Apple เจอศึก 2 ทาง ‘สงครามการค้า’ บีบย้ายฐานผลิตกลับ 'สหรัฐ'

Apple เจอศึก 2 ทาง ‘สงครามการค้า’ บีบย้ายฐานผลิตกลับ 'สหรัฐ'

Apple เจอศึก 2 ทาง หลัง ‘จีน-สหรัฐ’ ตอบโต้ภาษีแบบไม่ยอมกัน ดันต้นทุนการผลิตแพงขึ้น เร่งย้ายฐานการผลิตออกจีน-เอเชีย หรืออาจหวนคืนกลับบ้านเกิด ‘สหรัฐ’ ?

KEY

POINTS

  • "สงครามการค้า" รุนแรงขึ้น  สหรัฐ-จีนประกาศภาษีตอบโต้แบบชนิดที่เรียกว่า "ไม่มีใครยอมใคร" จนขึ้นไปแตะระดับ 145% และ 125% ทำให้ตอนนี้ Apple เจอศึก 2 ทาง 
  • ถ้า Apple จะขึ้นราคาขาย  iPhone ให้ผู้บริโภคแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้นนั้น  “ไม่ใช่เรื่องง่าย”  เพราะ ยอดขายกำลังประสบภาวะชะลอตัวในปีที่ผ่านมา
  • แต่เมื่อห่วงโซ่อุปทานในจีนและเอเชีย เผชิญกับความเปราะบาง  Apple จะสามารถหันไปพึ่งพาแหล่งผลิตอื่นใดได้บ้าง?
  • หรือการลงทุน 5 แสนล้านดอลลาร์ในสหรัฐเป็นระยะเวลา 4 ปี อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการ “ย้าย” ฐานการผลิตกลับสู่ประเทศบ้านเกิด 

ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศระงับการใช้ "ภาษี ตอบโต้" กับประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน แม้ว่าการเคลื่อนไหวนี้จะดูเหมือนเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้า แต่สำหรับ “แอปเปิ้ล” (Apple) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้กลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเพราะทรัมป์ไม่ยอมอ่อนข้อให้  “จีน”

อนาคตของ Apple ขึ้นอยู่กับนโยบายการค้าของทรัมป์ หาก "สงครามการค้า" ทวีความรุนแรงขึ้น   โดยในช่วงหลายวันที่ผ่านมาสหรัฐและจีนประกาศภาษีตอบโต้แบบชนิดที่เรียกว่า "ไม่มีใครยอมใคร" จนอัตราภาษีเรียกเก็บภาษีศุลกากรขึ้นไปแตะระดับ 145% และ 125% 

เท่ากับว่าตอนนี้ Apple เจอศึก 2 ทาง เพราะยิ่งกำแพงภาษีนำเข้าของทั้ง 2 ประเทศสูงขึ้นเท่าไหร่ นำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเท่านั้น โดยจีนถือเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าของ Apple เกือบ 90% และมี iPhone ประมาณ 70 ล้านเครื่องที่ประกอบในจีนส่งมาขายในอเมริกา 

แก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคา ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’

เดวิด โวคท์ จากธนาคารยูบีเอสมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันของ Apple กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ถ้า Apple จะแก้ปัญหากำแพงภาษีของทรัมป์ด้วยการขึ้นราคาขาย  iPhone ให้ผู้บริโภคแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้นนั้น “ไม่ใช่เรื่องง่าย” เพราะ ยอดขาย iPhone ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรายได้ Apple กำลังประสบภาวะชะลอตัวในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนสำคัญในการผลักดันรายได้กำลังประสบภาวะชะลอตัว เนื่องจากไม่มีฟีเจอร์ใหม่เช่น AI มาดึงดูดใจลูกค้าได้มากพอ

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาขายปลีกของ iPhone รุ่นล่าสุดที่เริ่มต้นสูงถึง 999 ดอลลาร์ ทำให้ Apple เผชิญกับข้อจำกัดในการปรับขึ้นราคาอีก ซึ่งปรากฏการณ์ที่ลูกค้าในอเมริกาแห่กันไปซื้ออุปกรณ์ Apple ก่อนที่มาตรการภาษีศุลกากรจะมีผลบังคับใช้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคา  

บัลลังก์ Apple ในจีนระส่ำ

จีนตอบโต้สหรัฐ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์นี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เม.ย. จีนได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐสู่ระดับ 125% นั้น อาจทำให้ต้นทุนการผลิตของ Apple สูงขึ้น เนื่องจากชิ้นส่วนประกอบบางอย่างที่ Apple ใช้ในการผลิต iPhone และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาจมีราคาแพงขึ้นเมื่อนำเข้าไปยังประเทศจีน เช่น กระจก Gorilla Glass ซึ่งผลิตโดยบริษัท ในสหรัฐ 

รวมทั้ง หากจีนจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายากซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์รายอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าของ Apple ทำให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทานและอาจนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นได้

ความเสี่ยงทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของ Apple ในจีนโดยตรง ข้อมูลเมื่อปีที่แล้วชี้ให้เห็นว่า รายได้ของ Apple ในจีนลดลงถึง 8% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการ iPhone และ iPad ที่ลดลง 

เรื่องราวทั้งหมดจะเลวร้ายลงไปอีก หากผู้บริโภคชาวจีนมองว่า Apple เป็น "แพะรับบาป" สำหรับนโยบายทางการค้าของ ทรัมป์ ซึ่งอาจนำไปสู่การคว่ำบาตร Apple และหันไปสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ เช่น Huawei, Oppo และ Xiaomi  

Apple  ย้ายฐานผลิตออกจากจีน ทำได้จริงหรือ?

