ทรัมป์ หลบก่อนพบจุดจบ “ลิซ ทรัสส์ โมเมนต์” จำใจเลื่อนภาษีไป 90 วัน

นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ในไทย และต่างประเทศ มองประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐเฉียดประสบกับหายนะ “ลิซ ทรัสส์ โมเมนต์” (Liz Truss Moment) จำใจเลื่อนเก็บภาษีสูง
นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ในไทย และต่างประเทศ มองประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐเฉียดประสบกับหายนะ “ลิซ ทรัสส์ โมเมนต์” (Liz Truss Moment) คือ ช่วงเวลาที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ถูกบีบให้ลาออกในเดือนตุลาคมปี 2022 (2565) เพราะนโยบายการคลังที่ค้านสายตาตลาดมากทำให้ตลาดการเงินอังกฤษปั่นป่วนหนักค่าเงินปอนด์ร่วง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่ง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก Kobsak Pootrakool ถึงสาเหตุที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องยอมระงับการขึ้นภาษีศุลกากรประเทศคู่ค้าในอัตราสูงไว้ 90 วัน เพราะราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี ลดลง 9.18% ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1.5 วัน สะท้อนรอยร้าวในเขื่อนของความเชื่อมั่น
“ถ้าปล่อยไป ระบบจะมีปัญหา แม้ว่าใจอยากจะไปต่อ แต่จำต้องยอมหยุดชั่วคราว ไว้ 90 วัน เพื่อให้ตลาดซ่อมแซมตนเอง แล้วมาเริ่มกันใหม่” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
- ลิซ ทรัสส์ โมเมนต์
ทรัมป์เฉียดซ้ำรอย “ลิซ ทรัสส์ โมเมนต์”ก่อนทรัมป์ยอมถอย นักวิเคราะห์หลายคนในโลกตะวันตกเปรียบเทียบว่า นโยบายภาษีพิสดารของทรัมป์คล้ายกับนโยบายลดภาษีแหวกแนวของอดีตนายกฯ อังกฤษ ที่ทำให้ตลาดปั่นป่วนจนต้องลาออกจากตำแหน่งหลังอยู่มาได้เพียง 45 วัน
ทรัมป์ผู้นำคนสำคัญของโลกตะวันตกประกาศตั้งกำแพงภาษีศุลกากรสูงลิบลิ่ว สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดการเงิน ทำให้หุ้น ค่าเงินของประเทศตกต่ำ และทำให้เกิดความกลัวว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น เศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งในสหรัฐ และทั่วโลก
ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีที่ครอบคลุมทุกด้านเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมี ลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ซึ่งประกาศลดหย่อนภาษีครั้งใหญ่ตลอด 45 วันอันแสนวุ่นวายในฤดูใบไม้ร่วงปี 2022
หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างนายทรัมป์ และนางทรัสส์ นั้นคล้ายกันมากจนช่างน่าตกใจ แต่มีความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ เธอถูกบังคับให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีภายในไม่กี่วัน และถูกพรรคอนุรักษนิยมของเธอเองบังคับให้ลาออก หลังอยู่ในตำแหน่งเพียงประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
- ความแตกต่างของระบบรัฐอังกฤษ-สหรัฐ
สำหรับนักวิเคราะห์บางคน ความแตกต่างดังกล่าวเป็นเพราะความยืดหยุ่นของรัฐบาลภายใต้ระบบรัฐสภาของอังกฤษ และความแตกต่างระหว่างประสิทธิภาพของรัฐอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ก่อนทรัมป์ยอมถอยในวันพุธ (9 เม.ย.68) ทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะยึดมั่นกับภาษีศุลกากรของตน ไม่ว่าภาษีเหล่านั้นจะสร้างความเสียหายให้กับตลาดมากเพียงใด หรือจะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม และดูเหมือนว่าแทบไม่มีใครทำอะไรได้เพื่อบังคับให้เขาเปลี่ยนแนวทาง
นิวยอร์ก ไทมส์ อ้างคำกล่าวของ โจนาธาน พอร์เตส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และนโยบายสาธารณะจากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ที่กล่าวเมื่อวันที่ 8 เมษายน ว่า “ทรัสส์สามารถทำลายล้างสหราชอาณาจักรได้เท่านั้น” เขากล่าวเสริมว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว สถาบันต่างๆ ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐสภา และสื่อมวลชน ก็เพียงพอที่จะรับประกันว่าระบบของอังกฤษจะทำงานได้ดี”
