“Public Eye” อัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้ที่ความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญ

“Public Eye” อัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้ที่ความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญ

กรุงอัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้แถวหน้าของโลก พัฒนาระบบ “Public Eye” ขึ้นมาเพื่อจัดการกับความหนาแน่นในพื้นที่สาธารณะ ด้วยกล้องวงจรปิดและ AI “Public Eye” ทำงานอย่างไร จึงได้ชื่อว่าเป็นระบบ Crowd Monitoring ที่คิดถึงความเป็นส่วนตัวของผู้คนมาเป็นที่ 1

มหานครหลายแห่งของโลกได้วางแผนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Smart City กันมาหลายปีแล้ว อย่างเช่นที่ อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองอันดับต้นของโลกที่ได้ชื่อว่าเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ดีที่สุด อัมสเตอร์ดัมได้วางรากฐานการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะมาตั้งแต่ปี 2009

อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่จำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่าพลเมืองเองมาก จากการคาดการณ์ในปี 2019 อัมสเตอร์ดัมจะมีพลเมืองมากกว่า 1 ล้านคนในปี 2040 และจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากจาก 18 ล้านคนต่อปีในปี 2018 เป็น 23 ล้านคนในปี 2023 (ไม่แน่ใจว่าโควิดจะเข้ามาเปลี่ยนตัวเลขนี้มากน้อยแค่ไหน)

ด้วยตัวเลขความหนาแน่นนี้ อัมสเตอร์ดัมต้องรับมือด้วยกลยุทธ์หลายอย่าง ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ทั้งการโครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าที่เสถียร เครือข่าย 5G ซึ่งทำงานร่วมกันกับระบบ Cloud และ AI ให้ทุกกระบวนการเดินไปอย่างราบรื่นและเสถียรที่สุด เพื่อการใช้งานระดับเมืองและบุคคลจะทำให้ชีวิตพลเมืองดีขึ้น อัมสเตอร์ดัมมีการจัดการครอบคลุมทุกด้านที่ Smart City ต้องมี ตั้งแต่ Smart Energy การใช้พลังงานอัจฉริยะ, Smart Environment การออกแบบบริหารสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, Smart Governance หน่วยงานราชการอัจฉริยะ กับแพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและพลเมือง, Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ และ Smart Mobility  การเดินทางอัจฉริยะ

โดยทางอัมสเตอร์ดัมได้สื่อสารให้พลเมือง (และนักท่องเที่ยว) รู้และรับเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน ว่าเมืองมีการเก็บข้อมูลต่างๆ มาออกแบบการใช้งานเพื่อประโยชน์ของชาวเมืองอย่างไรบ้าง

 

สิ่งที่อยากพูดถึงในบทความนี้คือ Smart Mobility ซึ่งจะแปลว่าการเดินทางอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะ Smart Mobility ครอบคลุมถึงการเคลื่อนที่ของทั้งคน และยานพาหนะต่างๆ ความอัจฉริยะจึงอยู่ที่การบริหารความหนาแน่นของคนกับพื้นที่สาธารณะด้วยเป็นสำคัญ

  • Smart Urban Mobility

โครงการนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานของคนเดินถนน คนปั่นจักรยาน และการใช้ขนส่งมวลชน ด้วยเซ็นเซอร์มากมาย และวิธีเก็บข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อสังเกตการพฤติกรรมการเคลื่อนที่ การเดินทาง ทั้งการเดิน การปั่นจักรยาน การใช้ขนส่งมวลชน ซึ่งมีทั้งรถราง รถบัส และอื่นๆ ของทั้งพลเมือง และนักท่องเที่ยว (อัมสเตอร์ดัมมีการรณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัวมากว่า 50 ปี)   เพื่อให้การเดินทางแต่ละอย่างเชื่อมต่อกันไม่มีสะดุด ทำให้ผู้คนวางแผนการเดินทางตัวเองได้ ลดความหนาแน่นของพื้นที่ และยังดีต่อสิ่งแวดล้อม ในแง่ของการบริหารการใช้พลังงาน

“Public Eye” อัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้ที่ความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญ (ที่มาภาพ taap)

