จีน-อินเดียตัวการหลักดันราคาถ่านหินพุ่ง

จีน-อินเดียตัวการหลักดันราคาถ่านหินพุ่ง

จีน-อินเดีย ต้นตอหลักดันราคาถ่านหินพุ่ง แม้มีความพยายามผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นแต่ในช่วง10ปีนี้ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ถ่านหินกันต่อไป

เว็บไซต์ข่าวนิกเคอิ นำเสนอรายงานว่าด้วยแนวโน้มการใช้พลังงานจากถ่านหินและราคาถ่านหินว่า ขณะนี้ราคาถ่านหินที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลพวงจากความต้องการถ่านหินในจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับสองประเทศนี้ยังไม่เต็มใจที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มสมรรถนะใหม่ๆในอุตสาหกรรมพลังงานยุคนี้ที่เน้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ให้น้อยที่สุด
อ่านข่าว : BANPU คาดไตรมาส 2/64 รายได้โตต่อเนื่อง รับราคาถ่านหิน-ก๊าซพุ่งแรง

ถ่านหิน โภคภัณฑ์ที่ทุกวันนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักเพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในปริมาณมาก แต่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชียสองแห่งอย่างอินเดียและจีนยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทนี้อยู่มาก นั่นหมายความว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยรวมปรับตัวขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหากว่าราคาถ่านหินไม่ลดลง

ดัชนีราคาถ่านหินเมื่อวันที่ 10ก.ย.อยู่ที่ตันละ 177.50 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า2เท่าตัวของระดับราคาในช่วงเริ่มต้นปีนี้ และเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ดอลลาร์จากเมื่อปีก่อน อีกทั้งราคานี้ยังเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี

“สิ่งที่เราจะเห็นคือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของบรรดานักลงทุน นักการเงิน รวมทั้งบริษัทต่างๆแม้ว่ามีความพยายามที่จะผลักดันให้ทั้งภูมิภาคใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในอนาคต แต่อย่างน้อยในช่วง10ปีนี้ ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ถ่านหินกันต่อไป ”เชอร์ลีย์  จาง หัวหน้านักวิเคราะห์จากวู้ด แมคเคนซี กล่าว

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นมากในปีนี้ ตั้งแต่อลูมิเนียม น้ำมัน ไปจนถึงทองแดงเพราะผลพวงจากความต้องการที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกๆของการแพร่ระบาดของของโรคโควิด-19 และการเข้าลงทุนของบรรดานักเก็งกำไร ทำให้ราคาถ่านหินทะยานมาถึง 110%  

ส่วนจีนและอินเดีย ที่รวมกันแล้วมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินประมาณ 65% ของปริมาณการใช้ถ่านหินทั่วโลกก็เป็นประเทศนำเข้าเชื้อเพลิงชนิดนี้รายใหญ่สุดเช่นกัน ตามมาด้วยญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยความต้องการที่เพิ่มขึ่้นมีปัจจัยหนุนจากความร้อนในช่วงฤดูร้อนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้มีความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่า บรรดาผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของจีนผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 13.2% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และจำเป็นต้องใช้ถ่านหินมากกว่านี้เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำพลอยลดลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จีนจึงนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 

ในอินเดีย หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักในช่วงต้นปีนี้  เศรษฐกิจอินเดียก็เริ่มฟื้นตัวและทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)รายไตรมาสช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.ขยายตัวมากสุดเป็นประวัติการณ์ จึงคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าและถ่านหินจะยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาลงและสิ้นสุดฤดูมรสุม

“ดูเหมือนว่าปริมาณถ่านหินที่มีอยู่และความต้องการจะไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดความปั่นป่วนในระยะสั้น เนื่องจากมีการลงทุนใหม่ๆในเหมืองถ่านหินน้อยมาก ในขณะที่บรรดาผู้ผลิตถ่านหินมีแรงจูงใจน้อยมากในการผลิตถ่านหินเพิ่ม” โนบุยูกิ คูนิโยชิ นักวิเคราะห์ตลาดถ่านหินจากเจแปน ออยล์ แก๊ซ และเมทัลส์ เนชั่นแนล คอร์ป (จ็อกเมค) ให้ความเห็น

ส่วนจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ นำเข้า และเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่สุดของโลกด้วยนั้นกลับออกมาตรการเข้มงวดเพื่อคุมเข้มอุตสาหกรรมถ่านหินทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรม หลังจากเกิดอุบัติเหตุกับเหมืองถ่านหินหลายครั้งด้วยกัน  รวมทั้งปฏิรูปอุตสาหกรรมนี้ด้วยการห้ามเหมืองขนาดเล็ก ที่ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอดำเนินการผลิต ผลที่ตามมาคือ ผลผลิตถ่านหินในประเทศเริ่มลดลงเรื่อยๆและทำให้ราคาถ่านหินแพงขึ้น

ที่ผ่านมา จีนพึ่งพาถ่านหินจากอินโดนีเซียและรัสเซียอย่างมาก หลังจากคำสั่งแบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียเริ่มมีผลบังคับใช้ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นและการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและรัฐบาลแคนเบอรา 

แต่อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่สุดของโลก ก็เริ่มควบคุมการส่งออกถ่านหินไปขายต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากฝนตกหนักทำให้กระบวนการผลิตประสบปัญหา

รัฐบาลอินโดนีเซีย ห้ามบริษัทเหมือง 34 แห่งในประเทศส่งออกถ่านหิน โดยระบุว่าที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการทำกำไรกับบริษัทต่างประเทศมากกว่าผลิตถ่านหินเพื่อรองรับความต้องการในประเทศ