พอล ครุกแมน ชี้ทรัมป์ทำลายความเชื่อมั่นต่อสหรัฐที่สั่งสมมา 80 ปี

พอล ครุกแมน ชี้ทรัมป์ทำลายความเชื่อมั่นต่อสหรัฐที่สั่งสมมา 80 ปี

พอล ครุกแมน ชี้เงินดอลลาร์ และพันธบัตรสหรัฐกำลังสูญเสียสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยของโลก พร้อมโทษทรัมป์ใช้เวลาเพียง 3 เดือน ทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐที่สั่งสมมา 80 ปี

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล วิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เวลาเพียง 3 เดือนนับแต่วันเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สอง ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศสหรัฐที่สั่งสมมา 80 ปี เขายังวิพากษ์ทรัมป์อย่างรุนแรงว่า โง่ (stupid)  คุ้มดีคุ้มร้าย (erratic) และอ่อนแอ (weak)

นโยบายภาษีที่เปลี่ยนไปมาของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนเทขาย และค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาเพราะนักลงทุนขายออกจากที่ขาดความเชื่อมั่นในทิศทางนโยบายของสหรัฐ 

ครุกแมน กล่าวว่า สัญญาณจากตลาดหุ้นที่ร่วงลงมาเมื่อสัปดาหที่แล้วไม่ได้บอกอะไรมากนัก แต่การขายออกพันธบัตรสหรัฐและดอลลาร์สะท้อนถึงการสูญเสียความเชื่อมั่น  “ในการจับดูสัญญาณตลาดการเงิน มือสมัครเล่นมักจะดูตลาดหุ้น แต่มืออาชีพจะพูดถึงตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยน เพราะตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์น้อยกว่าตลาดหุ้น การลงทุนในตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีการลงทุนตามกระแสมีมแบบในตลาดหุ้น   และสองตลาดนี้ส่งสัญญาณการสูญเสียความเชื่อมั่นในอเมริกาครั้งใหญ่”  ครุกแมน โพสต์ลงแพลตฟอร์ม substack.com ภายใต้หัวข้อเรื่อง อเมริกากำลังจะกลายเป็นประเทศโลกที่สาม “The Third-Worlding of America”

ครุกแมนยอมรับว่า เป็นการยากที่จะวัดว่า การตั้งกำแพงภาษีศุลกากรของทรัมป์ส่งผลต่อสองตลาดมากน้อยแค่ไหน แต่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญแน่นอน 

การแสดงออกถึงความไม่มั่นใจไม่ได้มีแต่เฉพาะในสื่อเท่านั้น ชุมชนธุรกิจก็ขาดความมั่นใจด้วย 

ทรัมป์ประกาศตั้งกำแพงภาษีเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยกำหนดอัตราภาษีพื้นฐานไว้ในอัตรา 10 % และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายนกับทุกประเทศ  ส่วนภาษีอัตราสูงสำหรับหลายประเทศ ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บ 36 % มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 

  • ความปั่นป่วนในตลาดบอนด์ ค่าดอลลาร์อ่อนจุดผลิกแผนภาษี

กำแพงภาษีที่ทรัมป์ประกาศในวันปลดปล่อย (Liberation Day) 2 เมษายน ก่อให้เกิดการเทขายในตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกอย่างหนักในวันต่อมา นักลงทุนหันไปซื้อพันธบัตรสหรัฐเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยทำให้ผลตอลแทนพันธบัตรร่วงลงจากวันที่ 2 เมษายนที่ระดับ 4.19 % ลงไปที่ 3.86% ในวันที่ 4 เมษายน แต่ในวันที่ 7 เมษายนไต่ขึ้นมาที่ 4.16% ตามข้อมูลของเว็บไซต์ซีเอ็นบีซี คนหันกลับเทขายพันธบัตรสหรัฐ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้น ขณะราคาพันธบัตรลดลง และเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาก 

 

 

ทรัมป์พักการเก็บภาษีแบบตอบโต้ไว้ 90 วัน  เมื่อวันพุธ 9 เมษายน ภายหลังไม่กี่ชั่วโมงที่ภาษีมีผลบังคับใช้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตร (คนเทขายพันธบัตร) และการทิ้งเงินดอลลาร์ทำให้ทรัมป์และทีมงานต้องปรับนโยบายภาษีใหม่ หุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในวันพุธดังกล่าว  ตลาดพันธบัตรก็มีท่าทีคลี่คลายลงหลังประกาศพักเก็บภาษี แต่นักลงทุนกลับมาขายหุ้นอีกในวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 

