‘UK’ หนุน ‘ไทย’ ยกระดับความร่วมมือกรีนไฟแนนซ์

‘UK’ หนุน ‘ไทย’  ยกระดับความร่วมมือกรีนไฟแนนซ์

"สหราชอาณาจักร" ประเทศชั้นแนวหน้า ด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน (Green Finance) หนึ่งในพันธกรณี เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นความท้าทายใหม่ระดับโลก 

‘เคน โอเฟลเฮนตี’ ทูตพิเศษด้านการประชุม COP26 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเอเชียใต้ กล่าวในงานสัมมนาทางออนไลน์ หัวข้อ “การเงินและการลงทุนสีเขียวเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว” จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย และธนาคารโลกว่า สหราชอาณาจักรมีแนวทางการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อนวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการปล่อยคาร์บอนต่ำภาคเศรษฐกิจ และยังกระตุ้นการลงทุนให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการลงทุนประมาณ 90 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

“การเปลี่ยนมาใช้ระบบการเงินที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม เป็นความท้าทายทุกประเทศและองค์กรที่ต้องทำร่วมกัน ไม่เพียงแต่ภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางการเงิน และเกิดกิจกรรมด้านคลังสาธารณะ (Public Finance)  เท่านั้น แต่ต้องทำควบคู่กับขับเคลื่อนกลไกการปล่อยคาร์บอนต่ำ และสร้างระบบการลงทุนที่ยืดหยุ่น” เอกอัครราชทูตโอเฟลเฮนตี ระบุ 

ทุกประเทศจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงกระแสการเงินยุคใหม่ให้สอดคล้องกับการลงทุนนับล้านล้านดอลลาร์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นธนาคาร บริษัทประกัน ธุรกิจเอกชน และบรรดานักลงทุนจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจตนเองสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

เมื่อเดือน พ.ย. 2563 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม” เน้นเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน เพื่อปรับโฉมภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2568 และต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่กรอบการทำงานด้านทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รูปแบบพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแสวงหาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อตลาดทุนระหว่างประเทศ เน้นการควบคุมมลพิษ ใช้พลังงานหมุนเวียน และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

162843728155

โอเฟลเฮนตี กล่าวว่า ประเทศไทย และสหราชอาณาจักรกำลังร่วมมือดำเนินงานผ่านโครงการพลังงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในอาเซียน ภายใต้กองทุน UK PACT Green Recovery Challenge Fund เพื่อสนับสนุนการเงินสีเขียว ใน 3 หลักการคือ 1.การกระตุ้นการลงทุนสีเขียว 2.ความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3.สร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อภาคการเงิน  

ประเทศชั้นแนวหน้า 'กรีนไฟแนนเชียล'

ในรายงาน The Global City.UK รายงานว่า สหราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางการธนาคารระดับโลก ตั้งแต่ตลาดทุน และธนาคารรายย่อย ไปจนถึงภาคธุรกิจฟินเทคที่มีการขยายตัวรวดเร็ว ซึ่งกำลังพลิกโฉมการธนาคารในอนาคต โดยที่สินทรัพย์ด้านการธนาคารของสหราชอาณาจักร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและใหญ่ที่สุดในยุโรป

ขณะที่กรุงลอนดอน เป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัท และภาคบริการทางเงินระดับมืออาชีพ แหล่งทุนจำนวนมาก และฐานนักลงทุนระดับโลกที่เข้าถึงได้ทั่วโลกอย่างแท้จริง การประกันภัยระดับโลก บริการด้านบัญชี กฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน และการแลกเปลี่ยนเงินตราใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างตลาดหลักทรัพย์ในกรุงลอนดอน มีพันธบัตรที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจเพื่อความยั่งยืนกว่า 260 รายการจาก 23 ประเทศ หรือมีการระดมทุนได้มากกว่า 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจกล่าวได้ว่า สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในศูนย์กลางชั้นนำด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีขนาดใหญ่กว่าอื่นๆ ในยุโรป และยังเป็น 1 ใน 5 ของโครงสร้างพื้นฐานด้านตลาดสินเชื่อในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA)

เร่งขยายโครงสร้างทางการเงินที่ยั่งยืน

โอเฟลเฮนตี มองว่า การพัฒนาโครงสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืนมีส่วนสำคัญมากสำหรับคนเจเนอเรชั่นใหม่ จะช่วยลดต้นทุนในทุกๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสามารถให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดและเชื่อถือได้กับนักลงทุนในระยะยาว 

“ตอนนี้ สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของเราอย่างมีนัยสำคัญ และเกิดอย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และแน่นอนว่า เราเห็นโอกาสทางการเงินที่ต้องคว้าเอาไว้” เอกอัครราชทูตโอเฟลเ ฮนตีกล่าว

162843741457

ศูนย์กลางบริหารจัดการสินทรัพย์ รองจากสหรัฐ

สหราชอาณาจักรยังมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น และมีมูลค่ากว่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ภายใต้การบริหารที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐ

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรให้บริการลูกค้ารายย่อยต่างประเทศ และสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก โดย 43% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีการจัดการมีมูลค่าประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์ และ 38% ของสินทรัพย์ในยุโรปทั้งหมดได้รับการจัดการในสหราชอาณาจักร รวมถึง 85% ของสินทรัพย์กองทุนป้องกันความเสี่ยงในยุโรป

ผู้นำไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ในยุโรป

ถ้าจะพูดถึงนวัตกรรมทางการเงินในสหราชอาณาจักร พบว่า ลูกค้า 8 ใน 10 รายเลือกทำธุรกรรมทางดิจิทัล เพราะเห็นถึงโอกาสที่ได้รับจากบริการด้านการเงินที่ต่างไปจากเดิม

ในมิติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของภาคการเงิน พบว่า กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลาง และตลาดใหญ่ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งมีการลงทุนด้านนี้มูลค่าเกือบ 8.3 พันล้านดอลลาร์

162843746931

รัฐบาลสหราชอาณาจักร ตำรวจลอนดอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่า สหราชอาณาจักรยังคงเป็นหนึ่งสถานที่ปลอดภัยที่สุดในโลกในการทำธุรกิจ

โอเฟลเฮนตี กล่าวในตอนท้ายว่า สหราชอาณาจักรหวังจะร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืนกับไทยให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตามที่มุ่งมั่นว่าในการประชุมสุดยอด ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ จะเป็นความหวังสูงสุดของเราในการรักษาเป้าการจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ตั้งไว้