"ข้าวหอมคุณยาย"เจาะตลาดสิงคโปร์

"ข้าวหอมคุณยาย"เจาะตลาดสิงคโปร์

"ข้าวหอมคุณยาย"รุกผลิตข้าวปลอดสารพิษเจาะตลาดสิงคโปร์ ส่งทีมชี้แจงสตอรี่ข้าวให้กับรีเทลเลอร์และผู้บริโภค หวังสร้างความเข้าใจราคาข้าว

บริษัทมีฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด เจ้าของข้าวกล้องปลอดสารพิษแบรนด์ “ข้าวหอมคุณยาย” สร้างเครือข่ายชาวนาให้ชาวนาเป็นซัพพลายเออร์ป้อนวัตถุดิบ ให้ชาวนาได้กำไรจากการปลูกข้าวแทนการปลูกเพื่อคุ้มทุนอย่างเดียว

นางสาวนิศารัตน์ นาครักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทมีฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทผลิตข้าวปลอดสารพิษเพื่อขายในประเทศและส่งออก โดยเริ่มส่งออกไปสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว จากการที่ผู้นำเข้าสิงคโปร์เข้ามาชมงานแสดงสินค้าในไทย แล้วมาเห็นข้าวของบริษัท ซึ่งผู้นำเข้ารายนี้เป็นผู้นำเข้าสินค้าเพื่อสุขภาพจากทั่วโลกเพื่อไปจำหน่ายในสิงคโปร์ และได้มาชิมข้าวของบริษัทที่เป็นข้าวใหม่อายุการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 6 เดือน ทำให้ได้รับประทานข้าวใหม่ที่นิ่มและหอมต่างจากข้าวในสิงคโปร์ที่เป็นข้าวเก่า

นางสาวนิศารัตน์ กล่าวว่า ตลาดสิงคโปร์ไปได้เรื่อย ไม่หวือหวา ถือเป็นลักษณะปกติของตลาดสินค้นเพื่อสุขภาพ ซึ่งผู้นำเข้าสิงคโปร์ได้เชิญบริษัทไปร่วมงานแสดงสินค้าที่สิงคโปร์ และบริษัทส่งพนักงานไปสิงคโปร์เพื่ออธิบายคุณลักษณะสินค้าให้กับรีเทลเลอร์และผู้บริโภค

การอธิบายกับรีเทลเลอร์จะบอกความแตกต่างข้าวของบริษัทกับผู้ผลิตรายอื่น และเล่าเรื่องราวการปลูกข้าวที่มีเป้าหมายการรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ชาวนาให้มีกำไรจากการปลูกข้าว

ส่วนการอธิบายกับผู้บริโภคจะบอกวิธีการหุง และคุณสมบัติข้าวกล้องเมื่อรับประทานแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินรวม ซึ่งการอธิบายให้รีเทลเลอร์และผู้บริโภคทำให้มีความเข้าใจตัวสินค้าและยอดขายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การอธิบายให้เห็นความเป็นมาของข้าวปลอดสารพิษของบริษัท จะทำให้รีเทลเลอร์และผู้บริโภคเข้าใจว่า ทำไมข้าวของบริษัทถึงต้องแพงกว่าข้าวขาวทั่วไป 1 เท่าตัว โดยข้าวกล้องของบริษัทที่สิงคโปร์ขายถุง 2 กิโลกรัม ราคา 12 ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่ถ้าขายในไทยอยู่ที่ถุงละ 140 บาท ซึ่งผู้บริโภคสิงคโปร์ก็ยอมจ่ายเพื่อซื้อข้าวกล้อง

นางสาวนิศารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีชาวนาที่ปลูกข้าวให้ 4 ราย พื้นที่ปลูกข้าวรวม 120 ไร่ ปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตรวม 120 ตัน บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวไม่เกิน 300 ไร่ และได้ผลผลิตข้าวไม่เกิน 350 ตัน และถ้าถึงเป้าหมายนี้บริษัทจะหยุดขยายตลาด โดยจะหาลูกค้าใหม่เฉพาะการทดแทนลูกค้าเดิมที่หายไป เนื่องจากต้องการใช้เวลาที่เหลือในการดูแลลูกค้ามากให้พอใจสินค้ามากกว่าการเพิ่มยอดขายให้ขยายขึ้นเรื่อยๆ