ภายใต้ Smart Urban Mobility มีโครงการย่อยต่างๆ เพื่อจัดการในแต่ละส่วน และส่งข้อมูลเชื่อมต่อทำงานร่วมกัน เช่น ALLEGRO เก็บข้อมูลคนเดินถนนและนักปั่น, MaaS เพื่อจัดการกับขนส่งมวลชน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการที่ใหม่คอยเฝ้าดูเพื่อความปลอดภัยของคนในเมืองด้วย

  • “Public Eye” การจัดการความหนาแน่นของเมือง และความเป็นส่วนตัว

ตั้งแต่ช่วงปี 2020 ทางเทศบาลกรุงอัมสเตอร์ดัมได้พัฒนาเทคโนโลยี Crowd Monitoring ขึ้นมาคือโครงการ “Public Eye” ซึ่งใช้ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดทั่วทั้งเมือง และระบบคอมพิวเตอร์หลายแพลตฟอร์มซึ่งมีอัลกอริธึมของ AI ตรวจจับและประเมินขนาด ความหนาแน่น ทิศทาง และความเร็วของการเคลื่อนที่ของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการเว้นระยะห่างของผู้คนในช่วงการระบาดของโควิด – 19

“อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นสูง และมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความน่ารำคาญ และบางทีก็อาจไม่ปลอดภัยได้” Boen Groothof ผู้จัดการโครงการซึ่งดูแลโครงการ Smart Mobility ของ City of Amsterdam’s Chief Technology Office กล่าว

Public Eye เริ่มโครงการนำร่อง 4 จุด คือ Johan Cruyff Arena สนามกีฬาประจำเมือง, ท่าเรือประวัติศาสตร์ Marineterrein (มารีนเทอเรน), ย่าน ‘living lab’ และ จัตุรัส Plien ’40-’45 เพื่อทดลองแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ถ้าในพื้นที่นั้นมีคนหนาแน่น หรือจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าไปจัดการได้ ยิ่งเมืองโตขึ้น ผู้คนที่มารวมตัวกันกลางเมืองก็ยิ่งเยอะขึ้น ทางเมืองก็ต้องการข้อมูลว่าจะจัดการอย่างไร หรือไม่ต้องทำอะไร ถ้ามีพื้นที่เหลือสบายๆ

ข้อมูลที่ได้นอกจากจะมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับ ยังทำงานกับสัญญาณไฟจราจรด้วย ซึ่งจะแจ้งเตือนข้อมูลเวลาที่พื้นที่ หรือสถานที่สาธารณะใดๆ เริ่มจะหนาแน่น หรือมีคนใช้บริการเต็ม โดยส่งข้อมูลไปยังแอพพลิเคชั่น และเวบไซต์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้พลเมืองเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ทั้งเครื่องมืออัจฉริยะที่พวกเขาพกติดตัว และป้ายดิจิทัลที่ติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ ในเมืองแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้คนสามารถวางแผนการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีคนเยอะเกินไป

“Public Eye” อัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้ที่ความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญ

(ที่มาภาพ taap)

ตัวอย่างเช่น ในช่วงโรคระบาด ที่ยิมถูกปิด อัมสเตอร์ดัมใช้ Public Eye กับลานกลางแจ้งที่คนชอบไปออกกำลังกาย ซึ่งอยู่ในมารีนเทอเรน ถ้าอัลกอริธึมตรวจจับได้ว่าคนอยู่ใกล้กันเกินไป ก็จะมีสัญญาณไฟ LED สีฟ้าเตือนขึ้นมา และถ้าคนเริ่มจะแน่นเกินไปแล้ว สัญญาณไฟก็จะขึ้นเป็นสีแดง ผลลัพธ์หนึ่งที่ได้จากโครงการนำร่อง ทำให้รู้ว่าแถวมารีนเทอเรน ผู้คนจะออกจากพื้นที่ก่อนเวลาเคอร์ฟิว และยังสามารถบอกได้ว่ามีคนมาว่ายน้ำแถวท่าเรือเพิ่มขึ้นในช่วงนั้นด้วย

