์“ธุรกิจคลาวด์”อินโดนีเซีย

อเมซอนลงทุน5พันล้านดอลล์“ธุรกิจคลาวด์”อินโดนีเซีย

“อเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” (เอดับเบิลยูเอส) บริษัทในเครือของอเมซอน ดอท คอม ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสัญชาติอเมริกัน ประกาศแผนลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ในธุรกิจคลาวด์อินโดนีเซียในระยะ15ปีข้างหน้า

การเคลื่อนไหวของเอดับเบิลยูเอส ด้วยการตั้งบริษัทเอดับเบิลยูเอส เอเชีย แปซิฟิก(จาการ์ตา)รีเจียน เมื่อวันอังคาร(14ธ.ค.)ถือเป็นการรุกธุรกิจคลาวด์เป็นประเทศที่2ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ เป็นประเทศที่10ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 26 ของโลก

นั่นหมายความว่า ขณะนี้ลูกค้าอินโดนีเซียของเอดับเบิลยูเอส รวมถึงบรรดายูนิคอร์นเทคโนโลยีท้องถิ่น บริษัท และหน่วยงานรัฐ สามารถเปิดแอพพลิเคชั่นของตนและให้บริการผู้ใช้ได้ เช่นเดียวกับกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงของเอดับเบิลยูเอสจากศูนย์เก็บข้อมูลที่ตั้งอยู่ในอินโดนีเซีย
เอดับเบิลยูเอส ยังระบุเพิ่มเติมว่า มีแผนลงทุนประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียนผ่านโครงการใหม่ๆของกรุงจาการ์ตาที่รวมถึงการสร้างศูนย์ข้อมูลเพิ่ม

การเคลื่อนไหวของเอดับเบิลยูเอส มีขึ้นในช่วงที่รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากที่สุดอันดับ4ของโลกและมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตเพราะได้แรงหนุนจากบรรดายูนิคอร์นเทคโนโลยีตลอดจนบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ความต้องการด้านการบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่โรคโควิด-19ยังคงระบาดจนทำให้เกิดการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ จึงทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันด้านศูนย์ข้อมูลและการบริการคลาวด์ที่ดุดันที่สุดในเอเชีย เป็นปรากฏการณ์ที่บางส่วนถูกผลักดันจากข้อกำหนดของรัฐบาลที่ให้สร้างที่จัดเก็บข้อมูลในท้องถิ่น

เมื่อเดือนก.ค.“โจนส์ แลง ลาซาลล์”(เจแอลแอล) บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก ได้เผยแพร่รายงานระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ทำรายได้จากธุรกิจคลาวด์มากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 600 ล้านดอลลาร์ตามหลังสิงคโปร์ ที่ทำรายได้ 1,800 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่ารายได้จากธุรกิจนี้ของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าภายในปี 2568
 

“ความต้องการศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซียมาจากธุรกิจต่างประเทศและท้องถิ่นที่ปรับตัวหันไปพึ่งพาการบริการคลาวด์มากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย บริษัทบางแห่งกำลังปรับตัวหันไปเน้นการทำงานจากทางไกลมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนส่งให้ความต้องการคลาวด์คอมพิวติงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”เจแอลแอล ระบุ

นอกจากนี้ ผลศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของเอดับเบิลยูเอสยังระบุว่า แผนการใช้จ่ายและการดำเนินด้านต่างๆของบริษัทในภูมิภาคจะช่วยสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ท้องถิ่น 24,700 ตำแหน่งงาน รวมทั้งการก่อสร้าง การบำรุงรักษา ด้านวิศวกรรมและการสื่อสารด้านโทรคมนาคม อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทานของบริษัท 

และตลอดระยะ15ปีของแผนการลงทุนนี้ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ให้แก่อินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 10,900 ล้านดอลลาร์

เอดับเบิลยูเอส ผู้นำด้านการบริการคลาวด์คอมพิวติงในตลาดโลก เผยรายชื่อลูกค้าในอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ฮาโลด็อก (Halodoc) สตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่โรคโควิด-19ระบาด

เอ็มเอ็นซี กรุ๊ป กลุ่มบริษัทสื่อและอสังหาริมทรัพย์ ที่ขยายธุรกิจเข้าไปในการบริการด้านธนาคารดิจิทัลในปีนี้  โทโกพีเดีย กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ ทราเวโลกา ยูนิคอร์นด้านการท่องเที่ยวทางออนไลน์ SiCepat บริษัทให้บริการด้านการจัดส่ง และโพส อินโดนีเซีย บริษัทด้านไปรษณีย์ที่เป็นของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เอดับเบิลยูเอสไม่ใช่ผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในอินโดนีเซีย อาลีบาบา คลาวด์ หน่วยงานด้านคลาวด์ของอาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซสัญชาติจีนก็เข้ามาให้บริการในอินโดนีเซียก่อนหน้านี้แล้ว และเปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งที่3ในประเทศนี้ในเดือนมิ.ย.หลังจากเริ่มตั้งศูนย์ข้อมูลสองแห่งแรกในปี 2561 และ2562 ตามลำดับ

เทนเซ็นต์ โฮลดิงส์ กลุ่มบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตอีกรายของจีน ก็เปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในอินโดนีเซียในเดือนเม.ย.และประกาศแผนตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งที่2ในอนาคตอันใกล้

ด้านไมโครซอฟต์ บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันก็ประกาศเมื่อเดือนก.พ.ว่ามีแผนตั้งศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซียเช่นกัน