‘เบสเซนต์’ ขึ้นเป็นตัวเต็ง 'ประธานเฟด' จุดคำถาม ‘ความเป็นอิสระ’

‘เบสเซนต์’ ขึ้นเป็นตัวเต็ง 'ประธานเฟด' จุดคำถาม ‘ความเป็นอิสระ’

เมื่อวาระเฟดของ ‘เจอโรม พาวเวลล์’ ใกล้สิ้นสุดลง ชื่อของ ‘สก็อตต์ เบสเซนต์’ ได้กลายเป็นตัวเต็งอันดับต้นที่ถูกจับตามอง อีกทั้งการที่ ปธน.ทรัมป์เคยขู่ปลดพาวเวลล์ สร้างความกังวลใจว่าผู้นำเฟดคนใหม่ จะยังคงรักษาอิสรภาพจากการแทรกแซงทางการเมืองได้หรือไม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ของ “เจอโรม พาวเวลล์” ใกล้จะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2026 ที่ปรึกษาจำนวนมากในรัฐบาลทรัมป์ กำลังสนับสนุนชื่อใหม่ให้ดำรงประธานเฟดคนต่อไป ชื่อที่ขึ้นมาอันดับต้นๆ คือ “สก็อตต์ เบสเซนต์” (Scott Bessent) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐในปัจจุบัน 

นอกจากเบสเซนต์แล้ว อีกรายชื่อที่อยู่ในรายการพิจารณาของทรัมป์ คือ “เควิน วอร์ช” (Kevin Warsh) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งทรัมป์เคยสัมภาษณ์เพื่อพิจารณาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้

“ผมมีงานที่ดีที่สุดในวอชิงตัน” เบสเซนต์ กล่าวในการตอบคำขอแสดงความเห็น

“ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ตัดสินว่า ใครเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจและประชาชนอเมริกัน”

ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เบสเซนต์โดยปกติจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการค้นหา และสัมภาษณ์ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า เขาจะถอนตัวจากกระบวนการดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่ทรัมป์เริ่มตัดสินใจ

“ด้วยความเชื่อมั่น และความไว้วางใจอย่างมากที่ตลาดการเงินโลกมีต่อสก็อตต์ เบสเซนต์ เขาจึงเป็นตัวเต็งที่เห็นได้ชัดเจน” ทิม อดัมส์ ประธานและซีอีโอของสถาบัน Institute of International Finance กล่าว “เขาเป็นม้ามืด” อดัมส์ กล่าว พร้อมเสริมว่า “เควิน วอร์ช ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการในคณะกรรมการ Fed ระหว่างปี 2006 ถึง 2011 ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน”

เมื่อถูกถามโดยเฉพาะเกี่ยวกับ วอร์ช ในวันศุกร์ ทรัมป์ตอบว่า “เขาได้รับการนับถืออย่างสูง”

ด้านสตีฟ แบนนอน อดีตหัวหน้านักยุทธศาสตร์ประจำทำเนียบขาว และที่ปรึกษานอกทำเนียบของประธานาธิบดีมองว่า “สก็อตต์ เบสเซนต์ พิสูจน์แล้วว่า เขาสามารถผลักดันนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ แม้จะอยู่ในช่วง 6 เดือนแรกที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนอย่างยิ่ง เขาไม่ใช่แค่ดาวเด่นในคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่ตลาดทุนทั่วโลกไว้วางใจได้”

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อพาวเวลล์ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดครั้งแรกเมื่อปี 2017 มักแสดงความไม่พอใจอยู่เสมอว่า พาวเวลล์ “ลังเลเกินไป” ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทรัมป์ได้กดดันให้พาวเวลล์ลดดอกเบี้ยในการประชุมที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือนที่แล้ว

ในปัจจุบัน พาวเวลล์ และเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในปี 2025 โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง เป็นสิ่งเหมาะสมท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการที่ทรัมป์ขยาย และปรับเปลี่ยนมาตรการภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง 

ไม่ว่าใครจะได้รับการรับรองจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งนี้ จะต้องพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เฟดยังคงเป็น “องค์กรอิสระ” ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง 

ทรัมป์เคยกล่าวหลายครั้งว่า พาวเวลล์ทำผิดพลาดที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ย และยังเคยกล่าวด้วยว่าเขาควรมีสิทธิมีเสียงในเรื่องการตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่า ตลาดจะมองผู้ได้รับเลือกคนต่อไป จะเป็นเพียง “ผู้รับคำสั่งทรัมป์” หรือไม่
 

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์