‘สี จิ้นผิง’ หารือ 'อี แจ-มยอง' เรียกร้องร่วมมือกันปกป้อง 'การค้าเสรี'

ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีนสนทนาทางโทรศัพท์กับ “อี แจ-มยอง” ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก พร้อมขอความร่วมมือช่วยปกป้องการค้าเสรี
สำนักข่าว Xinhua News รายงานว่า ในวันอังคาร (10 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีนได้ร้องขอความร่วมมือด้านการปกป้องการค้าเสรีกับ “อี แจ-มยอง” ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์ หลังจากอีเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน
รายงานจากสำนักข่าวรัฐบาลจีน CCTV เผยว่า สีได้กล่าวกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ว่า ทั้งสองประเทศควร “เสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและการประสานงานพหุภาคี ร่วมกันปกป้องพหุภาคีและการค้าเสรี และเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของโลกและของภูมิภาคมีเสถียรภาพและมีความราบรื่น รวมถึงเสนอว่าทั้งสองประเทศควรส่งเสริมความร่วมมือทางยุทธศาสตร์สู่ระดับที่สูงขึ้น และเพิ่มความมั่นคงให้กับภูมิทัศน์ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศให้มากขึ้นอีกด้วย"
โฆษกของอี แจ-มยองได้กล่าวว่า อีขอให้จีนเข้ามามีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี และกล่าวว่าเขาหวังที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และวัฒนธรรม “เพื่อผลประโยชน์และความเท่าเทียมร่วมกัน” นอกจากนี้อียังได้เชิญสีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคที่จะจัดขึ้นที่เมืองคยองจูในเดือนพฤศจิกายนอีกด้วย
การสนทนาทางโทรศัพท์ครั้งนี้เกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังอี แจ-มยองเข้ารับตำแหน่ง โดยที่อีได้ส่งสัญญาณว่าจะระมัดระวังในการเลือกข้างระหว่างสหรัฐและจีนมากขึ้น ซึ่งขัดกับยุน ซ็อกยอล ประธานาธิบดีคนก่อน ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐและความร่วมมือไตรภาคีกับญี่ปุ่น
ในระหว่างที่จีนและสหรัฐได้ร่วมเจรจากันอีกครั้งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สี จิ้นผิงก็ยังคงกระตือรือร้นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับภาษีตอบโต้ Tariff ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เช่นกัน และคำเรียกร้องของสี จิ้นผิงต่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองเป็นเหมือนหนึ่งในด่านหน้าของการค้าเสรีและความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายคุ้มครองทางการค้าและการทำข้อตกลงทวิภาคีของสหรัฐ
ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และแม้ว่าสหรัฐจะมีการส่งออกไปยังเกาหลีใต้มากขึ้น แต่เกาหลีใต้ก็ยังคงจำเป็นต้องรอบคอบเมื่อทำการค้ากับสองประเทศนี้เนื่องจากเป็นประเทศคู่แข่งกัน อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการสร้างความสมดุลให้กับการจัดการความสัมพันธ์ของอี อาจทำให้สหรัฐไม่พอใจ
บรูซ คลิงเนอร์ นักวิจัยอาวุโสของมูลนิธิเฮอริเทจกล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีอีอาจได้พบกับ “ความขัดแย้งกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่กำลังให้ความสำคัญกับการต่อต้านการกระทำที่รุนแรงของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” และเขายังกล่าวอีกว่าเกาหลีใต้อาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐให้รับบทบาทในการต่อต้าน “ภัยคุกคามจากจีนที่กำลังจะเข้ามา” มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวออกมาแสดงความกังวลว่าจีนเริ่มมี “อิทธิพลเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศ” หลังจากอีชนะเลือกตั้ง แต่ยังคงยืนยันว่าการเลือกตั้งของเกาหลีใต้เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนที่ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ต้องเผชิญ
ปัจจุบันประธานาธิบดีอีได้รับคำเชิญให้บินเดินทางไปแคนาดาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (การประชุมกลุ่ม G7) ในสัปดาห์หน้า แม้ว่าเกาหลีใต้จะไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกก็ตาม การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้อาจทำให้อีมีโอกาสพบกับทรัมป์แบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรก หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้สนทนาทางโทรศัพท์กันครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ (6 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีอียืนยันว่าการปกป้องสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้จากนโยบายภาษีตอบโต้ Tariff ของทรัมป์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการหารือทวิภาคีครั้งนี้
อ้างอิง: Bloomberg