‘ทรัมป์’ จ่อเปิด ‘โรงงานถลุงแร่’ ในที่ดินเพนตากอน แก้กรรมจีนงดส่งออกแร่สำคัญ

‘ทรัมป์’ จ่อเปิด ‘โรงงานถลุงแร่’ ในที่ดินเพนตากอน แก้กรรมจีนงดส่งออกแร่สำคัญ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมอนุมัติสร้างโรงงานถลุงแร่ในที่ดินของกระทรวงกลาโหม ทดแทนการผลิตแร่สำคัญ เนื่องจากจีนจำกัดการส่งออกแร่สำคัญมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้ในการผลิตอาวุธยุทโปกรณ์ต่างๆ

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อาวุโสสองรายเผยกับรอยเตอร์สว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งเป้าสร้าง โรงงานถลุงโลหะ ในฐานทัพของกระทรวงกลาโหม (เพนตากอน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกระตุ้นการผลิตแร่สำคัญ และทดแทนการควบคุมอุตสาหกรรมเหล็กจีน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนภายใต้คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ที่เตรียมลงนามเร็วสุดวันพุธ (12 มี.ค.) นี้ หลังจากทรัมป์กล่าวกับสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เขาจะดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์เพื่อขยายการผลิตแร่สำคัญและแร่หายากในสหรัฐ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เพนตากอนจะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลกลางหน่วยอื่นๆเพื่อ สร้างโรงงานถลุงแร่

การใช้ฐานทัพเป็นที่ตั้งของโรงานถลุงแร่อาจบ่งชี้ถึงความสำคัญที่ทรัมป์ยกให้แร่สำคัญเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงแห่งชาติ ขณะที่บรรดาเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ กระสุน และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของกองทัพสหรัฐต่างผลิตด้วยแร่สำคัญที่ส่งมาจากจีน

ทรัมป์ ยังได้วางแผนแต่งตั้ง "ซาร์แห่งแร่" หรือตำแหน่งผู้นำที่คอยดูแลและรับผิดชอบเกี่ยวกับแร่สำคัญต่างๆ ตอนนี้แผนอยู่ระหว่างการหารือ และอาจเปลี่ยนแปลงก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะลงนาม

แหล่งข่าวใกล้ชิดแผนดังกล่าวอีกรายเผยว่า เจ้าหน้าที่บางคนในรัฐบาลตื่นตระหนกกับสัญญาณเบื้องต้นของจีนที่อาจจำกัดการส่งออกแร่สำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้มาตรการภาษีของทรัมป์ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ

ด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เมื่อรอยเตอร์สติดต่อไป

แผนตั้งโรงงานถลุงแร่ยังไม่ชัดเจน

เพนตากอน ครอบครองที่ดินราว 30 ล้านเอเคอร์ (ราว 75,900,000 ไร่) แผนดังกล่าวจึงต้องหารือให้แน่ใจว่า จะมีที่ดินที่จะใช้ตั้งโรงงานถลุงแร่ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น และเพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นในการซื้อที่ดินเพิ่ม รวมถึงเลี่ยงใช้ที่ดินที่หน่วยงานรัฐบาลกลางอื่นๆ ครอบครองอยู่

อย่างไรก็ตาม แผนการถลุงแร่สำคัญนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทเหมืองแร่ในสหรัฐ แต่ก็อาจช่วยแก้ไขปัญหาความกังวลของบรรดาผู้ผลิตที่กลัวว่าจีนจะควบคุมอุตสาหกรรมถลุงแร่ทั่วโลกมากเกินไป

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ผลิตแร่ทั้งหมด 30 ชนิดจาก 50 ชนิดที่การสำรวจทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐมองว่ามีความสำคัญ

ยังไม่ชัดเจนว่าแผนสร้างโรงงานถลุงแร่ของทรัมป์ในฐานทัพเพนตากอนจะดำเนินการอย่างไรในแง่ของกฎระเบียบ เนื่องจากกฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐ และกฎหมายน้ำสะอาดยังคงมีผลบังคับใช้ต่อฐานทัพในเพนตากอน และกฎระเบียบเหล่านั้นก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการพัฒนาโครงการถลุงแร่ในอดีตด้วย

รัฐบาลสหรัฐเพิ่งพิจารณาสร้างคลังสำรองแร่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อนำไปใช้ในการผลิตขีปนาวุธ ชิ้นส่วนเครื่องบิน แม่เหล็กเพื่อการสื่อสาร เรดาร์และระบบนำทาง อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้มีแผนสั่งตั้งคลังสำรองแร่สำคัญของสหรัฐที่คล้ายกับการตั้งคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่จีนมีการตั้งคลังสำรองแร่สำคัญบางชนิด รวมถึงโคบอลต์

แหล่งข่าวบอกด้วยว่าทรัมป์ไม่ได้วางแผนสั่งให้เพนตากอนหรือหน่วยงานสหรัฐบังคับให้ผู้ค้าใช้เฉพาะแร่ธาตุของสหรัฐเท่านั้น หรือที่เรียกว่ากฎ “ซื้อสินค้าจากอเมริกา” ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทแร่ขนาดเล็กมองว่าจำเป็นต่อการชดเชยการควบคุมตลาดแร่ของจีน

แต่สิ่งที่แน่นอนคือ คำสั่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการอนุญาตทำเหมืองแร่ของรัฐบาลกลาง ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 1970 เนื่องจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะต้องมีการลงมติโดยรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนการสร้างโรงงานถลุงแร่มีจุดมุ่งหมายที่จะขยายกระบวนการอนุญาตทำเหมือง FAST-41 โดยต่อยอดจากที่ทรัมป์ดำเนินการไว้ในวาระแรก

โครงการแร่สังกะสี-แมงกานีสของ South32 ในแอริโซนา ได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งถือเป็นเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุญาตผ่านกระบวนการดังกล่าว

ข้อดีช่วยรีไซเคิลขยะเหมือง

คำสั่งล่าสุดยังมีเป้าหมายให้เกิดการคัดแยกขยะเหมืองแร่ในที่ดินรัฐบาลกลางใหม่ เหมือนกับที่บริษัท Rio Tinto, Freeport-McMoRan และบริษัทอื่นๆ เคยทำกับกองขยะเก่าในเหมืองของสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นขยะไร้ค่า และการดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มผลิตทองแดงและแร่อื่นๆ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าและผลิตได้เร็วกว่าการสร้างเหมืองใหม่

ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าแผนของทรัมป์จะประกาศให้แร่ทองแดงเป็นแร่เชิงยุทธศาสตร์หรือไม่ ซึ่งอาจเปิดให้บริษัทเหมืองในสหรัฐสามารถลดหย่อนภาษีได้ 10%

Freeport บริษัททำเหมืองทองแดงรายใหญ่สุดในสหรัฐที่มีฐานอยู่ในเมืองฟีนิกซ์ กล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (10 มี.ค.) ที่ผ่านมาว่า บริษัทหวังว่าทรัมป์จะดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประหยัดเงินได้ 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

 

อ้างอิง: Reuters