Apple ไม่ได้เพิ่งเผชิญความเสี่ยงในจีน  นับตั้งแต่จีนเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโววิด 19  Apple ก็พยายามที่จะลดความเสี่ยงโดยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ใน “เอเชีย” อย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุดเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ว่า   Apple วางแผนที่จะเพิ่มการจัดส่ง iPhone ที่ผลิตในอินเดียไปยังสหรัฐ  เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าที่สูงกว่าในจีนเมื่อเทียบกับอินเดีย

ที่ผ่านมา Apple วางโครงสร้างในจีนจนฝังรากลึก ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถย้ายฐานการผลิตได้จริง 

กรณีศึกษาจาก Harvard Business School เมื่อปีที่แล้วได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้ โดยระบุว่า การพยายามย้ายฐานการผลิตไปยังอินเดีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นทางเลือกหนึ่งนั้น ต้องอาศัย "การลงทุนจำนวนมาก ความอดทนที่ไม่ย่อท้อ และระยะเวลาที่ยาวนาน" ซึ่งแตกต่างจากจีนที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญด้านการผลิต ทำให้การถอนรากถอนโคนและสร้างระบบใหม่ในประเทศอื่นเป็นเรื่องที่ท้าทาย 

หรือ Apple จะหวนคืนสหรัฐ 

แต่เมื่อห่วงโซ่อุปทานในเอเชียของ Apple เผชิญกับความเปราะบางมากขึ้น คำถามที่ตามมาคือ Apple จะสามารถหันไปพึ่งพาแหล่งผลิตอื่นใดได้บ้าง?  หรือคำมั่นสัญญาของ Apple ที่เผยว่าจะลงทุน 5 แสนล้านดอลลาร์ในสหรัฐเป็นระยะเวลา 4 ปี ซึ่งให้ไว้หลังจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการ “ย้าย” ฐานการผลิตกลับสู่ประเทศบ้านเกิด 

นักวิเคราะห์จาก UBS มองว่าตัวเลข 5 แสนล้านดอลลาร์นั้นเป็นเพียง "เรื่องไร้สาระ" ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เท่านั้น เพราะการลงทุนถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลาเพียง 4 ปีนั้นเป็นภาระที่หนักอึ้งเกินไป

ก่อนหน้านี้ Apple ยังเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะลงทุน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 5 ปีในช่วงวาระแรกของทรัมป์ และยังมีคำมั่นสัญญาใหญ่อีกครั้งในช่วงการบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งคำกล่าวทั้งสองครั้งในอดีตไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากนัก สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตขนาดใหญ่ของ Apple ในระยะเวลาอันสั้น

สร้าง ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ ใหม่ ความท้าทายประการแรก

นอกจากปัญหาด้านการลงทุนแล้ว ยังมีอุปสรรคสำคัญทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดในการย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐ เนื่องจากการโน้มน้าวให้ TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ให้กับ Apple เริ่มดำเนินการผลิตในรัฐแอริโซนานั้นต้องใช้เวลาหลายปี และยังต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมหาศาล

รวมทั้ง Apple ต้องสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ที่ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของ iPhone เช่น ระบบจ่ายไฟ เคส และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในอเมริกา ซึ่งจนถึงขณะนี้ รัฐบาลดีทรัมป์ก็ยังไม่ได้เสนอแรงจูงใจใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดบริษัทเหล่านี้

วัมซี โมฮันนักวิเคราะห์ของ Apple จากแบงก์ออฟอเมริกามองว่า การย้ายห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของ iPhone กลับมายังสหรัฐอเมริกานั้นอาจต้องใช้เวลานานหลายปี และในความเป็นจริงแล้ว อาจเป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้เลย” ด้วยความซับซ้อนและการเชื่อมโยงของซัพพลายเออร์จำนวนมากที่อยู่ในเอเชีย การสร้างระบบนิเวศการผลิตใหม่ทั้งหมดในอเมริกาจึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และต้องใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล

iPhone Made in USA ในราคา 3,500 ดอลลาร์?

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น “ทิม คุก” ซีอีโอของ Apple อาจต้องพิจารณาทางเลือกว่าจะย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐอเมริกา หรือจะจะพึ่งพาแรงงานราคาถูกในจีนต่อไป

แดน ไอฟส์ นักวิเคราะห์ของ Apple จาก Wedbush Securities ได้แสดงความเห็นที่น่าตกใจว่า หาก iPhone ถูกผลิตขึ้นในสหรัฐจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ราคาขายปลีกพุ่งสูงถึง 3,500 ดอลลาร์ หรือราว 1.1 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากจนอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของ Apple ในตลาดโลก

เรียกได้ว่า Apple เป็นหนึ่งในธุรกิจจากสหรัฐที่เผชิญกับความเสี่ยงจากสงครามการค้า ซึ่งความเสี่ยงนี้จะดำเนินต่อไปอีก 90  เนื่องจากหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิตของบริษัทและแหล่งผลิตของซัพพลายเออร์ก็กำลังอยู่ในช่วงเจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากรกับประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งไม่มีอะไรที่สามารถคาดเดาได้ 

 

อ้างอิง economist