โควิดหนุนหนี้สาธารณะชาติศก.ก้าวหน้าพุ่ง125%

โควิดหนุนหนี้สาธารณะชาติศก.ก้าวหน้าพุ่ง125%

โควิดหนุนหนี้สาธารณะชาติศก.ก้าวหน้าพุ่ง125% โดยช่วง5ปี ประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีสูงจะมีการเติบโตของรายได้จากการเก็บภาษีสูงด้วย เช่น สหราชอาณาจักร เศรษฐกิจขยายตัวกว่า 20% มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่ม 25%

ประเทศต่างๆทั่วโลกเพิ่มการใช้จ่ายด้านงบประมาณเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมากแตะระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าในปี 2564จะพุ่งเป็นประวัติการณฺ์ถึง 125%

เพื่อปรับสมดุลงบประมาณ การลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีความสำคัญมากกว่าการเก็บภาษีเพิ่ม หรือการใช้มาตรการรัดเข็มขัด เพราะในระยะยาวการเติบโตของจีดีพีจะเป็นตัวกำหนดรายได้จากการจัดเก็บภาษี

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.สถาบันเพื่อศึกษางบประมาณ ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดในสหราชอาณาจักร ประกาศว่าต้องคงตัวเลขหนี้สาธารณะที่100% ของรายได้ประเทศ รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องควบคุมงบประมาณให้ได้มากกว่า 40,000 ล้านปอนด์(52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ในปีงบประมาณ 2567 แต่กระทรวงการคลังอังกฤษ ดำเนินมาตรการต่างๆด้วยความระมัดระวัง

โดยในปีนี้ การปรับอัตราการจัดเก็บภาษีรายปีที่ตามปกติจะมีการปรับในช่วงฤดูใบไม้ร่วงตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย.-พ.ย.ได้ถูกเลื่อนออกไป หมายความว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีในกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ เช่น เชื้อเพลิง และสินทรัพย์ และริชี ซูนัก รัฐมนตรีคลังของอังกฤษระบุว่า ภาระกิจสำคัญอันดับแรกๆของกระทรวงการคลังคือการจ้างงาน

แต่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะบริหารการเงินการคลัง หรือบริหารงบประมาณให้เกิดสมดุลในระยะกลางถึงระยะยาวในขณะเดียวกันก็รักษาตำแหน่งงานของคนหลายล้านที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างไร

160376293662

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ออกรายงานเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ระบุว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านงบประมาณที่ยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศรอบใหม่และเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคำแนะนำครั้งนี้ของไอเอ็มเอฟ จะสวนทางกับคำแนะนำช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลก ซึ่งตอนนั้นไอเอ็มเอฟแนะว่าประเทศต่างๆควรเก็บภาษีเพิ่มและควรใช้มาตรการรัดเข็มขัด

“คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท”หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก เปิดเผยกับไฟแนนเชียล ไทม์ ในเดือนนี้ว่า “ขณะที่โลกกำลังต่อกรกับการระบาดของโรคร้าย เราควรทำอย่างไร? อันดับแรกคือกังวลเรื่องการสู้รบในสงครามเชื้อโรค จากนั้นก็เริ่มคิดถึงตัวเลขที่คุณต้องจ่ายไปกับการทำสงครามครั้งนี้”

เมื่อครั้งมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้จากการเก็บภาษีและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) พบว่า เมื่อจีดีพีขยายตัว รายได้จากการเก็บภาษีก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยรายได้จากการเก็บภาษีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% สำหรับ 36 ประเทศในโออีซีดี ไม่รวม โคลัมเบีย ซึ่งหมายความว่าถ้าจีดีพีขยายตัว 1% รายได้จากการเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1%

ช่วง5ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีสูงจะมีการเติบโตของรายได้จากการเก็บภาษีที่สูงเช่นกัน เช่นกรณีของสหราชอาณาจักร เศรษฐกิจขยายตัวกว่า 20% ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราที่ต่ำลงแต่รายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 25% และจะเห็นตัวอย่างคล้ายๆกันนี้ในชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ เช่น เยอรมนี เศรษฐกิจขยายตัว 19% แต่การเติบโตของรายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ 24% ในญี่ปุ่น เศรษฐกิจขยายตัว 10% แต่รายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 23%

160376296288

ประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จในการปรับสมดุลงบประมาณจะให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงยุค 1990 รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน จำกัดวงเงินใช้จ่ายด้านงบประมาณด้วยการลดการขาดดุลและเพิ่มการลงทุนด้าน“ทางด่วนข้อมูลข่าวสาร” รวมถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมไฮ-เทคที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในทุกวันนี้ อย่าง อเมซอน และกูเกิล ถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษนี้และเติบโตไปทั่วโลก

ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น งบประมาณปี 2541ของสหรัฐจึงเกินดุลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2512

ขณะที่ยุโรป กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคโควิด-19ระลอกสองและรัฐบาลของประเทศต่างๆอยู่ในภาวะที่ต้องพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านปีงบประมาณปัจจุบันไปให้ได้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนรัฐบาลทุกประเทศในยุโรปว่าให้ระวังผลพวงที่จะตามมาจากการดำเนินมาตรการต่างๆของพวกเขา

อย่าง “ราเกอรัม ราชัน” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกและอดีตผู้ว่าการนาคารกลางของอินเดีย เขียนบทความที่เป็นความเห็นเมื่อเดือนส.ค.ว่า หนี้สาธารณะก้อนโตของทุกประเทศจะถูกส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อไปในอนาคต และขณะที่ทั่วโลก พยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมา เขาก็มีความเห็นว่า ทางออกของปัญหาไม่ใช่การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายของรัฐบาลหรือการใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างมาก

แต่ก็มีบางคนมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น “ลอเรนซ์ บูน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี กล่าวว่า สำหรับผู้กำหนดนโยบาย การระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ผลักดันแผนการต่างๆที่จะทำให้เกิดการลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)เพื่อปรับปรุงระบบดิจิทัลที่จำเป็นมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว

ประเทศต่างๆที่มองหาวิธีการอันชาญฉลาดมากขึ้นในการใช้จ่ายงบประมาณและการเก็บภาษีจะเป็นผู้นำด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในยุโรป สหภาพยุโรป(อียู)ประกาศโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทั้งกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมถึงการเก็บภาษีคาร์บอนตามแนวพรมแดนและการเก็บภาษีพลาสติก