ส่วนกรณีของทรัมป์ยังต้องรอดูว่ากรณีนี้จะเกิดขึ้นในสหรัฐ หรือไม่ เขากล่าวเสริมอีกว่า “หากไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งโลกจะต้องเป็นผู้จ่ายราคา”
- ตลาดพันธบัตรส่อพังหากทรัมป์ไม่ยอมถอย
สถานการณ์ตลาดพันธบัตรสหรัฐกลับทิศ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงหลังทรัมป์ประกาศกำแพงภาษีวันที่ 2 เมษายน เพราะคนแห่ซื้อ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกลับมาพุ่งสูงขึ้นในวันพุธ 9 เมษายน เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งโดยปกติแล้วพันธบัตรรัฐบาลถือว่าเป็นสินทรัพย์มั่นคงปลอดภัย หากเทียบกับสถานการณ์ในอังกฤษ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างยืดเยื้อในปี 2022 ทำให้นายกรัฐมนตรีทรัสส์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง ส่วนทรัมป์ต้องยอมลดกำแพงภาษีลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วันในระหว่างการเจรจากับประเทศคู่ค้า ยกเว้นจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงรวมเป็น 145%
- แรงกดดันจากตลาดบีบทรัสส์ลาออก ทรัมป์ถอย
ในอังกฤษ หลังจากที่ทรัสส์เสนอลดหย่อนภาษีครั้งใหญ่ และหนุนด้วยการกู้เงินของรัฐบาลจำนวนมหาศาล ในที่สุด นางทรัสส์ ก็ถึงคราวล่มสลาย เนื่องจากตลาดเกิดความกลัวต่อวิกฤติสินเชื่อ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษพุ่งสูงขึ้น เช่น พันธบัตรอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปีในวันที่ 27 กันยายน 2022
ส่วนที่สหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในวันพุธ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ภาษีล่าสุดของนายทรัมป์ มีผลบังคับใช้ รวมถึง การเก็บภาษีเพิ่มจากจีนมากกว่า 100% ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งสูงถึง 4.5% จาก 3.9% เมื่อไม่กี่วันก่อน ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีซื้อขายสูงกว่า 5% ในช่วงเวลาสั้นๆ
ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐโดยทั่วไปยังคงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง นิวยอร์ก ไทมส์ ชี้ว่า แต่การขายพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการตอบสนองของตลาดโลกต่อกำแพงภาษีของนายทรัมป์ และการลดหย่อนภาษีของนางทรัสส์เลือนหายไป
- ตลาดพันธบัตรปัจจัยสำคัญ
ย้อนไปก่อนวันพุธ ในทันทีหลังจากที่ประธานาธิบดีประกาศเรื่องภาษีแบบตอบโต้เมื่อวันที่ 2 เมษายน ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนลดลง แม้ว่าตลาดหุ้นจะร่วงลง และดอลลาร์อ่อนค่าลงก็ตาม นักลงทุนหนีเข้าตลาดพันธบัตร เพราะพวกเขาคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง การซื้อพันธบัตรเป็นการย้ำเตือนถึงสถานะดั้งเดิมของตลาดพันธบัตรสหรัฐ ที่เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน
แต่ต่อมาในวันพุธ 9 เมษายน ก่อนทรัมป์ยอมถอยกำแพงภาษี สถานะสินทรัพย์มั่นคงปลอดภัยดังกล่าว อาจกำลังพังทลายลงจากแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาล ตามที่นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า ในกรณีที่รุนแรง อาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐเข้าแทรกแซงตลาด คล้ายกับที่ธนาคารกลางอังกฤษทำในปี 2022 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดพันธบัตรของอังกฤษ
แต่ทรัมป์ยอมถอยเรื่องภาษีเสียก่อน ทำให้ทั้งตลาดหุ้นดีดกลับขึ้นมา ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรลดลง
ทรัมป์ยอมรับว่า มาตรการภาษีของเขาทำให้ "คนตื่นกลัวมากไปหน่อย" ท่าทีของทรัมป์อ่อนลงจากที่เขาเคยกล่าวถึงตลาดหุ้นร่วงลงก่อนหน้านี้ว่า "ผมไม่ต้องการให้อะไรร่วงลงทั้งนั้น แต่บางครั้งคุณต้องกินยาเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์