ก่อนเวลาประกาศพักเก็บภาษี นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้น 4.51 %ในวันที่ 9 เมษายน จากที่ระดับ 3.9% สัปดาห์ก่อนหน้า ยีลด์บอนด์อายุ 30 ปี พุ่งสู่ระดับ 5.02 % สูงสุดนับแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2023

ตามข้อมูลของ xe.com ค่าเงินดอลลาร์เทียบกับเงินเยนญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 เมษายนวันที่ทรัมป์เรียกว่า วันปลดแอกอยู่ที่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นก็ไหลลงมาเรื่อยๆ จนอยู่ระดับ 144 เยนในวันพุธ 9 ก่อนที่ทรัมป์จะผ่อนภาษีไป 90 วัน 

ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ (DXY) เทียบดอลลาร์กับสกุลเงินหลักอื่นๆลงต่ำกว่า 100 อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 3 ปีในวันศุกร์ที่ 11 เมษายนจากแรงเทขายสินทรัพย์สหรัฐ 

  • หลังพักเก็บภาษี 90 วัน กำแพงภาษียังสูง

นักลงทุนยังขายพันธบัตรสหรัฐและดอลลาร์เนื่องจากนักลงทุนยังถือว่า ภาษี 10% และภาษีต่อจีน 145% ยังสูง จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสามของสหรัฐรองจาก แคนาดาและเม็กซิโก

 ภาษีเหล็กและอลูมิเนียม รวมทั้งนักลงทุนไม่แน่ใจว่า การเจรจากับอีกหลายประเทศจะลงเอยอย่างไรในกรอบเวลาที่พักภาษีไว้ 90 วัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจชะลอตัวแรง หรืออาจจะถึงกับหดตัว

ครุกแมนเห็นว่า ใครก็ตามที่บอกว่า ภาษีศุลกากรหลังวันที่ 9 เมษายนลดลงมาก ถือว่าเข้าใจประเด็นผิดไปมาก

  • คาดกำแพงภาษีกระทบเงินเฟ้อแรง

นักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์วิจัย  Yale Budget Lab ประเมินว่า กรอบภาษีนำเข้าวันที่ 9 เมษายนจะทำให้ราคาสินค้าเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นสูงกว่ากรอบภาษีวันที่ 2 เมษายน เพราะสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงเกินไปมาก ศูนย์วิจัยนี้ทำนายว่า แผนสงครามภาษีฉบับล่าสุดของทรัมป์(ก่อนยกเว้นภาษีให้กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกาศเมื่อวันที่ 13 เมษายน)  จะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.9% หรือสูงกว่า 10 เท่าของผลกระทบจากภาษีศุลกากรสมูต-ฮอว์ลีย์ของปี 1930 (Smoot-Hawley)

  • ข้ออ้างปรับแผนภาษียิ่งลดความเชื่อมั่น

ครุกแมนชี้ว่า นอกจากนี้การที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวประกาศว่า การปรับเปลี่ยนกรอบภาษีไปมา เป็นส่วนหนึ่งของแผนการณ์ของทรัมป์ ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลสหรัฐเสื่อมลงหนักไปอีก  

หลายคนเชื่อว่า ทรัมป์ใช้แผนภาษีเป็นเครื่องมือในการต่อรองการค้า แต่ครุกแมนสงสัยว่าไม่ใช่  เพราะทรัมป์และปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาได้ภาษีศุลกากรของเขา ประกาศว่า ประเทศอื่นๆหลอกลวงอเมริกา เอาเปรียบ และปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างไม่ยุติธรรม ครุกแมนแย้งว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างที่ทรัมป์และนาวาร์โรกล่าวหา  ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป ที่ตั้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐไว้ต่ำเพียง 1.7% และไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงอื่นซ่อนไว้ แต่อย่างใด 

ครุกแมนตั้งคำถามว่า แล้วเราจะต่อรองไปเพื่ออะไร? ประเทศต่างๆไม่สามารถลดอุปสรรคทางการค้าลง เพราะมันไม่มีอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว

“นาวาร์โรอ้างว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มถือว่าเป็นภาษีศุลกากรโดยพฤตินัย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ และสหภาพยุโรปจะไม่ยินยอม” ครุกแมน กล่าว 

ครุกแมนคาดว่า ประเทศต่างๆจะแกล้งบอกกับสหรัฐว่า พวกเขายินยอมสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ทรัมป์ประกาศได้ว่า เขาชนะในเกมการต่อรอง

ตัวอย่างเช่น ในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์ปี 2017-2021 จีนไม่ได้ซื้อถั่วเหลืองจากชาวนาสหรัฐเต็มตามจำนวนที่ได้สัญญาไว้  หรือกรณีการแก้ไขข้อตกลง

