ทรัมป์ VS บัฟเฟตต์ : มุมมองคนละขั้วต่อเศรษฐกิจสหรัฐ - โลก

ทรัมป์ VS บัฟเฟตต์ :  มุมมองคนละขั้วต่อเศรษฐกิจสหรัฐ - โลก

ทรัมป์ VS บัฟเฟตต์ สองยักษ์ใหญ่ สองปรัชญาชีวิต มีมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐ - โลก ที่แตกต่างกันสุดขั้ว บัฟเฟตต์เชื่อในโลกาภิวัตน์การค้าเสรี ทรัมป์ชอบลัทธิกีดกันทางการค้า

โดนัลด์ ทรัมป์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา และโลก ต่างก็อยู่ในแวดวงที่แตกต่างกันอย่างมาก ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดี และนักธุรกิจ ในขณะที่บัฟเฟตต์ในฐานะนักลงทุนชื่อดังที่ได้ฉายาว่า “เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา” ปรัชญาของพวกเขาเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ สะท้อนถึงภูมิหลัง และอุดมการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งมักจะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนในมุมมองของพวกเขาที่มีต่อวิถีเศรษฐกิจของประเทศ และของโลกด้วย 

  • เศรษฐกิจสหรัฐเสื่อม VS ยังครองความเป็นหนึ่ง

โดนัลด์ ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐ กำลังสูญเสียอิทธิพลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอ้างถึงการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากจีน และเขามักจะกล่าวโทษการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐชุดก่อนๆ ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสมัยที่หนึ่งและสอง ทรัมป์เน้นย้ำถึงการเสื่อมถอยของสหรัฐ ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากการแข่งขันจากต่างประเทศ วาทกรรม "อเมริกาต้องมาก่อน" หรือ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ของเขาเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นของเขาที่ว่าสหรัฐ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก

ตรงกันข้าม วอร์เรน บัฟเฟตต์ กลับมีความเชื่อมั่นอย่างไม่สั่นคลอนในความแข็งแกร่ง และความเป็นเลิศของเศรษฐกิจสหรัฐ ในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ประจำปีเมื่อเร็วๆ นี้ และที่ผ่านมาทุกครั้ง เขามักแสดงความมั่นใจในความสามารถของประเทศในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และเจริญรุ่งเรือง

บัฟเฟตต์ กล่าวในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ประจำปีเมื่อวันที่ 3 พ.ค.68 ที่ผ่านมาว่า  “สหรัฐ ได้ชัยชนะ ผมหมายความว่า เราได้กลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เริ่มต้นจากศูนย์เมื่อ 250 ปีที่แล้ว ไม่มีอะไรจะเทียบได้” 

 

การมองโลกในแง่ดีของบัฟเฟตต์มีที่มาจากบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์  สหรัฐ ฝ่าฟันสงคราม ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความวุ่นวายทางการเมืองมาได้ จนมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก ศรัทธาที่เขามีต่อบริษัทในอเมริกา ระบบทุนนิยมอเมริกา และศักยภาพสูงของประชาชนเป็นรากฐานของโลกทัศน์ของเขา

  • การกีดกันการค้า VS การค้าเสรี

รัฐบาลของทรัมป์ใช้กำแพงภาษีศุลกากรสูงเป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างการค้าโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แนวทางการกีดกันทางการค้าของเขามุ่งเป้าไปที่การต่อต้านประเทศที่เกินดุลทางการค้ากับสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนซึ่งเกินดุลการค้าสหรัฐมากที่สุด ไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ดุลการค้าสหรัฐสูงในระดับต้นๆ 

ทรัมป์มองว่าภาษีศุลกากรเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่ใช้แสดงอำนาจเหนือ และรับรองข้อตกลงที่ดีกว่าสำหรับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงในสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐ และโลกอาจจะถดถอย รวมทั้งผลกระทบในระยะยาวต่อความสัมพันธ์ทางการค้าโลก

ในทางกลับกัน บัฟเฟตต์ สนับสนุนโลกาภิวัตน์การค้าเสรีอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire  ประจำปีเมื่อวันที่ 3 พ.ค.68 เขาได้เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้การค้าเป็นอาวุธ “ การกีดกันการค้า และ ภาษีศุลกากร อาจเป็นการกระทำแห่งสงคราม.. เราควรหันไปทำการค้ากับส่วนอื่นๆ ของโลก และเราควรทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด และพวกเขาก็ควรทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด” 

บัฟเฟตต์เชื่อในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศมากกว่าการสร้างอุปสรรค 

“ในความเห็นของผม ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เมื่อคุณมีคน 7,500 ล้านคน ที่ไม่ชอบหน้าคุณเลย และมีคนอีก 300 ล้านคนที่คุยโวโอ้อวดว่าพวกเขาทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง และผมไม่คิดว่ามันฉลาดเลย” บัฟเฟตต์ กล่าว

 

 

ในมุมมองของเขา การค้าเสรีมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยขยายตลาดสำหรับสินค้า และบริการของสหรัฐ เขาโต้แย้งว่า นโยบายกีดกันทางการค้าอาจส่งผลเสีย โดยไปขัดขวางนวัตกรรม และจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • เลี่ยงเสียภาษี VS เต็มใจเสียภาษีสูง

