ถึงเวลาอุตฯยางพาราเวียดนามปรับตัวรับกติกาใหม่ตลาดโลก

ถึงเวลาอุตฯยางพาราเวียดนามปรับตัวรับกติกาใหม่ตลาดโลก

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยางพารามีความเห็นตรงกันว่าการขาดความโปร่งใสในระบบห่วงโซ่อุปทานยางพาราเวียดนาม กำลังบั่นทอนอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้ซื้อยางพาราทั่วโลกเรียกร้องมากขึ้นให้ใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานด้านจริยธรรมและถูกกฎหมาย

“ฟอเรสต์ เทรนด์” รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ในปี 2563 เวียดนามเป็นแหล่งปลูกยางพารา อันดับ 5 ของโลก มีพื้นที่ปลูก 5,787,500 ไร่ แต่มีผลผลิตอยู่ในอันดับ 3 ของโลก ผลิตยางพาราได้ 1.22 ล้านตัน   

ข้อมูลจากฟอเรสต์ เทรนด์ ระบุด้วยว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ บล็อกยาง น่้ำยางข้น และผลิตภัณฑ์จากยางพารา อาทิ ยางรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และรองเท้ายางเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2,900  ล้านดอลลาร์ในปี 2558 เป็นเกือบ 5,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2563              

แต่บริษัทชั้นนำของโลกอย่างไนกี้และอะดิดาส ผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชื่อดังเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งผลิตยางพารามากขึ้น โดยบรรดาผู้ผลิตยางต้องได้รับการรับรองจาก the Forest Stewardship Council (เอฟเอสซี) มาตรฐานทางด้านอุตสาหกรรมในแง่ของการปฏิบัติตามเกณฑ์ด้านสภาพแวดล้อมและกฏหมาย แต่น่าเสียดายที่เวียดนามไม่มีซัพพลายเออร์รายใดเลยที่มีใบรับรองจากเอฟเอสซี

 “ฟุก ซวน โท” นักวิเคราะห์ด้านนโยบายระดับอาวุโสจากฟอเรสต์ เทรนด์ มีความเห็นว่า อุตสาหกรรมยางพาราเวียดนามส่วนใหญ่ไม่มีแนวโน้มว่าจะผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่เอฟเอสซีกำหนด เพราะเครือข่ายระบบห่วงโซ่อุปทานที่ไร้ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรายย่อย 265,000 ราย และบริษัทอีกหลายร้อยแห่ง
 

นอกจากนั้น เวียดนามยังมีปัญหานำเข้ายางดิบจากกัมพูชาและลาว แล้วนำมาผสมกับยางที่ผลิตในประเทศ จึงเกิดคำถามต่อการจัดการยางในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มักมีข้อพิพาทที่ดินและการตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ

 “ระบบห่วงโซ่อุปทานยาวและในหลายๆเคสไม่สามารถแกะรอยผลผลิตตามห่วงโซ่อุปทานได้ ”ซวน โท กล่าว

ยางพารานำเข้าส่วนใหญ่มาจากบริษัทเวียดนามที่ปลูกยางพาราในกัมพูชาและลาว อย่างเช่นบริษัทเวียดนาม รับเบอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลเวียดนาม ได้รับการรับรองเอฟเอสซีให้ผลิตยางในกัมพูชาได้ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในปี 2558 ในฐานะที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินของพวกเขา

นอกจากนี้ สถิติที่ไม่สอดคล้องกันก็ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยางพาราเวียดนามไม่สดใสเท่าที่ควร โดยข้อมูลด้านศุลกากรของเวียดนามบ่งชี้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีการนำเข้ายางพาราดิบปริมาณ 392,000 ตันจากกัมพูชา ซึ่งมากกว่าปริมาณนำเข้าโดยรวมในปี 2563 ราว 1.5 เท่า และมากกว่าปี 2562 เกือบ 50 เท่า 

แต่ข้อมูลด้านศุลกากรของกัมพูชาระบุว่า การส่งออกยางโดยรวมของประเทศมีแค่ 102,800 ตันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

กระทรวงเกษตรของกัมพูชา ซึ่งกำกับดูแลหน่วยงานด้านยางพาราของประเทศ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข้อซักถามในเรื่องนี้จากเว็บไซต์สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย

"ฌอง-คริสตอฟ ไดพาร์ท" นักวิจัยด้านการเกษตรมีฐานดำเนินงานอยู่ในกัมพูชา ให้ความเห็นว่า ผลผลิตยางพาราส่วนใหญ่ในกัมพูชาถูกส่งไปเวียดนามในฐานะยางดิบผ่านช่องทางไม่เป็นทางการ และการค้าในรูปแบบนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากราคายางพาราร่วงลงในปี 2555

ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อและแบรนด์ดังทั่วโลกเรียกร้องให้เวียดนามและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มความโปร่งใสในระบบห่วงโซ่อุปทานยางพาราให้มากกว่านี้และยืนยันว่าถ้าเวียดนามทำได้ผู้ซื้อทุกคนก็พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อยางพาราจากเวียดนาม

“สเตฟาโน ซาวิ”ผู้อำนวยการโกลบอล แพลทฟอร์ม ฟอร์ ซัสเทนเอเบิล แนชเชอรัล รับเบอร์ ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 50% ของปริมาณยางพาราดิบทั่วโลก กล่าวว่า กลุ่มฯต้องการเห็นผู้ซื้อร่วมกันใช้ทรัพยากรเพื่อช่วยให้กลุ่มผู้ผลิตยกระดับมาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้น