ร้อน อบอ้าว 'อาหารบูด เสียง่าย' เช็กให้ดีก่อนกิน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

ร้อน อบอ้าว 'อาหารบูด เสียง่าย' เช็กให้ดีก่อนกิน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

เข้าหน้าร้อน อากาศร้อนอบอ้าว ส่งผลให้อาหารที่เราทาน บูด เสียได้ง่าย ดังนั้น ควรหมั่นสังเกต ให้ดีโดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไว้เป็นเวลานาน หากกลิ่น รสชาติ หรือหน้าตาอาหารเปลี่ยนไป ไม่ควรทานเพราะทำให้เสี่ยง อาหารเป็นพิษได้

KEY

POINTS

  • โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค อาจเป็นได้ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ จึงพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี
  • โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศร้อนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้อาหารเกิดบูดเสียได้ง่าย ช่วงต้นปี 2567 วันที่ 1 มกราคม - 27 มีนาคม 2567 ไทยพบผู้ป่วย อาหารเป็นพิษ ทั่วประเทศ 27,320 ราย
  • ควรสังเกตวันหมดอายุของอาหาร ที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ รวมถึง กลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป ลักษณะของอาหารมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แข็งเป็นก้อน แฉะ เหนียว และรสชาติที่เปลี่ยนไป ไม่ควรทาน

อากาศที่ร้อนจัด ในเวลานี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคอยหมั่นสังเกต คือ อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในทุกวัน เนื่องจาก อากาศร้อน อบอ้าว ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย หากนำมารับประทานเสี่ยง “อาหารเป็นพิษ” ได้

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วงต้นปี 2567 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 27 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ ทั่วประเทศ 27,320 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี พบการระบาดทั้งหมด 14 เหตุการณ์ โดยสถานที่ที่พบ ได้แก่ โรงเรียน 11 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 1 เหตุการณ์ โรงงาน 1 เหตุการณ์ และที่พัก 1 เหตุการณ์

 

อาหารเป็นพิษ เกิดจากอะไร

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค อาจเป็นได้ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ จึงพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศร้อนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้อาหารเกิดบูดเสียได้ง่าย และมักพบการระบาดในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมอาหารและน้ำสำหรับคนหมู่มาก

 

หากการเตรียม-ปรุงประกอบอาหารไม่ถูกหลักอนามัย ไม่มีการบริหารจัดการเพื่อรักษาคุณภาพอาหารอย่างเหมาะสม ผู้สัมผัสอาหารไม่ปฏิบัติตามสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค และพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

อากาศร้อน อาหารบูดเสียง่าย

ทั้งนี้ อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้อาหารบูด เสียง่ายกว่าปกติ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียในอาหารสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง หากยังไม่รับประทานต้องเก็บไว้ในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนนำมารับประทาน

 

ไม่ควรรับประทานอาหารที่วางทิ้งไว้ในที่อบอ้าว เช่น ลืมทิ้งไว้ในรถยนต์ หรือวางไว้ในที่ที่มีอากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน รวมถึงควรสังเกตลักษณะอาหารว่าผิดปกติหรือไม่ โดยพิจารณาลักษณะ สี กลิ่น รส ภาชนะบรรจุต้องสะอาดปิดสนิท และมาจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้

 

นอกจากนี้ ยังต้องระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และยึดหลัก กินร้อน คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อรับประทานอาหารในหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และหมั่นล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก

 

สังเกต “อาหารบูดเสีย” อย่างไร

  • วันหมดอายุของอาหาร ที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์หากหมดอายุแล้วไม่ควรนำมารับประทาน
  • กลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป เช่น เหม็นเปรี้ยว เหม็นหืน
  • ลักษณะของอาหารมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แข็งเป็นก้อน แฉะ เหนียว แกงกะทิอาจข้น หนืด ติดช้อน มีฟอง
  • รสชาติของอาหารที่เปลี่ยนไป พบสิ่งแปลกปลอมหรือสีของอาหารเปลี่ยนซึ่งอาจเป็นเชื้อราได้

 

ควรเก็บอาหารอย่างไร 

นอกจากอาหารปรุงสุก หรือ น้ำที่ควรระมัดระวังในการทานแล้ว การเก็บอาหารสดก็ไม่ควรมองข้าม นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำวิธีเก็บอาหารให้มีคุณภาพ ดังนี้

1. อาหารสด

  • เนื้อสัตว์

ต้องเลือกที่สดใหม่ ถ้าเป็นไปได้เลือกร้านที่มีสถานที่ หรือมีที่เก็บมิดชิด ปลอดแมลง หรือสัตว์พาหะต่าง ๆ ก่อนเก็บต้องนำมาล้างทำความสะอาด หรือตัดแต่งเพื่อแบ่งเป็นส่วน ๆ อาจจะส่วนละประมาณ 100-200 กรัม หรือตามปริมาณที่เราหยิบใช้สะดวก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเข้านำออกจากตู้เย็นบ่อย ๆ

 

