หัวเว่ยจ้างนักวิทย์เพิ่มเมินแซงค์ชั่นสหรัฐฉุดรายได้

หัวเว่ยจ้างนักวิทย์เพิ่มเมินแซงค์ชั่นสหรัฐฉุดรายได้

หัวเว่ยจ้างนักวิทย์เพิ่มเมินแซงค์ชั่นสหรัฐฉุดรายได้ ขณะซีอีโอยืนยันบริษัทไม่มีปัญหาความวุ่นวายสับสน ในทางตรงกันข้ามกลับมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น และเป็นบริษัทที่ดึงดูดใจผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมงานมากขึ้น

   “เหริน เจิ้งเฟย” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)หัวเว่ย ระบุในการประชุมภายในบริษัทช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทยังคงเดินหน้าเพิ่มบุคลากรในองค์กร รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ

โดยในช่วงปลายปี 2562 และ2563 บริษัทได้ว่าจ้างพนักงานจำนวน 3,000 คน โดยกว่าครึ่งหรือ 53.4% ของพนักงานจำนวนนี้อยู่ในแผนกวิจัยและพัฒนา แม้จะเจอแรงกดดันทั้งจากรัฐบาลสหรัฐที่กีดกันไม่ให้บริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัทและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19       

“แม้ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา เราจะเจอกฏข้อบังคับมากมายจากสหรัฐแต่เราก็ไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์และการดำเนินธุรกิจของเรายังคงเหมือนเดิม

เช่นการจ่ายเงินเดือนและโบนัสแก่พนักงาน การเลื่อนขั้นพนักงานและการกระจายหุ้นของบริษัท บริษัทเราไม่มีปัญหาความวุ่นวายสับสน ในทางตรงกันข้ามกลับมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น และเป็นบริษัทที่ดึงดูดใจผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ”เหริน ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี

 การยืนยันเกี่ยวกับนโยบายของซีอีโอหัวเว่ยมีขึ้นในช่วงที่บริษัทหลายแห่งในจีนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เลือกใช้วิธีระงับการจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานและบางแห่งบังคับทางอ้อมให้พนักงานลาออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชยให้

 อย่างไรก็ตาม การทุ่มลงทุนด้านการวิจัยอย่างหนักของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนหลายแห่งทำให้จีนมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกเพิ่มขึ้นมากและเป็นที่จับตามองของบรรดาชาติตะวันตก

โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐ ที่แม้จะเปลี่ยนผู้นำเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ทีมบริหารประเทศชุดใหม่ของสหรัฐยังคงดำเนินนโยบายแข่งขันกับจีนในด้านนี้และเดินหน้าใช้มาตรการคุมเข้มด้านต่างๆเพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทจีนเข้าถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐ

 เมื่อปี 2562 ทบวงอุตสาหกรรมและความมั่นคง (บีไอเอส) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยและบริษัทในเครือไว้ในรายชื่อบริษัทหรือบุคคลที่ละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่าน

ส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ต้องการขายหรือถ่ายโอนเทคโนโลยีของอเมริกันไปยังบริษัทหรือบุคคลที่อยู่ในรายชื่อนี้ต้องขออนุญาตจากบีไอเอสก่อน และบีไอเอสสามารถปฏิเสธได้หากเห็นว่าการขายหรือถ่ายโอนนั้นจะทำร้ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐหรือผลประโยชน์ด้านนโยบายต่างประเทศ

เหริน กล่าวถึงคำประกาศขึ้นบัญชีดำของสหรัฐว่า “ทำให้เราไม่สามารถใช้บริษัทที่ดีที่สุดผลิตสินค้าที่ดีที่สุดออกสู่ตลาดโลกได้ แต่เราก็ปรับตัวด้วยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการที่สมเหตุสมผลเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป และใช้บริษัทที่เหมาะสมผลิตสินค้าคุณภาพสูงให้เรา ซึ่งผลที่ได้คือการทำให้เรามีผลกำไรมากขึ้น”

เคาท์เตอร์พอยท์ รีเสิร์ช เปิดเผยว่า เปิดเผยว่าในไตรมาส4ปี 2563 หัวเว่ยขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้ 33 ล้านเครื่อง ลดลงเฉลี่ยปีต่อปี 41% มีส่วนแบ่งตลาด 8% ทำให้เป็นบริษัทที่ทำยอดขายสมาร์ทโฟนอยู่ในอันดับ 6 ของโลก เทียบกับไตรมาส2ของปีเดียวกันที่บริษัททำยอดขายสมาร์ทโฟนได้มากที่สุดของโลก

การที่ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยร่วงลงไปอยู่อันดับ6นั้น ตามหลังออปโป้ และวิโว คู่แข่งสัญชาติเดียวกันและยังตามหลังแอ๊ปเปิ้ลและซัมซุง

ขณะที่คานาลิส ระบุว่า หัวเว่ยจำหน่ายสมาร์ทโฟนในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วได้ 32 ล้านเครื่องลดลงเกือบ 43% จากปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยหลุดจากท็อป 5 บริษัทที่ทำยอดขายได้มากที่สุดในโลกในรอบ6 ปี

“การคว่ำบาตรของสหรัฐทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในตลาดโลกลดลงอย่างมาก”แอมเบอร์ หลู นักวิเคราะห์จากคานาลิส รีเสิร์ช ระบุ

ส่วนในช่วง6เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้ 320,400 ล้านหยวน (49,670 ล้านดอลลาร์) ลดลงจาก 454,000 ล้านหยวนในช่วงเดียวกันของปีก่อน

และรายได้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และ2561 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และก่อนที่สหรัฐจะใช้มาตรการคว่ำบาตรหัวเว่ย 

ธุรกิจเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของหัวเว่ยได้รับผลกระทบหนักที่สุด รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึง 47% คิดเป็นความสูญเสียกว่า 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเพราะยอดขายสมาร์ทโฟนซึ่งแต่เดิมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัททั้งหมดลดลงอย่างมาก

ส่วนธุรกิจอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของหัวเว่ยก็มีรายได้ลดลงกว่า 14% เพราะการพัฒนาและนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ในประเทศจีนเติบโตช้าลง

ซีอีโอหัวเว่ย บอกด้วยว่า หากว่าที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับการว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆเข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้น และไม่ได้หารือเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่บรรดาศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิงหัวที่มาร่วมงานด้วย บริษัทก็คงไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆในการดำเนินธุรกิจในตลาดโลกที่สหรัฐและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อกีดกันบริษัท

ความเห็นของเหรินมีขึ้นในช่วงที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามแก้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมไฮ-เทคขาดแคลน อาทิ โรงงานผลิต หลังจากที่ทางการจีนประกาศแผนอันทะเยอทะยานที่จะสร้างเทคโนโลยีของตัวเองในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และควอนตัม คอมพิวติง ภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า

“จีนมีประสบการณ์จากภาวะฟองสบู่ทางเศรษฐกิจมาแล้ว ตอนนี้คนหนุ่มสาวที่มีความรู้จะหันไปทำสิ่งที่ให้ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนในเวลาอันรวดเร็ว และลงทุนน้อย จีนยังมีความล้าหลังหรือตามหลังประเทศอื่นอีกมากในเรื่องของผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นเครื่องจักร  อุปกรณ์ต่างๆและเทคนิคขั้นตอนการดำเนินงานตลอดจนการวิจัย”ซีอีโอหัวเว่ย กล่าว