บนเส้นทาง Polyglot กับทูตมาร์ค กูดดิ้ง

บนเส้นทาง  Polyglot  กับทูตมาร์ค กูดดิ้ง

คำว่า Polyglot ซึ่งหมายถึงคนที่พูดได้หลายภาษา เป็นคำที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยกันนัก แตกต่างจากคำว่า Bilingual หรือคนที่พูดได้สองภาษา อย่างน้อยๆ ก็มีโรงเรียนหรือหลักสูตรสองภาษาให้เห็นอยู่มากมาย ว่ากันว่าในโลกนี้คนที่พูดได้มากกว่า 4 ภาษามีน้อยแค่ 3% ของประชากรโลก

ผู้เขียนเพิ่งรู้จักคำว่า Polyglot  เมื่อไม่กี่เดือนก่อนขณะกำลังดูคลิปทางยูทูบเพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษ ก็ไปเจอคลิปที่ชื่อว่า WOW! - Polyglot UK Ambassador Thai Fluency after 1 Year | Mark Gooding Language Analysis โพสต์โดยคุณ  Stuart Jay Raj ที่วิเคราะห์การพูดภาษาไทยของมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยอย่างจริงจัง ไล่เลี่ยกับช่วงที่สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรปล่อยคลิปแนะนำตัวทูตคนใหม่รายนี้

ทูตยูเคถือเป็นตัวอย่างของ Polyglot  เพราะนอกจากภาษาไทยที่สามารถพูดได้ดีหลังจากฝึกฝนเพียงหนึ่งปี ก่อนหน้านั้นทูตกูดดิ้งพูดภาษาจีนกลางได้อย่างเยี่ยมยอด  ผู้เขียนมีโอกาสได้พบปะกับทูตหลังจากเปิดตัวใหม่ๆ จึงสอบถามถึงเคล็ดลับในการพูดได้หลายภาษามาเล่าสู่กับผู้อ่านที่กำลังฝึกฝนภาษาต่างประเทศอยู่ในขณะนี้เพื่อเป็นกำลังใจ  ทูตกูดดิ้งเล่าว่า เรียนภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อมาทำงานในกระทรวงการต่างประเทศก็เรียนภาษาจีนกลางตามด้วยภาษาไทย และสามารถพูดภาษาสเปนได้เล็กน้อย 

การเรียนรู้ภาษายุโรปและเอเชียนั้นมีความแตกต่าง ท่านทูตเล่าว่าว่า คนที่พูดภาษาอังกฤษอยู่แล้วเมื่อมาเรียนภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมันย่อมง่ายกว่าเรียนภาษาเอเชีย แต่การเรียนภาษาจีนทำให้เรียนภาษาไทยง่ายขึ้นเล็กน้อยเพราะไวยากรณ์บางอย่างคล้ายคลึงกัน และเป็นภาษาที่ต้องใช้โทนเสียง อย่างไรก็ตาม การรู้ภาษาเอเชียภาษาหนึี่งมีประโยชน์ในการเรียนภาษาเอเชียอื่นๆ ส่วนที่ยากที่สุดในการเรียนภาษาไทยของทูตกูดดิ้งมีสองส่วน ส่วนแรกคือการเขียน ส่วนที่สองคือโทนเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งยากมากสำหรับชาวต่างชาติ 

นั่นคือความยากในมุมของคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แล้วมาเรียนภาษาไทย เช่นเดียวกับคนไทยที่กำลังฝึกภาษาอังกฤษซึ่งหลายคนยังพูดไม่ได้สักที ทูตยูเคแนะนำว่า การหมั่นฝึกฝนเป็นการดีมาก รวมถึงใช้ภาษาอย่างอิสระ ไม่ใช่แค่เรียนเรื่องซ้ำๆ แต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยกับผู้คน ดูทีวีภาษาอังกฤษ ใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นไปได้ก็ไปเที่ยวในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยได้มาก ได้ประสบการณ์การใช้ภาษาในชีวิตจริง ช่วยให้ฝึกฝนได้ดีขึ้น 

ทุกวันนี้แม้สื่อสารภาษาไทยได้แล้วแต่ทูตกูดดิ้งก็ยังฝึกฝนตลอดเวลา ซึี่งตอนนี้ไม่ใช่เรื่องยากแล้วเพราะท่านทูตใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะออกไปไหนก็สามารถพูดไทยกับใครก็ได้ ส่วนคำหรือประโยคภาษาไทยที่ยากที่สุด ทูตกูดดิ้งกล่าวว่า ด้วยตัวงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องพูดกันอยู่เสมอเช่น  “การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ” หรืออะไรทำนองนี้เป็นคำที่ยาก  บางครั้งก็มีคำที่ซับซ้อนมากด้านการเมือง การทหาร เป็นต้น 

นั่นคือประสบการณ์ของทูตยูเคตัวอย่างหนึ่งของ Polyglot ที่มองเผินๆ อาจดูคล้ายเป็นคนมีความสามารถด้านภาษาเหนือกว่าคนอื่่น แต่เหนือสิ่งอื่นใดความเชี่ยวชาญที่มีเป็นผลมาจากการฝึกฝน ลิเดีย มาโชวาช Polyglot คนดังเคยกล่าวไว้ใน Ted Talk หัวข้อ 

The secrets of learning a new language​ ​ที่มีผู้ชมเกือบ 6 ล้านคนว่า Polyglot แต่ละคนล้วนมีวิธีการฝึกภาษาแตกต่างกัน บางคนหัดออกเสียงซ้ำๆ บางคนเรียนรู้ศัพท์ 500 คำที่ใช้บ่อยในภาษานั้นๆ บางคนเริ่มต้นด้วยการศึกษาไวยากรณ์ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ หาวิธีเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ อย่างสนุกสนาน 

ได้ฟังคำแนะนำแบบนี้หลายคนคงมีกำลังใจฝึกฝนภาษาใหม่ๆ กันมากขึ้น เพราะในโลกที่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวอย่างทุกวันนี้ การรู้ภาษาต่างประเทศคือการเปิดโลกซึี่งไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงกับคนอาชีพนักการทูตเท่านั้น สำหรับทุกคนยิ่งสื่อสารภาษาได้มากย่อมมีโอกาสเข้าใจและแสวงหาโอกาสได้มากเช่นกัน