งานวิจัยล่าสุด UNDP แนะผู้นำโลกเร่งแก้โลกร้อน เลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

งานวิจัยล่าสุด UNDP แนะผู้นำโลกเร่งแก้โลกร้อน เลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

UNDP จับมือคนดังทั่วโลกปล่อยแคมเปญ “Don’t Choose Extinction (อย่าเลือกการสูญพันธุ์)” สร้างความตระหนักรู้และคำนึงถึงผลกระทบจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อมนุษย์และโลก

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยแพร่งานวิจัยล่าสุด  พบว่า ทั่วโลกกำลังทุ่มงบประมาณถึง 4.23 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่ออุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการบริโภค เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซ และถ่านหินต่าง ๆ ในจำนวนนี้คิดเป็น 4 เท่าของจำนวนเงินที่ควรนำไปช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีผู้คนอยู่กับความยากจนเพื่อเร่งจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 ที่กำลังจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า

ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนเงินที่อุดหนุนเชื้อเพลิงสามารถจ่ายค่าวัคซีน COVID-19 ให้กับทุกคนในโลก หรือ คิดเป็นสามเท่าของจำนวนเงินต่อปีที่ควรนำไปใช้เพื่อขจัดความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลก เมื่อต้นทุนทางอ้อม อย่างต้นทุนสิ่งแวดล้อม ถูกรวมเข้ากับเงินอุดหนุนเหล่านี้ ตัวเลขดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นมีมูลค่าเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์ ตามการเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

อ่านข่าว : ส่องเวทีประชุม จี20 ผู้นำคุยอะไรกันบ้าง

ในทางกลับกัน บทวิเคราะห์ของ UNDP เน้นว่า กองทุนเหล่านี้ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเสียภาษีของประชาชน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างลึกซึ้ง และขัดขวางการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“วิกฤติ COVID-19 ได้เผยแง่มุมความล้าหลังของเศรษฐกิจโลกอยู่ อย่างการที่ทั่วโลกยังคงใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่ออุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนอาศัยอยู่ในความยากจนและวิกฤตการณ์สภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องถามตัวเองว่า การให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการใช้เงินสาธารณะอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่?" นาย Achim Steiner ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติกล่าว

เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนที่สร้างความไร้ประสิทธิภาพและความไม่ยุติธรรมในสังคมและสิ่งแวดล้อม IMF ระบุว่า จำนวนครึ่งหนึ่งของทรัพยากรสาธารณะที่ได้ใช้เพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะเป็นประโยชน์ต่อประชากรที่มีรายได้สูงถึง 20% ในประเทศกำลังพัฒนา

“การจัดการกับเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปัญหาทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปนั้นจำเป็นและเมื่อได้บรรลุแล้ว การหันมาช่วยเหลือคนจน สร้างงาน ปกป้องโลกควรเป็นขั้นตอนที่ควรดำเนินตามมา เราหวังว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเร่งการมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อการปฏิรูปบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยุติธรรมในทุกประเทศ”  นาย George Gray Molina หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำฝ่ายงานสนับสนุนนโยบายและโปรแกรมของ UNDP และผู้ร่วมเขียนงานวิจัย ระบุ 

รายงานฉบับนี้ ได้รับการเผยแพร่ก่อนถึงการประชุม G20 และ COP26 ที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมได้รับการยอมรับในบริบทความจำเป็นต่อการปฏิรูปการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายชั้นนำทั่วโลก ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศชั้นนำอย่าง IMF และธนาคารโลก (World Bank) รวมถึงนาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมากเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจังเช่นกัน

เพื่อเน้นย้ำถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อผู้คนและโลก UNDP จึงได้จัดทำวิดีโอสั้นร่วมรณรงค์การมีส่วนร่วมแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวโดยสัตว์ที่ได้สูญพันธุ์เลื่องชื่ออย่าง “ไดโนเสาร์” ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ผู้นำโลกเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและอย่าเลือกการสูญพันธุ์ นำโดยเหล่าผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมแคมเปญ Don't Choose Extinction (อย่าเลือกการสูญพันธุ์) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนว่า เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังทำลายความก้าวหน้าต่อการยุติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และกำลังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนร่ำรวย

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศคือภาคพลังงานซึ่งคิดเป็น  73% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น การปฏิรูปเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นก้าวแรกสู่การกำหนดราคาพลังงานอย่างถูกต้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความจริง’ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในฐานะที่เป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ระหว่าง 20-25% ภายในปี 2573 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปรับปรุงนโยบายด้านพลังงานเพื่อเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำและมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ หากดำเนินการได้สำเร็จ นโยบายเหล่านี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยชุดนี้ของ UNDP จึงสนับสนุนให้มีการตอบสนองต่อการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการวิเคราะห์เรื่องราวความสำเร็จที่รวบรวมจากหลายประเทศทั่วภูมิภาค พร้อมเสนอ ‘ชุดเครื่องมือ’ สำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปฏิรูปราคาพลังงาน ชุดเครื่องมือนี้ช่วยให้มีวิธีการที่เป็นขั้นตอนที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน รวมถึงการคุ้มครองรายได้และการชดเชยสำหรับกลุ่มที่ได้เปรียบน้อยกว่า

“เมื่อเราพิจารณาว่าเราจะจ่ายเงินเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลหมายความว่าเราเริ่มต้นอย่างมีประสิทธิภาพที่จุดลบ 423 พันล้านดอลลาร์” นาย Achim Steiner กล่าวเสริม การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นเรื่องท้าทายในหลายประเทศ เพราะแต่ละประเทศย่อมต้องกำหนดเส้นทางของตนเอง แต่เราก็ทราบว่า เราต้องย้ายออกจากแหล่งพลังงานเหล่านี้เพราะมีส่วนทำให้โลกของเราเสื่อมโทรม นอกจากนี้ แคมเปญ Don't Choose Extinction นำเสนอแพลตฟอร์ม Global Mindpool ที่รวมแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาที่สำคัญที่สุดในยุคของเรา ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงลึกจากทั่วโลกเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ วิกฤตในธรรมชาติ และความไม่เท่าเทียมกัน โดยแพลตฟอร์ม Global Mindpool จะสนับสนุนการดำเนินงานของ UNDP ในการให้ข้อมูลและจัดเตรียมผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนได้ดียิ่งขึ้น

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญได้ที่ https://dontchooseextinction.com/en/