เปิดฉาก COP26 ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าชาติมั่งคั่งไม่รักษาคำพูด

เปิดฉาก COP26 ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าชาติมั่งคั่งไม่รักษาคำพูด

การประชุม COP26 เปิดฉากขึ้นอย่างเผ็ดร้อน ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมทำตามสิ่งที่เคยรับปากไว้

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เริ่มต้นขึ้นแล้ววานนี้ (1 พ.ย.) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ไม่กี่วันหลังจากกลุ่มประเทศจี20 ที่กรุงโรมของอิตาลี ไม่ได้ให้คำมั่นกับเส้นตายยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี 2593 เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิโลก

พวกเขาเพียงแค่ยอมรับ “ดำเนินการอย่างสำคัญ” ระงับการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิ “ภายในหรือราวกลางศตวรรษ” ไม่กำหนดกรอบเวลาเลิกใช้ถ่านหิน รับปากหลวมๆ เรื่องลดการปล่อยก๊าซมีเทนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ

เป็นเหตุให้เกรตา ธุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีนเดนต้องทวีตข้อความ “ในฐานะพลเมืองทั่วโลก เราขอให้คุณเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ปีหน้า เดือนหน้า ตอนนี้เลย” เธอขอให้ผู้ติดตามหลายล้านคนลงนามในจดหมายเปิดผนึกกล่าวหาว่าผู้นำโลกทรยศ

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ผู้นำโลกหลายคนใช้เวที COP26 แก้ตัว บางคนอาจให้คำมั่นสัญญาใหม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จากประเทศเจ้าภาพสหราชอาณาจักรมองว่า การประชุมครั้งนี้ถ้าไม่สำเร็จก็ล้มเหลวไปเลย

“ถ้าเราไม่อยากให้ COP26 ล้มเหลวก็ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง และผมมั่นใจว่าถ้ากลาสโกว์ล้มทุกอย่างก็ล้มหมด” นายกฯ จอห์นสันกล่าวกับผู้สื่อข่าว

แต่ความไม่ลงรอยกันในหมู่ประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่สุดของโลกทำให้ภารกิจนี้ไม่ง่าย ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ชี้ว่า จีนและรัสเซียไม่นำข้อเสนอไปปฏิบัติ

“ความน่าผิดหวังอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียและจีนไม่แสดงความมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย” ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเวทีจี20 แต่แผนการลดโลกร้อนที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงของเขาก็เจอแรงต้านในสหรัฐ

COP26 ตั้งเป้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้โลกเกิดหายนะตามมาตามการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลเช่นนั้นการประชุมจำเป็นต้องได้คำมั่นที่หนักแน่นยิ่งขึ้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ให้เงินทุนดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายพันล้านดอลลาร์ และออกกฎเพื่อนำข้อตกลงปารีสปี 2558 ที่เกือบ 200 ประเทศลงนามไปปฏิบัติ

คำมั่นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปัจจุบันทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.7 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้  สหประชาชาติจึงย้ำว่าเป้าหมายต้องสูงยิ่งกว่าเดิม เพราะโลกร้อนเป็นเหตุให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุ คลื่นความร้อน น้ำท่วมถึงขนาดคร่าชีวิตผู้คนมากขึ้น ปะการังตาย ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติถูกทำลาย

 COP26 มีกำหนดประชุมตั้งแต่ปี 2563 แต่โควิด-19 ระบาดทำให้ต้องเลื่อนมาจัดปีนี้ และเป็นการประชุมที่แตกต่างไปจากที่อื่นๆ ตัวแทน 25,000 คนต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะ และแต่ละวันต้องตรวจโควิดได้ผลเป็นลบจึงจะร่วมประชุมได้ วันที่ 1 และ 2 พ.ย. เป็นการแสดงสุนทรพจน์ของผู้นำโลก หลังจากนั้นเป็นการเจรจาด้านเทคนิค หากจะมีข้อตกลงใดๆ ก็เกิดขึ้นหลังวันสุดท้ายของการประชุม12 พ.ย.ไปแล้ว