  • ความเป็นส่วนตัวเมื่อมี “ตา” คอยเฝ้ามอง

แต่แน่นอน ระบบวิเคราะห์ผ่านวิดีโอนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่า ระบบอาจเปลี่ยนกล้องธรรมดาให้เป็น ‘การ์ดหุ่นยนต์’ ที่เฝ้ามองผู้คนต่อเนื่องตลอดเวลาหรือเปล่า ซึ่งจะทำให้คนเกิดความไม่สบายใจว่าถูกจับจ้องในทุกการเคลื่อนไหว หรือถูกแจ้งเตือนเพื่อเสียค่าปรับหรือเปล่า แต่ทางเมืองไม่ได้ต้องการหรือทำแบบนั้น ข้อมูลที่ได้มาจะนำมาใช้เพื่อดูแลและระวังไม่ให้พื้นที่นั้นๆ หนาแน่นเกินไป และให้คนสามารถวางแผนชีวิตตัวเองได้ต่างหาก

“Public Eye” อัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้ที่ความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญ

ระบบไม่ได้เก็บข้อมูลหน้าตา หรืออัตลักษณ์บุคคล (ที่มา taap)

เรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) คือ หัวข้อสำคัญที่หน่วยงานรัฐและผู้พัฒนาระบบใส่ใจ เพื่อให้ผู้คนสบายใจว่า ข้อมูลมหาศาลจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดวิธี ความเป็นส่วนตัวคือ สิ่งที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นของการออกแบบระบบ “เราตั้งมาตรฐานเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้คนไว้สูงมาก” Rechel Tienkamp จากเทศบาลกรุงอัมสเตอร์ดัม กล่าวไว้กับทาง Euro News

“Public Eye” อัมสเตอร์ดัม สมาร์ทซิตี้ที่ความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญ

Public Eye เก็บข้อมูลด้วยความร้อน แสดงข้อมูลในพื้นที่ท่าเรือมารีนเทอเรน (ที่มา taap)

ข้อมูลที่นำไปใช้วิเคราะห์นั้น ไม่ได้เก็บจากหน้าตาหรือลักษณะบุคคล แต่ดูจากระดับความร้อน (ที่ออกจากร่างกาย) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นหลัก และฟุตเทจวิดีโอต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกบันทึกเก็บไว้ ใช้แล้วก็รีเฟรชใหม่ทันที สิ่งที่เก็บนำมาใช้เป็นหลักคือจำนวนของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ และมีเพียงภาพไม่มากที่จำเป็นต้องเก็บไว้เพื่อการสอนระบบอัลกอริธึมให้เรียนรู้ ซึ่งจะถูกเก็บแบบเข้ารหัสเอาไว้ การที่เทศกาลเมืองดูแลระบบด้วยตัวเอง นอกจะจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของพลเมืองด้วย โดยมีการสื่อสารการทำงาน ผลลัพธ์ การใช้งาน และความโปร่งใสที่พร้อมให้ชาวเมืองตรวจสอบด้วย อย่างที่เรารู้กันดีว่าชาวอัมสเตอร์ดัมรักษาสิทธิของตัวเองแค่ไหน เพราะสามารถยื่นเรื่องขอตรวจสอบ มีสิทธิออกเสียงในโครงการที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา

หนึ่งในหัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ การให้พลเมืองเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) คือ คำนึงถึงการใช้ชีวิตส่วนรวมของผู้คนในเมืองที่จะมีผลซึ่งกันและกันให้อยู่ในเมืองได้อย่างสะดวก พอดี จัดการชีวิตได้ และยังคิดถึงความเป็นส่วนตัวด้วย

และการออกแบบระบบประมวลผลที่ซับซ้อนแบบนี้ต้องอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรและรวดเร็ว หากอยากรู้ว่า 5G สำคัญกับ Smart City ในมุมไหนอีก ห้ามพลาดงานสัมมนา 5G THAILAND BIG MOVE ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น. – 15.30 น. ลงทะเบียนได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/5GThailandBigMove สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02- 338-3000 กด 1

อ้างอิง: EARTH.ORGamsterdamsmartcityCity Today, AMS-InstituteEuro News, taap

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์