‘อินเทล’ทวงคืนผู้นำโลก-ตลาดเซมิคอนดักเตอร์

‘อินเทล’ทวงคืนผู้นำโลก-ตลาดเซมิคอนดักเตอร์

“อินเทล” ผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รายใหญ่สุดของสหรัฐ เปิดเผยวานนี้(27ก.ค.)ว่าบรรลุข้อตกลงใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตชิพโมบายให้ควอลคอมม์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของซัมซุง และทีเอสเอ็มซี ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญครั้งแรกของอินเทล

หลายปีที่ผ่านมา อินเทล มีบทบาทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์น้อยลงและตามหลังบรรดาคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันในเอเชียหลังจากบริษัทประสบปัญหาล่าช้าในการนำชิพที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตก้าวหน้าเข้าสู่ตลาด และในปีนี้ บริษัทก็ยังคงเผชิญปัญหาต่างๆที่เป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันในการสร้างรายได้แต่อินเทลก็ให้คำมั่นว่าจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีจนก้าวตามบรรดาผู้นำอื่นๆในอุตสาหกรรม ทั้งทีเอสเอ็มซี และซัมซุงภายในปี 2567 ให้ได้จากนั้นในปี 2568 ก็จะทวงคืนความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิพโลกกลับคืนมา

คำประกาศนี้ของอินเทลมีขึ้นในขณะที่สหรัฐและประเทศอื่นๆพยายามพึ่งพาการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง เช่นกรณีสหรัฐ ที่เพิ่งอนุมัติเงิน 52,000 ล้านดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชิพในประเทศ ส่วนอินเทล และทีเอสเอ็มซีต่างก็ทุ่มเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านสร้างและขยายโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ

"เราตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตชิพจนก้าวตามบรรดาผู้นำอื่นๆในอุตสาหกรรม ทั้งทีเอสเอ็มซี และซัมซุงภายในปี 2567 จากนั้นในปี 2568 เราจะทวงคืนความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิพโลกกลับคืนมา เราเป็นผู้เล่นเพียงหนึ่งเดียวที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าและเราทำทั้งด้านวิจัย พัฒนาและผลิตในสหรัฐ"แพท เกลซิงเกอร์ ซีอีโออินเทล กล่าวในการประชุมด้านเทคโนโลยีทางออนไลน์

ที่ผ่านมา ซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างงานวิจัยจากยูเรเชียน กรุ๊ปส์ บริษัทที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตชิพเพียง 3 แห่งในโลกเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถที่เพียงพอสำหรับการผลิตชิพระดับสูงขนาด 7 นาโนเมตรลงไปได้ คือ อินเทล ซัมซุง และทีเอสเอ็มซี

ความเคลื่อนไหวของอินเทลครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่อินเทล เปิดตัวบริการ Intel Foundry Services เพื่อรับจ้างผลิตชิพให้บริษัทอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท และสร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นด้วยการเป็นทั้งผู้ออกแบบและผู้ผลิตชิพ

แผนธุรกิจใหม่ของอินเทลมีชื่อเรียกว่า IDM 2.0 ซึ่งเกลซิงเกอร์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา บอกว่า “IDM 2.0 เป็นกลยุทธ์ที่ดีเลิศ ซึ่งมีเพียงอินเทลเท่านั้นที่สามารถทำได้ และนับเป็นสูตรสำเร็จ โดยบริษัทจะใช้ IDM 2.0 เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด และผลิตผลิตภัณฑ์ทุกประเภทด้วยแนวทางที่ดีที่สุด”

เกลซิงเกอร์ กล่าวด้วยว่า บริษัทจะประกาศแผนขยายธุรกิจในสหรัฐและในยุโรปก่อนปลายปีนี้ เช่นเดียวกับทีเอสเอ็มซี ที่ยืนยันเมื่อไม่นานมานี้ว่า กำลังพิจารณาตั้งโรงงานผลิตชิพในเยอรมนี ซึ่งจะถือเป็นโรงงานผลิตชิพแห่งแรกของบริษัทในยุโรป

“มาร์ก หลู”ประธานบริษัททีเอสเอ็มซี กำลังหารือกับลูกค้าหลายกลุ่มเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงงานผลิตชิพในเยอรมนี

“เราอยู่ในขั้นเริ่มต้นเพื่อทบทวนแผนตั้งโรงงานผลิตในเยอรมัน ยังเป็นแค่การคุยกันในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่เรากำลังประเมินสถานการณ์ทุกอย่างอย่างจริงจังและการตัดสินใจในเรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นของลูกค้าเป็นหลัก”ประธานบริษัททีเอสเอ็มซี กล่าว

ความเห็นของประธานบริษัททีเอสเอ็มซี เป็นการส่งสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าบริษัทผลิตชิพที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดในโลกกำลังปรับตัวหลังจากดำเนินกลยุทธเน้นการผลิตชิพในไต้หวันมานานหลายสิบปี

ปัจจุบัน บริษัทได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตชิพมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ในแอริโซนา และกำลังพิจารณาตั้งโรงงานผลิตเวเฟอร์แห่งแรกในญี่ปุ่นและในโครงการล่าสุด โดยบริษัทกำลังหารือกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต

“ต้นทุนในการสร้างและดำเนินงานโรงงานผลิตชิพในญี่ปุ่นจะสูงกว่าในไต้หวัน ซึ่งเราได้หารือกับลูกค้าของเราโดยตรงเพื่อลดช่องว่างด้านต้นทุนที่นั่น”หลู กล่าว