สหรัฐแก้ปัญหา PM2.5 อย่างไร?

สหรัฐแก้ปัญหา PM2.5 อย่างไร?

ส่องวิธีการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สหรัฐ จากกฎหมายอากาศสะอาดที่มีมาตั้งแต่ปี 1970 การตั้งหน่วยงานสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี หรือการมีกฎหมายที่เน้นการควบคุมและส่งเสริมให้ลดมลพิษอย่างเป็นระบบ มาตรการเหล่านี้ได้ผลจริงหรือไม่?

ทุกวันนี้พวกเราต้องการอากาศดีๆ อากาศสะอาด บริสุทธิ์ และเชื่อว่าปลอดภัยต่อสุขภาพเรา ในสมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดิฉันได้ทำงานวิจัยศึกษาความเต็มใจจ่าย (Willingness to pay) ของบุคคลเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศที่ดีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการศึกษาความเต็มใจจ่าย เป็นวิธีการประเมินมูลค่าของสิ่งแวดล้อมในทางเศรษฐศาสตร์สำหรับทรัพยากรที่ไม่มีตลาดสำหรับซื้อขาย

ในช่วงนั้น เรื่องคุณภาพอากาศดูจะเป็นเรื่องไกลตัวและจับต้องไม่ได้ของผู้คน เพราะเหมือนอากาศดูเป็นของฟรีๆ และคุณภาพอากาศยังไม่ได้เลวร้ายจนต้องให้มูลค่ามากนัก การศึกษาจึงพบว่าความเต็มใจจ่ายหรือให้คุณค่ากับคุณภาพอากาศที่ดีของคนในกรุงเทพอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก

แต่ทุกวันนี้ ทุกคนมองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น และคนจำนวนมากเต็มใจลงทุนเพื่ออากาศที่สะอาดมากขึ้น ซึ่งเราจะพบตั้งแต่การซื้อหน้ากากอนามัย เครื่องตรวจวัดฝุ่น ไปจนถึงเครื่องกรองอากาศคุณภาพสูง และทุกฝ่ายก็ต่างเรียกร้องกับภาครัฐไม่ให้นิ่งนอนใจ และดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น รวมไปถึงข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเสียที

เรื่องอากาศสะอาดนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ฝุ่น PM2.5 เพราะยังมีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายตัวในอากาศ เช่น ตะกั่ว ปรอท สารโลหะหนัก ที่ก่อมะเร็งและโรคภัยต่างๆ ให้กับมนุษย์ ดังนั้นอากาศที่สะอาดจึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นมากสำหรับมนุษย์ทุกคน

ซึ่งหากมองไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราพบว่าสหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) มายาวนานแล้วตั้งแต่ปี 1970 แล้ว โดยให้อำนาจทั้งรัฐบาลกลางและมลรัฐต่างๆ ออกกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซต่างๆ ทั้งกับโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ

จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ สหรัฐมีหน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (United States Environmental Protection Agency หรือ EPA) ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำหน้าที่ออกระเบียบวางแผนทบทวนแผนและตรวจสอบ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานของสารพิษในอากาศ หากพบผู้ละเมิด ทาง EPA จะออกคำเตือนออกคำสั่งให้แก้ไขรวมไปถึงมีอำนาจในการสั่งปรับ หรือแม้กระทั่งฟ้องผู้ละเมิดในศาลได้ด้วย

  • สหรัฐมีเครื่องมืออะไรในการขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดให้เกิดผลได้จริง?

มาตรการเครื่องมือทางนโยบาย (Policy Instruments) ภายใต้กฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐ แบ่งเป็นวิธีหลักๆ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี (Technology Standards) การกำหนดมาตรฐานคุณภาพ (Performance Standard)การควบคุมระดับการปล่อยมลพิษ ระบบการค้าการปล่อยมลพิษ (Emission Trading Systems)และมาตรการทางภาษี

นอกจากนี้ EPA จะระบุถึงกลุ่มผู้ก่อมลพิษ กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ของผู้ก่อมลพิษ เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษในระดับที่สูงเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิการสังคม รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติสำหรับสารมลพิษที่เจือปนในอากาศ (National Ambient Air Quality Standards) กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เกิดจากแหล่งกำเนิดใหม่ๆ (New Source Performance Standards) เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งกำเนิดมลพิษที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับรัฐ (State Implementation Plans) ซึ่งทำให้มีความชัดเจนในการดำเนินการเฉพาะสำหรับพื้นที่ต่างๆ

เราอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายของสหรัฐมีทั้งเน้นการควบคุม และส่งเสริมให้ลดมลพิษอย่างเป็นระบบด้วย ที่สำคัญสหรัฐมีกฎหมายควบคุมมลพิษเฉพาะด้าน เช่น กฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ กฎหมายควบคุมคุณภาพน้ำ ในขณะที่ที่ผ่านมากฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยยังรวมอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพียงฉบับเดียว

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ร่างกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นแล้ว โดยเมื่อต้น ม.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้เร่งรัดผลักดัน พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ความท้าทายที่สำคัญ คือ การตั้งหน่วยงานกลางอย่าง EPA ที่มีกลไกการบริหารจัดการอย่างชัดเจน สามารถแก้ไขสถานการณ์วิกฤติคุณภาพอากาศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีการติดตามตรวจสอบอากาศในระดับพื้นที่ มีการปฏิบัติการที่ตอบโจทย์ในระดับจังหวัด และสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณภาพอากาศเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับประชาชนทุกคน และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศที่ดีมากขึ้น ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณภาพอากาศที่ดีจำเป็นต้องที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัว โดยภาครัฐให้การสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ประชาชน เกษตรกร หรือโรงงานจะต้องลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ น้ำมัน รถยนต์ การเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรและอื่นๆ การร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณภาพอากาศของประเทศไทยกลับมาใสสะอาดได้อย่างแท้จริง