'สภายุโรป' ลงสัตยาบันรับ 'ข้อตกลงปารีส'

'สภายุโรป' ลงสัตยาบันรับ 'ข้อตกลงปารีส'

ที่ประชุมรัฐสภายุโรปมีมติเสียงข้างมากท่วมท้น ให้สัตยาบันต่อ “ข้อตกลงปารีส” ในนามของยุโรปทั้งหมด เพื่อร่วมต่อสู้กับภาวะภาวะโลกร้อน

บรรดาสมาชิกรัฐสภายุโรปซึ่งเป็นตัวแทนจาก 28 ชาติอียู ลงมติด้วยคะแนนเสียง 610 ต่อ 38 งดออกเสียง 31 ให้สัตยาบันข้อตกลงที่มุ่งหมายจะหยุดยั้งภาวะโลกร้อนฉบับนี้ในทันที โดยที่มีเลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น นายบัน คี-มูน เข้ามาเป็นประจักษ์พยานในการออกเสียงคราวนี้ด้วย

ข้อตกลงฉบับนี้ไม่อาจเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ จนกว่ามีอย่างน้อย 55 ประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นผู้ปล่อยไอเสียคาร์บอนไม่ต่ำกว่า 55% ของทั่วโลก ประกาศรับรองให้สัตยาบัน โดยก่อนหน้านี้ มี 62 ชาติแล้วที่รับรอง แต่ประเทศเหล่านี้รวมกันแล้วยังเป็นผู้ปล่อยไอเสียเพียงแค่ประมาณ 52% ของทั่วโลก

การให้สัตยาบันของรัฐสภาอียูครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเร่งรัดให้รวดเร็วขึ้นเป็นพิเศษกว่ากระบวนการตามปกติ ทำให้ข้อตกลงกรุงปารีสผ่านเงื่อนไขที่ยังขาดอยู่ดังกล่าว และคาดหมายกันว่า อียูจะยื่นเอกสารทางกฎหมายในเรื่องนี้ต่อยูเอ็นอย่างเป็นทางการภายในวันศุกร์ (7 ต.ค.) นี้ และน่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอนในการประชุมยูเอ็นว่าด้วยภูมิอากาศครั้งต่อไป ซึ่งกำหนดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ในเมืองมาร์ราเกซของโมร็อกโก

นายบันกล่าวว่า จากผลการลงมติรับรองของรัฐสภาอียูครั้งนี้ เขามั่นใจว่าจะสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขเรื่อง 55% ได้อย่างรวดเร็วมาก ในเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ข้อตกลงปารีสมีเนื้อหากำหนดให้ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ต้องดำเนินปฏิบัติการเพื่อสกัดกั้นภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกำลังทำให้ธารน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลอยู่ในระดับที่สูงขึ้น และทำให้ฝนตกผิดฤดู นอกจากนี้ยังระบุให้ประเทศต่าง ๆ ยื่นแผนการระดับชาติของตนในการลดการปล่อยไอเสีย เพื่อหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามถึงขั้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากเป็นไปได้