การค้าเสรีอเมริกาเหนือก็ไม่ได้มีการแก้ไขอะไรมากมายอย่างที่ทรัมป์ได้โอ้อวดไว้ 

  • ตลาดบอนด์และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนตลาดไม่เชื่อเจรจาสำเร็จ

ปัจจุบัน ทรัมป์มัวเมากับความคิดของคนเอง ตามกรอบภาษีวันที่ 9 เมษายนนั้น ทรัมป์ยังคงกำแพงภาษีสูงสำหรับสามคู่ค้ารายใหญ่สุด แคนาดา เม็กซิโก และจีน 

“ผู้ค้าในตลาดพันธบัตรและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้หลงเชื่อตามทรัมป์ พวกเขาไม่เชื่อว่า การเจรจาต่อรองจะนำไปสู่ความสำเร็จ”

ครุกแมนกล่าวต่อไปว่า ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การขึ้นภาษีศุลกากรมักจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น เว้นแต่ในกรณีประเทศอื่นๆตอบโต้ 

ระหว่างการให้ปากคำต่อวุฒิสภาเพื่อให้ลงเสียงรับรอง สก็อตต์ เบสเซนต์ เป็นรัฐมนตรี

 

กระทรวงการคลัง เบสเซนต์ ยกเหตุผลว่า การตั้งกำแพงภาษีศุลกากรเป็น 10% จะนำไปสู่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ขึ้นประมาณ 4%  ครุกแมนชี้ว่า แต่ครั้งนี้สถานการณ์ไม่เป็นไปเช่นนั้น แทนที่จะแข็งค่าขึ้น เงินดอลลาร์กลับร่วงลงแรง 

โดยเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดคือ นโยบายอันเลวร้ายสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยได้รับการยอมรับว่า เป็นแหล่งหลบภัยทางการเงิน 

ครุกแมนชี้ว่า ประเด็นหลักคือ การขึ้นภาษีศุลกากรสูงมากดิสรัปตลาด ทำให้ตลาดการเงินหยุดชะงัก ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น  สิ่งที่ผิดปกติอีกข้อคือ ปกติแล้วเมื่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น มักจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลง เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งควบคุมดอกเบี้ยระยะสั้น ลดดอกเบี้ยลง แต่ครั้งนี้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 30 ปี 

  • สหรัฐกำลังจะกลายเป็นประเทศโลกที่สาม

ครุกแมนชี้ว่า ปัจจัยร่วมของตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนคือ นโยบายของทรัมป์ทำให้ฐานของฐานของระบบตลาดการเงินโลก ไม่ได้ถูกมองว่า มั่นคงอีกต่อไป       

ครุกแมนตั้งข้อสังเกตว่า “การพุ่งขึ้นของดอกเบี้ย ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอ และการลดลงของค่าเงินแม้ดอกเบี้ยถีบตัวสูงขึ้น โดยปกติจะไม่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศเจ้าของสกุลเงินที่ถูกใช้เป็นเงินทุนสำรองของทั่วโลก  ปรากฎการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นกับประเทศตลาดเกิดใหม่ ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนเริ่มปฏิบัติต่อสหรัฐอเมริกา เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อประเทศโลกที่สาม”

  • ทรัมป์ทำลายความเชื่อมั่นต่อสหรัฐที่สะสมมา 80 ปี

ครุกแมนกล่าว่า เขาไม่คิดมาก่อนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น แม้เขารู้จะว่านโนบายของทรัมป์นั้นจะเป็นนโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบ และทำลายล้าง “ผมไม่เคยคิดว่า ทรัมป์จะทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อสหรัฐที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลากว่า 80 ปี ลงได้ภายในเวลาน้อยกว่าสามเดือน แต่เขาได้ทำมันแล้ว”

ครุกแมนกล่าวต่อไปว่า แม้ทรัมป์จะกลับลำยกเลิกนโยบายที่เขาได้ทำไปทั้งหมด สหรัฐก็จะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นที่สูญไปกลับคืนมาได้ 

“ทั้งโลก ยกเว้นกลุ่มคนที่พยายามมองว่าทรัมป์ทำอะไรเป็นปกติ  ขณะนี้ต่างรู้ว่า สหรัฐอเมริกาบริหารโดยกษัตริย์ผู้บ้าคลั่ง ล้อมรอบด้วยพวกถือหาง ทรัมป์เป็นบุคคลคนที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ว่า เขาจะทำอะไรอย่างมีเหตุมีผล”