ญี่ปุ่นถก ‘ขึ้นภาษีนักท่องเที่ยว’ ยกเลิกสิทธิ Duty Free เพิ่มภาษีขาออก

ญี่ปุ่นถก ‘ขึ้นภาษีนักท่องเที่ยว’ ยกเลิกสิทธิ Duty Free เพิ่มภาษีขาออก

ญี่ปุ่นพิจารณา ‘ขึ้นภาษีชาวต่างชาติ’ ที่มาเที่ยว ไม่ว่าการ ‘ยกเลิก’ สิทธิชอปปิงปลอดภาษี หรือการ ‘ปรับเพิ่ม’ ภาษีขาออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 เยน แต่ก็มีผู้เห็นต่างที่กังวลว่า มาตรการเหล่านี้อาจทำให้การท่องเที่ยวซบเซาลง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า “ญี่ปุ่น” กำลังพิจารณา “ขึ้นภาษีต่อชาวต่างชาติ” ที่เดินทางเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการ "ยกเลิก" สิทธิชอปปิงปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว และการ "ปรับเพิ่ม" ภาษีขาออกจากประเทศ ท่ามกลางความพยายามของเหล่าสมาชิกสภาที่หาวิธี “เติมเงินเข้าคลังของรัฐบาล” โดยไม่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน

ในขณะนี้ พรรคฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างแข่งขันกันนำเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ก่อนการเลือกตั้งวุฒิสภาที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า และเนื่องจากทุกพรรคต่างไม่ต้องการเสนอแนะนโยบายที่เพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน “การขึ้นภาษีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ” จึงกลายเป็นทางเลือกที่มีแนวโน้มจะถูกต่อต้านน้อยกว่า

ยูมิ โยชิคาวะ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กล่าวในการประชุมงบประมาณของวุฒิสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่า ควรปรับขึ้นภาษีท่องเที่ยวระหว่างประเทศซึ่งจัดเก็บเมื่อเดินทางออกจากญี่ปุ่น

โยชิคาวะ กล่าวว่า ภาษีดังกล่าวควรถูกปรับให้เทียบเคียงกับระดับของประเทศอื่นๆ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ส่งสัญญาณว่า จะพิจารณาข้อเสนอนี้ต่อไป

ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นเก็บภาษีขาออก ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2019 ในการสร้างรายได้สำหรับการขยาย และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว โดยอยู่ที่ 1,000 เยน หรือราว 226 บาท

กระทรวงการคลัง ของญี่ปุ่นระบุเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ว่า รายได้จากภาษีดังกล่าวในปีงบประมาณ 2024 เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,100 ล้านเยน หรือราว 10,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ภาษีขาออกจะถูกรวมอยู่ในค่าตั๋วเครื่องบิน และใช้บังคับกับทั้งชาวญี่ปุ่น และชาวต่างชาติ หากมีการปรับขึ้นภาษีเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องมีการจัดทำระบบใหม่ขึ้นมา

ข้อเสนออีกแนวทางหนึ่ง คือ การทบทวนหรือยกเลิกการยกเว้นภาษีบริโภคสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อสินค้าภายใต้ระบบปลอดภาษี

ทาโร อาโสะ อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาอาวุโสของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ได้รวบรวมข้อเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีไว้ว่า การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และยาจำนวนมากโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติบางราย ไม่ใช่การท่องเที่ยวตามที่เราต้องการ และการซื้อสินค้าเหล่านี้ ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือเพิ่มโอกาสการจ้างงาน

นอกจากนี้ การซื้อสินค้าจำนวนมากโดยชาวต่างชาติ ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำกันหลายครั้งด้วยจุดประสงค์เพื่อนำไปขายต่อ และมักกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่เป็นหลัก

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอแนวทางในการป้องกันพฤติกรรมดังกล่าว รวมถึงการเปลี่ยนระบบในเดือนพฤศจิกายน ปี 2026 โดยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบคืนภาษี ณ เวลาขาออกจากประเทศ หลังจากยืนยันแล้วว่า สินค้าที่ซื้อจะถูกนำออกนอกประเทศจริง

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงคัดค้านข้อเสนอเหล่านี้เช่นกัน

ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 60 ล้านคน ภายในปี 2030 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 70% จากปี 2024 อย่างไรก็ตาม ภาระภาษีที่ถูกมองว่าสูงเกินไป อาจทำให้นักท่องเที่ยวลังเลที่จะมาเยือน ส่งผลให้เม็ดเงินใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลง และกระทบต่อภาคค้าปลีก และอุตสาหกรรมอื่นๆ

“คนอาจตื่นตระหนกหากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มา” สมาชิกอาวุโสอีกคนหนึ่งของคณะกรรมาธิการด้านภาษีของพรรค LDP กล่าว “เราเพิ่งปรับระบบปลอดภาษีไป ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกในเร็ว ๆ นี้”

ในสหราชอาณาจักร หลังจากยกเลิกการยกเว้นภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลัง Brexit ในปี 2020 ร้านค้าสินค้าแบรนด์หรู และธุรกิจในลักษณะเดียวกันก็พบว่า มียอดขายลดลง ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากนโยบายดังกล่าว

ในญี่ปุ่น บางเทศบาลก็เริ่มดำเนินการเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในอัตราที่สูงขึ้นแล้วเช่นกัน

จังหวัดโอซากา จะปรับขึ้นภาษีที่พักสูงสุดอีก 200 เยนตั้งแต่เดือนกันยายน นี้ และจะขยายขอบเขตการจัดเก็บจากที่พักที่มีราคาตั้งแต่ 7,000 เยนต่อคืน ให้ครอบคลุมที่พักที่มีราคาตั้งแต่ 5,000 เยนขึ้นไป

เมืองเกียวโตได้ตัดสินใจปรับเพดานสูงสุดของภาษีที่พักต่อคนต่อคืนจาก 1,000 เยน เป็น 10,000 เยน โดยคาดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลบังคับใช้หลังเดือนมีนาคม 2026
 

 

อ้างอิง: nikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์