"เวียดนาม"ล็อกดาวน์นานเกินเหตุ สะเทือนแบรนด์เสื้อผ้าดัง

"เวียดนาม"ล็อกดาวน์นานเกินเหตุ สะเทือนแบรนด์เสื้อผ้าดัง

การล็อกดาวน์อันเข้มงวดยาวนานของเวียดนาม ส่งผลให้สินค้าขาดแคลนทั่วโลกตั้งแต่รองเท้า เสื้อกันหนาว ไปจนถึงอะไหล่รถยนต์และกาแฟ

ความปั่นป่วนของโรงงานเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงและกังวลต่อเนื่องไปถึงจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่โรงงานย้อมผ้าทางตะวันออกของกรุงฮานอย คลาวเดีย อันเซลมี ผู้อำนวยการชาวอิตาเลียน โรงงานฮุงเหยินนิตติงแอนด์ดายอิง หัวใจสำคัญในซัพพลายเชนแบรนด์เสื้อผ้ายุโรปและสหรัฐหลายแบรนด์ กังวลทุกวันว่าโรงงานจะอยู่รอดหรือไม่ หลังผลผลิตร่วงลง 50% เพราะโดนโควิดระบาดครั้งหนักสุดของเวียดนามเล่นงาน ทั้งยังเผชิญปัญหาหาเส้นใยมาทำใยสังเคราะห์ไม่ได้

อันเซลมีกล่าวว่า ตอนแรกโรงงานไม่มีคนทำงานเพราะทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ต่อมาก็ไม่มีเส้นใยมาทำใยสังเคราะห์ใช้สำหรับชุดว่ายน้ำและเสื้อผ้ากีฬาป้อนแบรนด์ดังอย่างไนกี้ อาดิดาส และแก็ป

“ตอนนี้ข้อจำกัดการเดินทางทำลายโลจิสติกส์เข้าออกทั้งหมด เกิดความล่าช้ามานานมาก เราจะอยู่รอดได้วิธีเดียวคือเรามีสต็อก”

ขณะที่เวียดนามค่อยๆ ผ่อนคลายข้อจำกัดทั่วประเทศเนื่องจากการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนหลายล้านคนต้องอยู่บ้านมานานหลายเดือน จุดตรวจที่ซับซ้อนผนวกกับระเบียบอนุญาตเดินทางที่สับสนทำให้ธุรกิจและคนขับรถบรรทุกเคลื่อนย้ายสินค้าไม่ได้เลย

ฮัมซา ฮาร์ตี กรรมการผู้จัดการเอฟเอ็ม โลจิสติกส์เวียดนาม เผยกับคณะกรรมการหอการค้าฝรั่งเศสในกรุงฮานอยว่า คนขับรถหลายคนในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงถูกบีบให้คอยในรถโดยไม่มีอาหาร ไม่มีอะไรเลยสามวันสามคืน กว่าจะเข้าเมืองคันโถ่ได้

ความล่าช้าและข้อจำกัดคุมโควิดสร้างความปวดหัวให้กับธุรกิจต่างประเทศ หลายแห่งเพิ่งย้ายฐานจากจีนมาเวียดนามได้ไม่กี่ปีผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง

ในภาคใต้ ศูนย์กลางความพยายามต่อสู้โควิด-19 สมาคมสิ่งทอและเสื้อผ้าเวียดนาม (วิตาส์) กล่าวในเดือน ส.ค.ว่า ซัพพลายเชนอุตสาหกรรมสิ่งทอพังไปถึง 90%

ไนกี้ ที่เพิ่งเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์กีฬาและปรับลดคาดการณ์ยอดขาย ชี้นิ้วไปที่เวียดนาม เนื่องจากโรงงานไนกี้เกือบ 80% อยู่ในภาคใต้ โรงงานเสื้อผ้าไนกี้ในเวียดนามปิดไปเกือบครึ่ง

ทั้งนี้ รองเท้ากีฬาไนกี้ราวครึ่งหนึ่งผลิตจากเวียดนาม แม้โรงงานบางแห่งตั้งระบบให้พนักงานกิน ทำงาน นอนที่โรงงานได้ตามระเบียบล็อกดาวน์ แต่ก็เพิ่มต้นทุน

ด้านฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์ดัง “ยูนิโคล” ก็โทษสถานการณ์ในเวียดนามทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนล่าช้า ขณะที่อาดิดาสกล่าวว่า ปัญหาซัพพลายเชนรวมทั้งในเวียดนาม อาจทำให้ยอดขายเสียหายมากถึง 585 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี

แม้มีแนวโน้มว่าเวียดนามจะผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่หลายแบรนด์ก็วิตกกังวลกับผลกระทบระยะยาวจากการผลิตของเวียดนาม ไนกี้และอาดิดาสยอมรับว่า กำลังหาทางผลิตที่อื่นชั่วคราว

สมาคมธุรกิจชั้นนำที่เป็นตัวแทนสหรัฐ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ส่งเสียงเตือนเรื่องย้ายการผลิตออกจากเวียดนาม พร้อมระบุว่า สมาชิก 20% ย้ายไปแล้ว

“เมื่อย้ายการผลิตไปแล้วก็ยากที่จะกลับมา” สมาคมผู้ผลิตเตือน

เหวียน ถิ อันห์ เตว็ต ผู้ช่วยผู้อำนวยการแมกซ์พอร์ต เวียดนาม ว่าจ้างพนักงาน 6,000 คนผลิตเสื้อผ้ากีฬาให้แบรนด์ลูลูเลมอน เอสิคส์ และไนกี้ เล่าว่า บริษัทมากว่าลูกค้าจะยกเลิกคำสั่งซื้อ แม้แมกซ์พอร์ตจะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่โชคดีเอาตัวรอดได้ในช่วงหลายเดือนที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง

 “ถ้าไม่มีลูกค้าต่างชาติ คนงานของเราก็ตกงาน”ผู้ช่วยผู้อำนวยการแมกซ์พอร์ตกล่าว

กาแฟ-รถยนต์

โควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่อุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามเท่านั้น แต่ยังบั่นทอนซัพพลายกาแฟโลกด้วย เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้ผลิตกาแฟโรบัสตารายใหญ่สุดของโลก กาแฟพันธุ์นี้ใช้ทำกาแฟสำเร็จรูป ตอนนี้ราคากาแฟสูงสุดในรอบ 4 ปี

บริษัทรถยนต์ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน โตโยต้าลดการผลิตประจำเดือน ก.ย.และต.ค. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบหนักในเวียดนามและมาเลเซีย ปัญหายิ่งแย่ลงเมื่อความต้องการในโลกตะวันตกเพิ่มขึ้นหลังพ้นช่วงดีมานด์ตกต่ำจากโควิดแล้ว

สำหรับอันเซลมีเชื่อว่า บริษัททั้งหลายยังคงอยู่กับเวียดนามต่อไป ถ้าสามารถกลับมาเป็นปกติได้บ้างในเดือนต.ค.นี้

“ถ้าเราอนุญาตให้โรงงานทำงานได้ ฉันคิดว่าเวียดนามก็ยังน่าเชื่อถือ”