โควิดหนุนเอเชียแปซิฟิกแหล่งอภิมหาเศรษฐีโลก

โควิดหนุนเอเชียแปซิฟิกแหล่งอภิมหาเศรษฐีโลก

รายงานยูบีเอสเผยจำนวนอภิมหาเศรษฐีโลกปีนี้ 2,189 คน มั่งคั่งรวม 10.2 ล้านล้านดอลลาร์ ได้อานิสงส์จากราคาหุ้นพุ่งสูงหลังโควิด อยู่ในเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด

รายงานยูบีเอสเผยจำนวนอภิมหาเศรษฐีโลกปีนี้ 2,189 คน มั่งคั่งรวม 10.2 ล้านล้านดอลลาร์ ได้อานิสงส์จากราคาหุ้นพุ่งสูงหลังโควิด อยู่ในเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด

รายงาน Billionaires Insights Report 2020 ฉบับล่าสุดของธนาคารยูบีเอสแห่งสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีอภิมหาเศรษฐี 2,189 คน ความมั่งคั่งรวมกันถึง 10.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทุบสถิติเดิม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2560 จำนวนอภิมหาเศรษฐีในตอนนั้น 2,158 คน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนุนให้ตลาดหุ้นพุ่ง ส่งผลให้ความมั่งคั่งของพวกเขาทำนิวไฮ

นับถึงเดือน ก.ค.ปีนี้ เอเชียแปซิฟิกมีอภิมหาเศรษฐีมากที่สุด 831 คน (38%) ความมั่งคั่งสุทธิรวมกัน 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับทวีปอเมริกา จำนวน 762 คน (35%) ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (อีเอ็มอีเอ) 596 คน (27%)

อภิมหาเศรษฐีจากเอเชียแปซิฟิก เช่น ตระกูลอัมบานีจากรีลิแอนซ์กรุ๊ปแห่งอินเดีย นายมูเกส อัมบานี มั่งคั่งที่สุดในเอเชียด้วยสินทรัพย์สุทธิ 8.88 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือตระกูลลีเจ้าของซัมซุงแห่งเกาหลีใต้ ตระกูลกว๊อกจากซุงฮุงไค่แอนด์โคในฮ่องกง และตระกูลเจียรวนนท์จากเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายอนุรักษ์ มเหศ จากฝ่ายจัดการความมั่งคั่งโลกของยูบีเอส กล่าวว่า ข้อค้นพบนี้ได้จากการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลอภิมหาเศรษฐี 2,000 คน ใน 43 ตลาด พบว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงรักษาสถานะ “เครื่องยนต์แห่งความมั่งคั่งของโลก” เอาไว้ได้

รายงานพบด้วยว่าจีนแผ่นดินใหญ่ผงาดขึ้นเป็นตลาดที่สร้างความมั่งคั่งเป็นอันดับ 1 มีมหาเศรษฐีพันล้าน 415 คน ตามด้วยอินเดีย 114 คน ฮ่องกง 65 ไต้หวัน 40 และออสเตรเลีย 39 สหรัฐมีอภิมหาเศรษฐี636 คน

ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในปีนี้จำนวนมากเป็นผลจากตลาดหุ้นฟื้นตัวรูปตัว V หลังถูกเทขายครั้งใหญ่ในเดือน เม.ย. เนื่องจากสินทรัพย์ของเหล่ามหาเศรษฐีมักมาจากการบริหารหรือเข้าไปลงทุนในบริษัทมหาชน

อย่างไรก็ตาม จากปี 2562ถึงช่วงที่ตลาดหุ้นเข้าสู่ขาลงสุดๆ ในเดือน เม.ย.ปีนี้ ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีพันล้านของเอเชียไม่ค่อยเสียหายเท่าใดนัก ลดลง 2.1% เทียบกับภูมิภาคอีเอ็มอีเอ ที่ลดลง 10.1% และอเมริกาลดลง 7.4%

นายมเนศอธิบายว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดดเด่นใน 2 อุตสาหกรรมหลักคือเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์ ซึ่งได้อานิสงส์อย่างมากจากโควิด

เอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนอภิมหาเศรษฐีเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์มากที่สุดในโลก 181 คน (8%) จากจำนวนอภิมหาเศรษฐีทั้งหมด เทียบกับทวีปอเมริกาที่มี 153 คน (7%) อีเอ็มอีเอ 88 คน (4%) ขณะเดียวกันการที่ทั้งสองภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ช่วยหนุนให้ภาคเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์ก้าวหน้ายิ่งกว่าอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ

“ข้อมูลนี้น่าสนใจแต่ก็ไม่แปลกใจที่ภาคเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์มั่งคั่งพุ่งพรวดเหนือเซ็กเตอร์อื่น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีเติบโต 5.7 เท่า ขณะที่ความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีภาคการเงินโต 2.3 เท่า” นายอนุช คากัลวาลา จากพีดับเบิลยูซี สิงคโปร์ผู้ร่วมเขียนรายงานระบุ

รายงานฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์โต้แย้งว่า หลังโควิดการฟื้นตัวน่าจะออกมาในรูปตัว K หมายถึง ภาคส่วนต่างๆ ฟื้นตัวในอัตราแตกต่างกัน ในกรณีนี้คนที่มั่งคั่งมากที่สุดจะฟื้นตัวได้เร็ว ขณะที่คนจนที่สุดยังอยู่ที่เดิมหรือย่ำแย่ลงไปอีก

รายงานยังพบว่า ระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. อภิมหาเศรษฐี 209 คน บริจาคเงินช่วยเหลือโควิดรวม 7.2 พันล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 175 คน (76%) เป็นผู้บริจาคเงิน หมายถึงบริจาคเงินเพื่อบรรเทาทุกข์ 24 คน (19%) เป็นผู้ผลิต เช่น ปรับเปลี่ยนสายการผลิตของตนไปผลิตอุปกรณ์ป้องกันโควิด 10 คน (5%) เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จึงบริจาคให้ยุทธศาสตร์ระยะยาว เช่น การค้นหาวัคซีน

รายงานสรุปว่า ปีนี้เป็นปีสำคัญสำหรับอภิมหาเศรษฐีและเศรษฐกิจโลกโดยรวม โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นโลกลดน้อยลงและมีหนี้สินมากขึ้น ใน 10 ปีข้างหน้า นักสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่มาเพิ่มผลิตภาพ และยังต้องเชื่อมโยงการขาดดุลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันมากขึ้น