‘ภูฏาน’ ดินแดน ‘มังกรสายฟ้า’ (1) | World Wide View

ภูฏาน ประเทศขนาดเล็กแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น คนภูฏานคล้ายคนไทย มีชีวิตผูกพันอยู่กับข้าว หากมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน ก็จะเอาข้าวสารผสมสีทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ให้แขกได้เดินผ่านเพื่อความเป็นสิริมงคล
ภูฏานเป็นประเทศในเทือกเขาหิมาลัย มีขนาดไม่ใหญ่มาก ประมาณ 2 เท่าของจังหวัดกาญจนบุรี มีประชากรเกือบ 8 แสนคน ซึ่งน้อยกว่ากาญจนบุรีอยู่ประมาณ 1 แสนคน ด้วยความที่อยู่ในทิวเขา มีขนาดไม่ใหญ่มากและประชากรน้อย ภูมิประเทศแบบนี้จึงเป็นปัจจัยในการกำหนดวิถีชีวิตของคนภูฏานมาหลายศตวรรษ
การเดินทางเข้าภูฏานมาได้เพียง 2 สายการบินเท่านั้น คือ Druk Air (ซึ่งเป็นของรัฐ) และ Bhutan Airlines (ซึ่งเป็นของเอกชน) เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา ทำให้นักบินต้องมีความชำนาญและใบอนุญาตพิเศษ โดยทั้งสองสายการบินมีบินตรงจากกรุงเทพฯ คนไทยจึงสามารถไปภูฏานได้สะดวกมาก อย่างไรก็ตาม การจะไปเที่ยวที่นี่ต้องเตรียมเงินวันละ 100 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน เรียกง่ายๆ ว่าเป็นค่าภาษีท่องเที่ยว เนื่องจากภูฏานไม่ได้เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพของนักท่องเที่ยว ถึงแม้เราต้องจ่ายเงินแพงขึ้นอีกนิด แต่ก็เป็นการการันตีว่าจะไม่เจอนักท่องเที่ยวเกกมะเหรกเกเร และเงินก็ถูกนำไปพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของภูฏาน
ด้วยความเป็นเทือกเขาและมีที่ราบน้อยทำให้ภูฏานมีสนามบินนานาชาติที่เมืองพาโรเพียงแห่งเดียว โดยมีสนามบินในประเทศอีก 3 แห่งและไม่มีรถไฟ การเดินทางจึงทำได้ด้วยรถยนต์และรถโดยสารประจำทางเป็นหลัก ซึ่งถนนโดยมากจะเป็น 2 เลนสวนกันลัดเลาะไปตามทิวเขา หากจะเดินทางจากซ้ายสุดไปขวาสุดของประเทศโดยรถบัสจะใช้เวลาเกือบ 2 วัน และต้องพักค้างคืนกลางทาง แต่หากจะขับรถเก๋งไปเองรวดเดียวก็ต้องใช้เวลาเกือบ 1 วันเต็ม และคนขับต้องมีสมาธิมาก จะขับไปดูมือถือไปแบบบ้านเราไม่ได้ เพราะรู้ตัวอีกทีคงอยู่ที่ก้นเหวแล้ว
ระหว่างทางบนถนนยังมักพบร้านเล็กๆ ที่ขายพืชพันธุ์ทางการเกษตรท้องถิ่น และหมากให้คนขับรถได้เคี้ยวเพื่อความตื่นตัวและให้ความอบอุ่น รวมถึงจะเจอชีสจากนมวัวและนมจามรีร้อยเรียงเป็นสาย (ซึ่งชีสนี้จะแข็งขนาดเอาไปปาเป็นอาวุธได้) โดยคนที่นี่จะเอาชีสประเภทนี้มาหั่นเป็นก้อนเล็ก ๆ และอมไว้เพื่อเพิ่มพลังงาน
ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขายังทำให้ภูฏานมีแม่น้ำลำธารไหลผ่านตลอดทั้งประเทศและไม่เคยเหือดแห้ง โดยน้ำมาจากการละลายของหิมะของเทือกเขาหิมาลัยและน้ำฝน ประกอบกับคนที่นี่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างดี ทำให้น้ำที่นี่ใสสะอาด ส่งผลให้พืชผักผลไม้รสชาติดี และพบเห็นการทำการเกษตรแบบขั้นบันไดอยู่ทั่วไป ผักที่คนท้องถิ่นมักภูมิใจนำเสนอคือหน่อไม้ฝรั่งที่รสชาติกรอบหวาน เอามาผัดหรือทำสลัดได้อร่อยดีแท้ นอกจากนี้ คนที่นี่ยังค่อนข้างทานเผ็ด มีพริกเป็นส่วนผสมของอาหารอยู่ค่อนข้างแพร่หลาย
คนภูฏานยังคล้ายคนไทยที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับข้าว โดยมีข้าวท้องถิ่นหลากหลายพันธุ์ ที่ขึ้นชื่อชนิดหนึ่งคือข้าวแดงภูฏาน ซึ่งเมล็ดอ้วนสั้นคล้ายข้าวญี่ปุ่นแต่ไม่มียางเท่า เวลาเอามาทำข้าวต้มก็มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และเต็มปากเต็มคำดี หากมีแขกมาเยี่ยมคนพื้นที่ก็มักจะเอาข้าวสารและพืชผลในท้องถิ่นมาใส่ชามเพื่อให้แขกหยิบและโปรยขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ หากมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน ก็จะเอาข้าวสารผสมสีทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ให้แขกได้เดินผ่านเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นกัน
ยังไม่ทันได้เขียนเรื่องวัฒนธรรม ตึกรามบ้านช่อง และการใช้ชีวิตของคนที่นี่ ก็ใช้พื้นที่มาเยอะซะแล้ว เลยขอติดไว้ในข้อเขียนต่อไปครับ เพราะเรื่องนี้ก็มีเกร็ดน่าสนใจให้ขอดได้อีกมากมาย