ผู้ผลิตสุราเอเชียหันพึ่ง 'แอลกอป็อป' กระตุ้นยอดขาย

ผู้ผลิตสุราเอเชียหันพึ่ง 'แอลกอป็อป' กระตุ้นยอดขาย

ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนักในหลายประเทศ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป บรรดาผู้ผลิตสุราในเอเชียพยายามปรับตัวด้วยการเจาะกลุ่มผู้บริโภค“แอลกอป็อป” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยรสชาติปรุงแต่งที่เทียบเคียงได้กับน้ำผลไม้

ในญี่ปุ่น การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้บังคับทางอ้อมให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารที่บ้านมากกว่าจะออกไปทานนอกบ้านเท่านั้น แต่ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมารับประทานผักและผลไม้มากขึ้นด้วย

"คิริน โฮลดิงส์" ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์รายใหญ่สุดอันดับ2ของญี่ปุ่นนำพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้มากระตุ้นยอดขายที่ซบเซาเพราะความต้องการเบียร์ลดลงเนื่องจากบาร์และร้านอาหารต้องยุติการให้บริการชั่วคราวตามมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อเดือนก.ย. บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นค็อกเทลสมูทตี้ผัก-ผลไม้ในรูปแบบ“แอลกอป็อป”ชื่อ“เวจี้บาร์”(VegeBar) ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มประเภทน้ำส้ม น้ำผักสีเขียว และน้ำมะเขือเทศ

สภาพของเครื่องดื่มประเภทแอลกอป็อปที่ปรากฏในขวดมีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างสุราผสมน้ำผลไม้บรรจุขวด ที่เรียกกันว่า อาร์ทีดี (RTD-Ready to Drink) บางชนิดมีฟอง รสชาติอิงความหวาน หรือ เปรี้ยวเจือกลิ่นน้ำผลไม้ แต่ความต่างอยู่ที่ การแต่งกลิ่นและรสให้ปกปิดรสขมหรือขื่นของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูกลมกลืนไปกับน้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมโซดา หรือเครื่องดื่มที่อิงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่เป็นผู้หญิง

“ผู้บริโภคมีภาพจำเชิงลบกับเครื่องดื่มพร้อมดื่ม ที่พวกเขามองว่ามีรสชาติที่ปรุงแต่ง ประกอบกับช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคในญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับอาหารการกินที่มีประโยชน์กับสุขภาพมากขึ้น”มิตซูฮารุ ยามากาตะ ผู้บริหารระดับอาวุโสจากแผนกเบียร์ ของคิริน กล่าว

การเคลื่อนไหวของคิรินเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมที่หันมาผลิตเครื่องดื่มที่ง่ายต่อการบริโภคและตอบรับกระแสนิยมดื่ม“แอลกอป็อป”หนึ่งในสุราสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยรสชาติปรุงแต่งที่เทียบเคียงได้กับน้ำผลไม้หรือน้ำหวาน แต่โดยเนื้อหาแท้ก็คือสุราเต็มตัว บางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่าเบียร์ด้วยซ้ำ

แอลกอป็อบส์ ถือกำเนิดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยได้รับความนิยมจากวัยรุ่นในทวีปยุโรปอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา และแพร่กระจายจากสก็อตแลนด์ เวลส์ และอังกฤษ ไปสู่แถบสแกนดิเนเวียน ก่อนจะมาแพร่กระจายในสหรัฐ

ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดการณ์ว่าในปีนี้ อุตสาหกรรมเหล้าสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทแอลกอป็อปทั้งในรูปขวดและกระป๋องได้ 1.7 พันล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

“ความต้องการเครื่องดื่มประเภทแอลกอป็อปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19เพราะผู้บริโภคไม่สามารถออกไปนั่งดื่มเบียร์หรือเหล้าตามร้านอาหาร หรือบาร์ได้ จึงซื้อเครื่องดื่มประเภทนี้มาดื่มที่บ้าน”คิโยคาสุ ชิบูกาวา หุ้นส่วนจากอีวาย แอดไวซอรี แอนด์ คอนซัลทิง ให้ความเห็น

ขณะที่ซันโตริ โฮลดิงส์ ผู้ผลิตแอลกอป็อปชั้นนำของญี่ปุ่น ทำยอดขายเครื่องดื่มประเภทนี้ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.เพิ่ม20%แม้ยอดขายเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ของบริษัทในบางประเทศจะไม่ขยับเลยก็ตาม แต่ซันโตริก็มองว่า นี่เป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น และมั่นใจว่ายอดขายเครื่องดื่มแอลกอป็อปของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างใด โดยเฉพาะแอลกอป็อปรสมะนาวของบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นเร็วมาก นั่นเป็นเพราะผู้บริโภคมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น จึงมองหาเครื่องดื่มพร้อมดื่มที่มีรสหวานและเปรี้ยวไว้ติดบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เครื่องดื่มประเภทแอลกอป็อปของซันโตริขยายตัว 79%

คิริน ตั้งเป้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวจี้บาร์ให้ได้ประมาณ 280,000 ลังภายในปลายปีนี้ หลังจากที่ครึ่งแรกของปี บริษัททำยอดขายเครื่องดื่มประเภทแอลกอป็อปได้เพิ่มขึ้น 10%จากปีก่อนหน้านี้โดยอยู่ที่ 38.8 ล้านลังและเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น บริษัทก็ตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต โดยลงทุนเป็นเงิน 7.5 พันล้านเยน(71.2 ล้านดอลลาร์)เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานมิยากิ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ภายในปี2565 คิรินจะมีความสามารถในการผลิตแอลกอป็อปเพิ่มขึ้นประมาณ 30%