ยิ่งอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ยิ่งทำให้อายุการเก็บสั้นลง อุณหภูมิในการจัดเก็บควรอยู่ที่ 0-2 องศาเซลเซียส และเก็บในภาชนะที่ฝาปิดมิดชิด หรือแช่ในช่องแช่แข็งก็จะเก็บได้ยาวนานขึ้น (เฉลี่ยประมาณ 3-6 เดือน) และหากนำอาหารจากช่องแช่แข็งออกมาละลายเพื่อใช้แล้ว แต่ใช้ไม่หมดไม่แนะนำให้นำกลับไปแช่แข็งใหม่ซ้ำอีกรอบ

 

  • ผักสด

การล้างทำความสะอาด ถ้าหากล้างทำความสะอาดก่อนเก็บ จะต้องผึ่งให้แห้ง จากนั้นเก็บใส่ภาชนะที่รองด้วยกระดาษทิชชู่ หรือผ้าขาวบาง และมีฝาปิดมิดชิด เพราะถ้าล้างแล้วผึ่งไม่แห้งจะทำให้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย ถ้าเก็บแบบไม่ล้างก่อนเก็บ เมื่อนำมาใช้ต้องล้างทำความสะอาดก่อนนำมาใช้ และผักทุกชนิดควรเก็บแยกประเภท ไม่ควรเก็บรวมในภาชนะเดียวกัน

 

2. อาหารปรุงสุก

  • อาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว

ควรมีอุณหภูมิใจกลางเฉลี่ย 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป และควรทำให้อุณหภูมิลดลง ภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย การปล่อยให้อาหารเย็นตัวลงเองตามอุณหภูมิห้อง จะทำให้การเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วมีอายุการเก็บที่สั้นลง เพราะจุลินทรีย์ส่วนใหญ่เจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้เร็วที่อุณหภูมิ 4-60 องศาเซลเซียส

 

  • การแบ่งอาหารออกใส่ภาชนะย่อย ๆ

จะช่วยทำให้อาหารเย็นเร็วขึ้น และสามารถแบ่งเก็บแช่ตู้เย็นไว้ทานในมื้ออื่น ๆ ได้ ส่วนตัวแพรวเลือกใช้วิธีแช่ภาชนะบรรจุอาหารลงในน้ำเย็นจัด ก็สามารถช่วยลดอุณหภูมิได้เร็วเช่นกัน เมื่อลดอุณหภูมิอาหารแล้ว สามารถเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ 3-4 วัน

 

แต่ทางที่ดีควรทานให้หมดภายใน 2 วัน เก็บแช่ในช่องแช่แข็งได้นาน 3-4 เดือน แต่ว่ารสชาติ หรือลักษณะของอาหารอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะไม่อร่อย เนื้อสัมผัสอาจจะแห้ง แข็งกระด้าง แต่ว่าสามารถทานได้ปลอดภัย

 

  • อาหารเมื่อปรุงสุกแล้ว

หากไม่ต้องการเก็บไว้รับประทานในมื้ออื่น ๆ ควรรับประทานให้หมดภายใน 2-4 ชั่วโมง แต่ถ้าอาหารที่ปรุงสุกเป็นอาหารที่อาจบูดเสียได้ง่าย ควรรับประทานให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง ถ้าหากเรายังไม่พร้อมรับประทานในเวลานั้น ควรเก็บในอุณหภูมิ 5-10 องศาเซลาเซียส และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนนำมารับประทาน ให้ได้อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป นาน 2 นาที เพื่อให้อาหารร้อนทั่วถึงกัน

 

เรื่องอาหารเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าเราขาดความรู้ และวิธีในการเก็บ การใช้ การประกอบ ก็อาจทำให้เราเสี่ยงต่อการที่ร่างกายเราอาจจะได้รับอาหารที่มีพิษ หรือปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้เช่นกัน วิธีการเก็บอาหาร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้เรายืดอายุอาหาร หรือช่วยให้เราเก็บอาหารได้อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัยกับคนที่กินอาหารนั้นด้วย

 

สุก ร้อน สะอาด

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุง สุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ หลีกเลี่ยงเมนูอาหารที่บูดเสียง่าย อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง

  • หากมีรูป รส กลิ่น สี ผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน ควรเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด มีคุณภาพ
  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
  • ควรเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมาย อย.
  • สำหรับผู้จำหน่ายอาหาร ขอให้ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารและสุขลักษณะส่วนบุคคล รักษาความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์ สถานที่ปรุงประกอบอาหารให้ปราศจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค ล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาประกอบอาหาร
  • ไม่แช่สิ่งของอื่นปนในถังบรรจุน้ำแข็งบริโภค ให้ใช้อุปกรณ์ที่สะอาดคีบ/ตักอาหาร ไม่ใช้มือหยิบจับโดยตรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ

 

อาหารเป็นพิษ รักษาอย่างไร

ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือมีไข้ หลังจากรับประทานอาหารและน้ำ ถ้าอาการไม่รุนแรง แนะนำให้ดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น โดยดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) จิบทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

 

หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก อาเจียนมาก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน กระหายน้ำ อ่อนเพลีย มีไข้ หัวใจเต้นผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422