แนวทางการเก็บภาษีของทรัมป์ทำให้หลายๆ คนจับตามองมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขามักวางแผนภาษีด้วยการแสวงหาวิธีลดภาระภาษีของตนโดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย และการหักลดหย่อนเพื่อลดการชำระเงินภาษีรายได้ ท่าทีของเขาสะท้อนถึงความเชื่อแบบอนุรักษนิยมในการจำกัดการแทรกแซงของภาครัฐบาลต่อความมั่งคั่งส่วนบุคคล และผลกำไรของบริษัท ทรัมป์ออกนโยบายลดภาษีรายได้ และในสมัยสองกำลังเสนอมาตรการลดภาษีครั้งใหญ่ให้กับคนทั่วไป และธุรกิจ แม้ประเทศจะขาดดุลงบประมาณ และมีหนี้สาธารณะสูง นักวิจารณ์โต้แย้งว่าแนวทางการเสียภาษีของทรัมป์เองทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ และเกิดคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรม และโจมตีการแนวทางการลดภาษีของเขาว่า คนรวยได้ประโยชน์จากการลดภาษีมากกว่าคนจน 

ทัศนคติของบัฟเฟตต์ต่อการจัดเก็บภาษีนั้นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าเขาจะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่เขาก็เป็นผู้สนับสนุนอย่างเปิดเผยให้เก็บภาษีอภิมหาเศรษฐี ( America’s super-rich) มากขึ้น บัฟเฟตต์มักจะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอัตราภาษีของเขา และเลขานุการ ของเขาซึ่งเสียภาษีรายได้ในอัตราที่สูงกว่า ขณะที่เศรษฐีได้ลดภาษีมากมาย บัฟเฟตต์เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้ความยุติธรรมกับมนุษย์เงินเดือนคนอเมริกันทั่วๆ ไป ความเต็มใจของเขาที่จะจ่ายภาษีที่สูงขึ้นนั้นมาจากความเชื่อที่ว่า คนมหาเศรษฐีได้ประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป จากความรุ่งเรืองของประเทศ และควรมีความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะท่วม

นอกจากนี้ในช่วงประมาณ 20 ที่ผ่านมา เขาบริจาคหุ้นของ Birkshire เพื่อการกุศลมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามการคำนวณของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก บัฟเฟตต์ยังประกาศว่าจะบริจาคทรัพย์สิน 99 % ก่อนเขาตายหรือวันที่เขาตายลง  

  • หาประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล VS เตือนภัย

การออกนโยบายเอื้อสินทรัพย์ดิจิทัลของทรัมป์ รวมถึงการออกเหรียญมีม meme coin ของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงความชอบของทรัมป์ในการหากำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัล แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลจะได้รับความนิยมในคนบางกลุ่ม แต่การมีส่วนร่วมของทรัมป์กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการฉวยโอกาสมากกว่าจะเป็นเชิงกลยุทธ์ของประเทศ

ในทางกลับกัน บัฟเฟตต์มองว่าสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เงินคริปโทฯ บิตคอยน์ นั้นเป็นพิษภัย เขาเตือนอยู่เสมอว่าไม่ควรลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่าสกุลเงินดิจิทัลไม่มีมูลค่าในตัวเอง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการผลิต ความรังเกียจสินทรัพย์ดิจิทัลของเขาสอดคล้องกับปรัชญาการลงทุนของเขา ที่ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และธุรกิจที่มีประวัติการทำงานที่พิสูจน์ได้

  • ความฉาว VS ความเฉลียวฉลาด

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และอาชีพนักธุรกิจของทรัมป์เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาครึกโครม และฉาวโฉ่ โดยนักวิจารณ์มักกล่าวหาว่าเขาชอบสร้างความเข้าใจผิด ก่อความแตกแยกในสังคม และตัดสินใจทำอะไรอย่างมีเงื่อนงำ  แม้ว่าทรัมป์จะมีฐานผู้สนับสนุนจำนวนมากที่ชื่นชมสไตล์ที่ก้าวร้าว คุยโม้โอ้อวด พูดเท็จของเขา แต่บุคลิกต่อสาธารณะของเขากลับถูกบดบังด้วยข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ในทางตรงกันข้าม บัฟเฟตต์เป็นที่เคารพนับถือในเรื่องภูมิปัญญา และความซื่อสัตย์ ในฐานะนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ข้อมูลเชิงลึกของเขาเป็นที่ต้องการของทั้งบุคคล และบริษัท ชื่อเสียงของบัฟเฟตต์ในด้านการมองการณ์ไกล เขาเคยชี้ให้เห็นถึงภัยของอนุพันธ์ทางการเงินโดยเปรียบเทียบเหมือนเป็นอาวุธทำลายล้างสูง  และการที่อนุพันธ์ทางการเงิน เช่น หลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพหนุน Subprime mortage-backed securities และ Credit default swaps ก่อให้เกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ( 2551)  ยิ่งตอกย้ำสถานะของเขาในฐานะบุคคลที่น่าเชื่อถือในแวดวงเศรษฐกิจ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์