รถไฟ "จีน-ลาว" ความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

รถไฟ "จีน-ลาว" ความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ลาวเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่สร้างโดยจีนมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 3 ธ.ค. ด้วยความหวังว่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญกำลังตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วโครงการที่ต้องเวนคืนที่ดินเกษตรกรหลายพันคนมีประโยชน์แค่ไหน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เส้นทางรถไฟ 414 กิโลเมตรที่จะเปิดในวันพรุ่งนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) มูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ของจีน ที่ให้เงินทุนทำโครงสร้างพื้นฐานหวังเพิ่มอิทธิพลรัฐบาลปักกิ่งไปทั่วโลก

อนุพน พรมฮักสา เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี หวังว่ารถไฟสายใหม่จะทำให้ธุรกิจของเขาเป็นไปตามแผน ไร่ของอนุพนเคยผลิตสตรอว์เบอร์รีได้ปีละถึง 2 ตัน แต่โควิด-19 ระบาดสร้างความเสียหายให้กับการเก็บเกี่ยวในปีนี้

ปัจจุบันอนุพนต้องส่งสตรอว์เบอร์รีทางถนนไปยังเวียงจันทน์ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง เขาหวังว่ารถไฟสายใหม่จะลดเวลาขนส่งลงได้ครึ่งหนึ่ง อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังมาตั้งแคมป์ใต้แสงดาว เก็บสตรอว์เบอร์รีสดๆ ในไร่ของเขาได้ง่ายขึ้นด้วย

“ต่อไปนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเที่ยวที่ไร่กันหลายหมื่นคนเชียวล่ะ” เกษตรกรรายนี้กล่าวกับเอเอฟพี

เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเชื่อมเมืองคุนหมิงของจีนมายังเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่สุดท้ายแล้วจะเชื่อมผ่านไทย และมาเลเซียไปถึงสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ ลาวประเทศคอมมิวนิสต์ประชากร 7.2 ล้านคน มีรางรถไฟแค่ 4 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ตอนนี้รถไฟหัวกระสุนสีแดง น้ำเงิน ขาว จะวิ่งไปบนรางด้วยความเร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่าน 75 อุโมงค์ ข้าม 167 สะพาน จอดรับส่งผู้โดยสาร 10 สถานี

ส่งเสริมเศรษฐกิจ

ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดจนถึงเดือน เม.ย.ปีนี้ ลาวมีผู้ติดเชื้อแค่หลักหลายสิบคน กระนั้นเศรษฐกิจลาวก็ถูกเล่นงานเสียหายหนัก ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ปี 2563 การเติบโตของเศรษฐกิจลาวลดลงเหลือ 0.4% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี ความหวังว่าปีนี้จะฟื้นตัวได้ก็เลือนหาย เมื่อลาวต้องล็อกดาวน์รับมือการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 70,000 คนในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

จากรายงานธนาคารโลกแม้เส้นทางรถไฟจีนอาจช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การขนส่ง และการเกษตร แต่รัฐบาลลาวก็จำเป็นต้องปฏิรูปใหญ่ด้วย เช่น ปรับปรุงกระบวนการตรวจอนุญาตบริเวณพรมแดน

“รถไฟเส้นใหม่เป็นการลงทุนใหญ่ที่มีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจลาวได้ ช่วยให้ประเทศได้เปรียบในแง่ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นใจกลางแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สมบัด สุดทิวง ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานอาวุโสจากธนาคารโลกกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลาวก็สิ้นหวังหลังโดนโควิดเล่นงาน เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 80% ในปี 2563 จาก 4.7 ล้านคนในปี 2562

ก่อนโควิดระบาดนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวขึ้นรถบัสในเวียงจันทน์นั่งไป 4 ชั่วโมงถึงวังเวียง เส้นทางนี้ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงหากไปโดยรถไฟ

ในอดีต วังเวียงเคยเป็นฐานบัญชาการแนวหลังของซีไอเอ โด่งดังในแง่นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเข้ามาปาร์ตี้สุดเหวี่ยงจากนั้นรีแบรนด์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่เรือคายัค ล่องแพ ลวดสลิงตามแหล่งท่องเที่ยวในวังเวียงกลับร้างไร้นักท่องเที่ยว

ออสการ์ ทาลิตี ผู้จัดการทั่วไปบูติกโฮเต็ล “อินทิรา” ริมฝั่งแม่น้ำสอง เล่าว่า จากที่เคยถูกจองเต็มตอนนี้โรงแรมมีแค่นักท่องเที่ยวในประเทศช่วงสุดสัปดาห์เท่านั้น เขาหวังว่ารถไฟจีน-ลาวที่ช่วยลดระยะเวลาเดินทางจะช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคึกคักขึ้นมาได้

“ระหว่างทางผู้คนจะได้ชมวิวภูเขาสวยๆ ข้ามสะพาน ลอดอุโมงค์ เป็นทริปที่น่าตื่นตาตื่นใจบนรถไฟ” ทาลิตีจินตนาการถึงรถไฟจีน-ลาว

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

แม้ชาวบ้านจะมีความหวัง แต่ผู้สังเกตการณ์ลาวบางคนกังวลถึงประโยชน์ระยะยาวของโครงการ

“ปัญหาสำหรับลาวคือ เศรษฐกิจและภาคเอกชนของลาวอยู่ในตำแหน่งที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้หรือไม่” เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียแสดงทัศนะ

ชาวลาว 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบท ทำงานตรากตรำในไร่นาด้วยค่าแรงขั้นต่ำราว 116 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 3,874 บาท) ค่าโดยสารรถไฟจากเวียงจันน์ไปเมืองชายแดนบ่อเต้น 13.30 ดอลลาร์ (444 บาท) ถูกชาวเน็ตวิจารณ์ว่าแพงเกินไป

“เมื่อคุณดูความไม่เข้ากันระหว่างรถไฟแสนทันสมัยวิ่งผ่านชนบท จะเห็นความแตกต่างกันอย่างมาก บางคนอาจสงสัยว่าประชาชนชาวลาวจะได้ประโยชน์หรือไม่” เรย์มอนด์กล่าว

ขบวนการลาวเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า โครงการนี้ทำให้เกษตรกรและชาวบ้านราว 4,400 คนถูกเวนคืนที่ดิน หลายคนได้รับเงินชดเชยล่าช้า หรือได้รับเงินน้อยเกินไป

“อัตราเงินชดเชยต่ำมาก ถ้าคุณขอให้ชาวบ้านย้ายออกไป ถามว่าเงินแค่นี้จะพอหาที่ดินใหม่มั้ย” วิไล พรมมิไซ ส.ส.ลาวเคยแถลงต่อสภาเมื่อเดือน มิ.ย.ปีก่อน แต่สำหรับคนอื่นๆ พวกเขาพร้อมแล้วกับรถไฟจีน-ลาว

“ผู้คนคาดหวังกันสูงมาก รถไฟสายนี้คือความภาคภูมิใจของชาวลาว” ทาลิตีย้ำ