สงครามเย็นเศรษฐกิจ‘สหรัฐ-จีน’เขย่าการเมืองโลก

สงครามเย็นเศรษฐกิจ‘สหรัฐ-จีน’เขย่าการเมืองโลก

สงครามเย็นเศรษฐกิจ‘สหรัฐ-จีน’เขย่าการเมืองโลก โดยดุลอำนาจโลกเปลี่ยนไป จีนมีบทบาทมากขึ้นถือเป็นโจทย์ใหญ่ให้การทูตไทยกำหนดนโยบายการค้าใหม่และรักษาสมดุลระหว่างสองขั้วมหาอำนาจโลก

ความขัดแย้งสหรัฐกับจีนได้ยกระดับเป็นสงครามการค้า ขยายปมไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยี ค่าเงิน ตลาดหุ้น เป็นผลจากการที่สหรัฐดำเนินนโยบายโลกเชิงรุกปิดล้อมจีน มุ่งกีดกันจีนเข้าถึงระบบเศรษฐกิจจนทำให้เกิดบรรยากาศคล้ายกับสงครามเย็นในอดีตเพียงแต่เป็นสงครามเย็นทางเศรษฐกิจ

ประภัสสร์ เทพชาตรีศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนา “สงครามเย็นครั้งที่ 2 ระหว่างสหรัฐกับจีน และผลกระทบต่อการเมืองโลกโดยฉายภาพปัจจุบันให้เห็นถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองขั้วมหาอำนาจสหรัฐ - จีน มีบรรยากาศความคล้ายคลึงกับสมัยสงครามเย็นในปี 2490 - 2533 แบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตที่แข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์กับโลกเสรี

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ในขณะนี้เป็นการถูกบีบบังคับให้เลือกข้างเหมือนสงครามเย็นในอดีตแต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ก็กลายเป็นช่วงเวลาเปิดทางให้สหรัฐครองความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวมานานกว่า 30 ปี

กระทั่ง20 ปีที่ผ่านมาเมื่อจีนกลับมาผงาดทั่วโลกเริ่มเห็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐเพิ่มเรื่อยๆ โดยประภัสสร์ มองว่า จีนเป็นขั้วอำนาจใหม่เกิดขึ้นมาท้าทายอำนาจสหรัฐซึ่งมีองค์ประกอบแห่งอำนาจ 4 ด้านคือ1.อำนาจทางการทหาร พบว่า งบประมาณทางทหารของสหรัฐสูงกว่าประเทศใดในโลก หรือมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณทหารทั่วโลกรวมกัน รวมไปถึงมีการตั้งฐานทัพสหรัฐและพันธมิตรทางการทหารกระจายอยู่ภูมิภาคต่างๆทั่วโลก

2.อำนาจทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ทั่วโลกชื่นชมและยอมรับ American Mass Culture หนึ่งในนั้นคือประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน เพราะปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นช่องทางให้สหรัฐไล่บี้จีน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง และการริเริ่มความสัมพันธ์แนวใหม่กับไต้หวัน เพื่อต้านแรงกดดันจากจีน

"สหรัฐถือเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้โลก ที่จัดอยู่ในอำนาจทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่เผยแพร่ไปประเทศต่างๆทั่วโลก แต่ปัจจุบันพบว่าในจำนวนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐ1 ล้านคนเป็นนักศึกษาจีนอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งจีนใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้จากสหรัฐ แต่ปธน.ทรัมป์รู้เท่าทัน จึงพยายามสกัดนักศึกษาจีน เพราะมองว่าพยายามขโมยองค์ความรู้จากสหรัฐรวมไปถึงสั่งไม่ให้สถาบันการศึกษาสหรัฐใดๆ ถ่ายถอดความรู้ให้กับจีนด้วย" ประภัสสร์เล่า

3.อำนาจทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากจีดีพีสหรัฐ รั้งอันดับหนึ่งของโลกอย่างยาวนาน ก่อนจะทรุดหนักในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 และ4.อำนาจทางเทคโนโลยี สหรัฐเป็นผู้นำทางนวัตกรรมนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา แต่ตอนนี้ การแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนสูสีกันมากซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มที่จีนจะแซงหน้าสหรัฐไปไกล

สหรัฐ วางบทบาทตนเองเป็นผู้ควบคุมระเบียบโลกมาช้านาน และกำลังถูกจีนท้าทายอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจมีคำถามต่อไปว่า จีนจะอยู่ภายใต้ระเบียบโลกนี้ได้อย่างไร หรือจีนมีแผนชี้ชวนให้ทั่วโลกร่วมกันแสดงออกว่าระเบียบโลกปัจจุบันไม่เป็นธรรมกับพวกเขา

ขณะนี้โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจใหญ่ๆ คือ ขั้วสหรัฐได้แก่ ประเทศตะวันตกในสหภาพยุโรป กลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาฟต้า)ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ขณะที่ขั้วจีน เป็นประเทศที่ร่วมมือในโครงการโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง(บีอาร์ไอ)ส่วนพันธมิตรในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ระยะหลังๆนี้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยวางตัวเป็นกลางไม่เลือกข้าง แต่ก็มีการแสดงออกว่าสนิทสนมกับจีน

หากศึกษายุทธศาสตร์ใหญ่สหรัฐที่มีต่อจีนให้ลึกซึ้ง จะพบว่า มีการผสมผสานระหว่างนโยบายปิดล้อมกับการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน เพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่ก็ขึ้นกับว่าผู้นำสหรัฐคนใหม่ ที่จะมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 3 พ.ย.นี้ จะมาจากพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน เพราะจะสะท้อนนโยบายที่มีต่อจีน

ปัจจุบันประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งใช้นโยบายปิดล้อมจีนสูงถึง90% ทั้งด้านการทหารและเทคโนโลยี ตอกย้ำให้ทั่วโลกมองจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศและเป็นภัยไซเบอร์ ขณะที่อีก 10% เป็นพื้นที่ให้สหรัฐสร้างปฏิสัมพันธ์การค้ากับจีน

นอกจากนี้ การที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐมีศัตรูหมายเลขหนึ่ง ที่ไม่ใช่คนผิวขาวสะท้อนนัยยะที่มีต่อจีน หากแต่การที่ทั่วโลกตกอยู่ภายใต้อำนาจสหรัฐมายาวนาน คงไม่ง่ายที่จีนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ในทางตรงข้าม สหรัฐได้เปรียบจีนสูงมาก โดยที่จีนไม่มีทางแข่งกับสหรัฐได้เลย ดูอย่างที่คนจีนรุ่นใหม่กำลังทำให้ตัวเองเหมือนชาวอเมริกัน (Americanization)

ในตอนท้าย ประภัสสร์มองว่า สงครามเย็นทางเศรษฐกิจคงทอดเวลาไปอีกนาน ไม่จบง่ายๆ ส่วนแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น พบว่า ดุลอำนาจโลกเปลี่ยนไป สหรัฐเสื่อมลง จีนมีบทบาทมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ และต้องเตรียมตั้งรับแรงกดดันที่ต้องถูกบีบให้เลือกข้างมากขึ้น นี่จะเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับการทูตไทย เพื่อกำหนดนโยบายการค้าใหม่ที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างสองขั้วมหาอำนาจโลก ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้